พระพรหมวชิราธิบดี” ประชุมเตรียมพร้อมสมโภชพระอาราม ๓๓๘ ปี วัดมหาธาตุฯ “ทวง” ความเป็นวัดมหาธาตุ ฯ กลับคืนสู่คณะสงฆ์!!

วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖  เวลา ๑๓.๓๐ น. พระพรหมวชิราธิบดี (พีร์ สุชาโต) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เป็นประธานในการประชุมที่ปรึกษาและคณะกรรมการดำเนินงานสมโภชพระอาราม ๓๓๘ ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร โดย มีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา คณะกรรมการอำนวยการฝ่ายสงฆ์ คณะกรรมการอำนวยการฝ่ายฆราวาส และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ  อาคารมหาธาตุวิทยาลัย ชั้น ๑ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เตรียมสมโภชใหญ่ ๓๓๘ ปี ๗ วัน ๗ คืน ระหว่างวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา ในปี ๒๕๖๗ และเพื่อรำลึกถึงบูรพกษัตริย์และบูรพาจารย์ และถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

ประวัติความเป็นมาของวัด

เดิมชื่อ “วัดสลัก” สันนิษฐานว่า วัดนี้แต่ก่อนมีพระภิกษุเป็นช่างฝีมือแกะสลักอยู่จำนวนมาก อาจเป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกชื่อวัดว่า “วัดสลัก”

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี สร้างพระนครทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดสลักอยู่ในพระนครฝั่งตะวันออก จึงทรงยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เป็นที่สถิตของพระราชาคณะ

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนารถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ย้ายพระนครมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้มีวัดที่อยู่ใกล้ชิดพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ ๒ วัดคือ วัดโพธาราม และวัดสลัก

๑. วัดโพธาราม อยู่ชิดกับพระบรมมหาราชวังข้างด้านใต้ รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาวัดนี้และพระราชทาน นามว่า “วัดพระเชตุพน”

๒. วัดสลัก อยู่ข้างเหนือพระบรมมหาราชวัง แต่อยู่ชิดด้านใต้พระราชวังบวรฯ สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสถาปนาวัดสลักและขนานนามใหม่ ชื่อว่า “วัดนิพพานาราม” “วัดพระศรีสรรเพชญ” “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” และในสมัยรัชกาลที่5 ได้เพิ่มสร้อยนามของวัด เป็น “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

 

สำหรับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหารเป็นวัดระดับ “เอกอุ” เป็นวัดหลวงที่มีฐานะสูงสุดชนิด “ราชวรมหาวิหาร”หรือที่เรียกว่า “พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ” เป็นพระอารามหลวงที่มีฐานะสูงสุด  มีทั้งหมด ๖ วัด อยู่ในกรุงเทพมหานคร ๔ วัด คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์, วัดสุทัศน์เทพวราราม, วัดอรุณราชวราราม ที่เหลืออีก ๒ วัดนั้นอยู่ต่างจังหวัด ได้แก่ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม, วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ในอดีต “วัดมหาธาตุฯ” เป็นศูนย์กลางทั้งการปกครอง และการศึกษาในประเทศไทย สมเด็จพระสังฆราช เคยประทับอยู่ ณ วัดแห่งนี้ และทั้งวัดมหาธาตุ ฯ ถือว่าเป็น “ตักกสิลา” เป็นศูนย์กลางการศึกษา ของคณะสงฆ์ไทย แต่เนื่องจากปัจจุบันสภาพสังคมและสภาวะของพระภิกษุเปลี่ยนไป บวกกับวิสัยทัศน์ของคณะผู้บริหารและผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการวัดมหาธาตุฯ ไม่ได้ รักษา สืบสาน ต่อยอด สิ่งที่บรรพชนหรือครูบาจารย์ได้กระทำได้อย่างเพียงพอ  ทำให้วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ วันนี้จึงมีสภาพภายใจวัดทรุดโทรม ลานธรรม ลานโพธิ์ มีหมาแมวจรจัด และคราคร่ำไปด้วยรถนานาชนิด ไร้ระเบียบ

พระพรหมวชิราธิบดี ในฐานะเจ้าอาวาส จึงรื้อฟื้นและปรับปรุงบูรณะอย่างขนานใหญ่ เพื่อให้วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กลับมาเป็น “วัดมหาธาตุฯ” เหมือนเดิม สมกับเป็น “วัดของพระมหากษัตริย์” สมกับเป็นวัดศูนย์กลางของคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกายต่อไป..

Leave a Reply