พลเอก อนุพงษ์ฯ ลงพื้นที่ขอนแก่น มอบนโยบายผู้ว่าฯ นายอำเภอ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ย้ำ ฝากความหวังทีมปฏิบัติการในพื้นที่บูรณาการส่วนราชการและทุกภาคส่วน ติดตามขับเคลื่อนแก้ปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนทุกมิติให้เกิดความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2565 เวลา 09:00 น. ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดและมอบนโยบายแนวทางขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี นายอนุชา โมกขะเวส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และนายอำเภอ ร่วมรับฟัง และถ่ายทอดสดผ่านระบบ DOPA Channel ไปยังทุกจังหวัด/อำเภอทั่วประเทศ โดยมี ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมรับฟัง
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะประเทศของเรายังมีคนที่อ่อนด้อยในสังคม ที่อาจเรียกว่ากลุ่มอ่อนด้อย กลุ่มเปราะบาง เป็นต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่มิติด้านเศรษฐกิจ แต่หมายความรวมถึงความเดือดร้อนด้านต่าง ๆ ที่ประชาชนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง มีเจตนาเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นที่มาของการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) มีเป้าหมายสำคัญ คือ “การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน” หรือ “การตัดเสื้อให้พอดีตัว” ด้วยเป้าเดียวกันจากข้อมูลในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP มีแนวทางการแก้ปัญหา 5 ด้าน หรือ “5 เมนูแก้จน” ได้แก่ 1) สุขภาพ 2) ความเป็นอยู่ 3) การศึกษา 4) ด้านรายได้ 5) การเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยกลไกตั้งแต่ระดับนโยบายถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ ได้แก่ ระดับจังหวัด ผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) ระดับอำเภอ ผ่านศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ (ศจพ.อ.) และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติการฯ ในระดับพื้นที่ (ทีมตำบล) โดยมี “ทีมพี่เลี้ยง” ลงพื้นที่เข้าไปรับทราบปัญหา วิเคราะห์ และหาแนวทางการแก้ไขชั้นต้น ตามหลัก 4 ท คือ ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และทางออก รวบรวมและสรุปสภาพปัญหารายงานไปยังทีมตำบล และ ศจพ.อำเภอ เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา และลงไปแก้ปัญหาความเดือดร้อน พร้อมต้องติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องในลักษณะ Intensive care ด้วยการมีส่วนร่วมของครัวเรือนว่าอยากทำอะไร ไม่ใช่เป็นการไปบังคับให้ทำ เมื่อพี่น้องประชาชนครัวเรือนเป้าหมายร่วมคิด ร่วมทำ โดยภาครัฐร่วมสนับสนุน แม้ว่าผลอาจจะไม่สมบูรณ์ 100% แต่ก็ทำให้ครัวเรือนได้ทราบแนวทางและวิธีการที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งต้องบันทึกข้อมูลใน Logbook ทุกครั้งที่ได้ให้ความช่วยเหลือและพัฒนา เพื่อจะได้มีข้อมูล (Big Data) ในการวิเคราะห์ภาพรวมสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขในอนาคตให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นเพียงกลไกขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในการแก้ไขปัญหาแบบพุ่งเป้าทั้ง 5 ด้าน และปัญหาความเดือดร้อนอื่น ๆ เป็นอำนาจหน้าที่ของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่ไม่ได้แก้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงหน่วยเดียว เพราะในปัญหานั้น ๆ จะมีหลายมิติ จึงจำเป็นต้องบูรณาการร่วมกันทุกส่วนราชการเพื่อแก้ไขปัญหาแบบ “พุ่งเป้า” เดียวกัน ให้แล้วเสร็จในระดับอำเภอภายในวันที่ 30 ก.ย. 65 นายอำเภอจึงต้องเป็นขุนศึกสำคัญที่ต้องบูรณาการทุกส่วนราชการ ท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนในระดับอำเภอ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยหากส่วนราชการใดไม่มีหน่วยงานในระดับอำเภอ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่แก้ไขปัญหาร่วมกับอำเภอ รวมทั้งต้องเน้นย้ำให้หัวหน้าส่วนราชการได้เข้าใจแนวทางอย่างถ่องแท้ เพื่อสามารถร่วมบูรณาการแก้ปัญหาได้ตรงตามเป้าหมาย แต่หากเป็นสภาพปัญหาที่ต้องแก้ในระดับนโยบายให้รายงานกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการต่อไป นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งหมดผ่านช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้ง Online Onsite Onground ให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย
สุดท้าย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เน้นย้ำนโยบายการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ 1) บูรณาการทุกภาคส่วนรณรงค์ลดอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม ทั้งด้านกายภาพและการสร้างจิตสำนึก “ทำให้คนขับรถมีวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนน” โดยกำหนดให้วันที่ 21 ของทุกเดือนมีการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ 2) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ลด Demand Side ร่วมกับทุกภาคส่วนอบรมบ่มนิสัยทำให้ทุกคนไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และ Supply Side ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นจริงจัง 3) บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 โดยรณรงค์ประชาชนปฏิบัติตาม DMHTT อย่างต่อเนื่อง และมาตรการ COVID Free Setting ตามลักษณะสถานที่ และเมื่อมีผู้ติดเชื้อให้เริ่มจากการดูแลตนเองที่บ้าน (HI) ศูนย์พักคอย (CI) และ OPD สำหรับผู้ติดเชื้อโซนซีเขียว