“อ.ทองย้อย แสงสินชัย” เผยพบวิธีเรียนบาลีใหม่ แบบที่ดีกว่าที่กำลังเรียนกันอยู่ปัจจุบัน มุ่งตรงสู่พระไตรปิฎก

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า

ผมค้นพบวิธีเรียนบาลีที่ดีกว่าแล้วครับ ผมค้นพบวิธีเรียนบาลีแบบที่ดีกว่าที่กำลังเรียนกันอยู่แล้วครับ!!

“ขึ้นต้นให้ตื่นเต้น” – ท่านอาจารย์นาวาโท เสถียร มงคลหัตถี อนุศาสนาจารย์แห่งกองทัพเรือเคยแนะนำผมไว้-ในเมื่อจะบรรยายหรือเขียนอะไรก็ตาม
ตอนผมเข้ารับราชการในกองทัพเรือ บรรจุในตำแหน่ง “ประจำแผนกศาสนพิธี กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ” ท่านอาจารย์เสถียรเป็นหัวหน้าแผนก จึงเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของผม ผมรับถ่ายทอดวิทยายุทธจากท่านไว้ได้มากพอสมควร

เรื่องที่ผมกำลังจะนำเสนอต่อไปนี้เป็นเรื่องวิธีเรียนบาลีครับ

เรียนบาลี เป็นงานที่คนไทยส่วนหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากพอสมควร-ทั้งระดับเจ้านายและสามัญชนคนทั่วไป-ทำกันมาช้านานแล้วและกำลังทำกันอยู่ เมื่อฟังใครพูดเรื่องเรียนบาลีจึงควรมีพื้นความรู้ไว้บ้างจึงจะมองภาพออก
พื้นความรู้เบื้องต้นก็คือ “บาลี” เป็นภาษาชนิดหนึ่งของมนุษย์ เป็นภาษาที่มีลักษณะของภาษาที่สมบูรณ์ คือมีระเบียบที่เรียกว่า “ไวยากรณ์” ครบถ้วน สามารถใช้สื่อสารกันได้เป็นอย่างดี
ที่ต้องรู้ต่อไปก็คือ แหล่งที่ใช้ภาษาบาลีมีแห่งเดียวในโลก คือ “พระไตรปิฎก” อันเป็นคัมภีร์บันทึกต้นฉบับคำสอนในพระพุทธศาสนา
ปัจจุบันไม่มีชาติไหนในโลกที่มีภาษาบาลีเป็นภาษาประจำชาติ
ไม่มีชุมชนแห่งไหนในโลกที่ใช้ภาษาบาลีสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน
ผู้เรียนบาลีจึงไม่ได้เรียนเพื่อจะใช้ประกอบอาชีพเป็นไกด์ เป็นล่าม หรือเป็นนักแปล แต่ในหมู่ผู้รู้ภาษาบาลีด้วยกัน อาจใช้ภาษาบาลีสื่อสารกันได้เหมือนกับที่เราใช้ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษหรือภาษาอะไรก็ตามสื่อสารกันในทุกวันนี้
ในเมืองไทยเรา ปัจจุบันนี้มีพระราชบัญญัติกำหนดคุณวุฒิของผู้สอบบาลีได้ตามหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ซึ่งสามารถเทียบได้กับวุฒิการศึกษาของทางบ้านเมืองตาม

เกณฑ์ที่กำหนด กล่าวคือ
– ผู้สอบชั้นเปรียญธรรมสามประโยคได้ มีวิทยฐานะระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
– ผู้สอบชั้นเปรียญธรรมเก้าประโยคได้ มีวิทยฐานะระดับปริญญาตรี
หน่วยราชการไทยบางหน่วยรับสมัครผู้สำเร็จเปรียญธรรมบางชั้นเข้ารับราชการ เช่น กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ รับผู้สอบชั้นเปรียญธรรมเก้าประโยคได้เข้ารับราชการเป็นอนุศาสนาจารย์เป็นต้น
พึงเข้าใจว่า เหตุผลที่รับสมัครบุคคลประเภทนี้ก็เพราะมีคุณวุฒิทางธรรมที่จำเป็นต้องใช้ตามลักษณะงาน เช่น มีความประพฤติดี รู้หลักธรรม และเหตุผลข้อสำคัญก็คือคุณวุฒระดับนี้สามารถศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกนำหลักธรรมที่ประสงค์มาใช้ในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่า-ไม่ได้ใช้ภาษาบาลีตรงๆ ในการปฏิบัติงาน เช่นต้องพูดบาลีทุกวัน ต้องแปลบาลีทุกวัน เป็นต้น ไม่ใช่เช่นนั้นเลย
ก็ในเมื่อไม่ต้องพูดบาลี แปลบาลี เป็นล่ามบาลี ฯลฯ ในชีวิตประจำวัน และไม่มีแหล่งอื่นใดที่ต้องใช้ภาษาบาลี-นอกจากพระไตรปิฎก เช่นนี้ ถามว่า-แล้วเรียนบาลีไปทำไมกัน
คำตอบก็คือ เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้บาลีไปศึกษาพระไตรปิฎก คือศึกษาคัมภีร์ที่บันทึกไว้เป็นภาษาบาลีนั่นเอง

เมื่อเข้าใจพื้นฐานของการเรียนบาลีเช่นนี้แล้ว ก็มาดูกันว่า การเรียนบาลีในบ้านเราตามหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย เราเรียนกันอย่างไร
ที่ควรรู้จักในลำดับต่อไปนี้ก็คือ คัมภีร์บาลีนั้นมีนับร้อยคัมภีร์ นับเป็นเล่มหนังสือน่าจะถึงพันเล่ม แค่คัมภีร์ที่คณะสงฆ์ไทยใช้เป็นแบบเรียนมีเพียง ๕ คัมภีร์ คือ –

๑ ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาพระธรรมบท ๘ เล่ม
๒ มังคลัตถทีปนี ปกรณ์พิเศษ ๒ เล่ม
๓ สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก ๓ เล่ม
๔ วิสุทธิมรรค ปกรณ์พิเศษ ๓ เล่ม
๕ อภิธัมมัตถวิภาวินี ฎีกาพระอภิธรรมปิฎก ๑ เล่ม
รวม ๕ คัมภีร์ เป็นเล่มหนังสือ ๑๗ เล่ม
เรียนกันมา ๑๐๐ ปี ก็ย่ำกันอยู่แค่ ๕ คัมภีร์นี้เท่านั้น
โปรดสังเกตว่า คัมภีร์ที่เป็นแบบเรียนทั้ง ๕ นี้ ไม่มีคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎกเลย นั่นแปลว่า นักเรียนบาลีเมืองไทย-ตามหลักสูตร-ไม่เคยเรียนพระไตรปิฎก
ยกเว้นคัมภีร์เดียว คือพระธรรมบท หรือ ธัมมปทคาถา ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระไตรปิฎก นักเรียนบาลีเมืองไทยเรียนผ่านคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาซึ่งเป็นอรรถกถาของพระธรรมบท เนื่องจากคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถายกข้อความทั้งหมดในพระธรรมบทมาอธิบายทีละคาถาตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อเรียนคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาจึงเท่ากับได้เรียนพระธรรมบทในพระไตรปิฎกไปในตัว

พระไตรปิฎกมีความยาวนับพันหน้