หากเป็นผู้ป่วยโซนสีเหลือง-แดง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการสาธารณสุข 4) การแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ต้องติดตาม วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการ โดยเน้นลดตั้งแต่ที่ต้นเหตุ 5) จัดระเบียบสายสื่อสารบริเวณเสาไฟฟ้าในเบื้องต้น โดยเริ่มจากบริเวณจุดที่มีสภาพปัญหามากที่สุด 6) การบริหารจัดการภัยแล้ง ด้วยการเตรียมแผนเผชิญเหตุในการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง และ 7) การบริหารงานด้วยหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (GG Framework) เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ต้องย้ำเตือนและกวดขันเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุกระดับ ทุกกลไก ปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาลโดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ความสำเร็จในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอยู่ที่ “คนมหาดไทย” ทั้งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกเหล่ากาชาดจังหวัด ในฐานะ “ผู้นำ” ซึ่งมีจิตวิญญาณ มีอุดมการณ์ (Passion) ที่อยากทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขมากขึ้น และความทุกข์น้อยลง ๆ จนหมดไป ด้วยการปลุกเร้าจิตใจ ทำให้ขุนศึกในพื้นที่นำโดยท่านนายอำเภอ และข้าราชการ บุคลากร ทุกกลไก ทุกระดับ มีจิตใจที่อยากช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนในสังคม ดังนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งจำนวนประชากรครัวเรือนกลุ่มเป้าหมายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากระบบ TPMAP มีมากถึง 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งประเทศ และอาจจะมีคนที่ทุกข์ยาก เดือดร้อน ยากไร้ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้มากกว่าจำนวนในระบบดังกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่า “ความยากจน” คือ “ความเดือดร้อนทุกเรื่องที่พี่น้องประชาชนประสบปัญหาอยู่โดยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง” โดยผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ต้องเป็นผู้นำหา “กระดุมเม็ดแรก” หาเป้า หาสภาพปัญหา และพื้นที่ที่เดือดร้อนให้เจอ เช่น ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีที่อยู่อาศัย ลูกหลานติดยาเสพติด เป็นหนี้นอกระบบ โดยผู้ว่าฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัดและนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ต้องเฟ้นหาทีมงานจิตอาสาผู้มีจิตใจเสียสละและบริหารจัดการทีมของทุกส่วนราชการและทุกภาคส่วนในจังหวัด/อำเภอ เช่น เหล่ากาชาด หอการค้า สภาอุตสาหกรรม มูลนิธิ ฯลฯ ร่วมแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนครัวเรือนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทีมพี่เลี้ยงต้องคลุกคลีตีโมงลงไปช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวทาง 2 มิติ คือ 1) มิติยาฝรั่ง ทำให้อยู่รอด ไม่เดือดร้อน ทำให้มีบ้าน ได้เรียนหนังสือ มีถุงยังชีพใช้ เป็นการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว และ 2) มิติยาไทย ทำให้ยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมทักษะ วิธีการ แนวทางในการแก้ปัญหา เช่น ส่งเสริมการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นทางอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นแหล่งอาหารประทังชีวิต แหล่งยาสมุนไพรรักษาโรค มีกิน มีใช้ ด้วยความรัก ด้วยการพึ่งพาตนเอง ด้วยการแบ่งปัน นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องให้ความสำคัญด้วยการลงพื้นที่ไปให้กำลังใจ ไปพบปะ ดูการทำงานของทีมพี่เลี้ยง พร้อมติดตามการขับเคลื่อนผ่านการประชุมประจำสัปดาห์เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้งานเกิดความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลไกที่สำคัญตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,849 แห่ง จัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างถูกจุด ถูกเป้า และรวดเร็วที่สุด ต้องติดป้ายและเบอร์ติดต่อที่บริเวณรั้ว หรือด้านหน้าที่ตั้งของที่ทำการให้ชัดเจน รวมทั้งจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง ซึ่งทั้ง 2 ศูนย์ฯ จะทำหน้าที่สำรวจ รวบรวมความเดือดร้อน และประชุมหารือในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตามอำนาจหน้าที่ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหา รวมถึงการขับเคลื่อนแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย
“ขอฝากความหวังไว้ที่คนมหาดไทยทุกคนในวาระ 130 ปีกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งขอให้ร่วมกันเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ใน 2 เรื่อง คือ 1) สำรวจข้อมูลคนไม่มีที่อยู่อาศัย และช่วยกันสร้าง ซ่อม ทำ ให้ทุกครัวเรือนในพื้นที่มีที่อยู่อาศัย โดยนายกเหล่ากาชาดและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแม่งานสำคัญ และ 2) สำรวจผู้พิการ ผู้สูงอายุ จำเป็นต้องใช้รถเข็นวีลแชร์ เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสออกมานอกบ้านใช้ชีวิตประจำวันได้ และหากพื้นที่ใดมีผู้เดือดร้อนเกินกำลังที่จะระดมสรรพกำลังในการดำเนินงาน ให้ประสานไปยังสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เพื่อระดมสรรพกำลังจากส่วนกลาง และขอให้ทุกคนได้ช่วยกันทำให้พี่น้องประชาชนพ้นจากความทุกข์ยากลำบาก และเข้าถึงบริการภาครัฐทุกเรื่อง ให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยดีขึ้นอย่างยั่งยืน
Leave a Reply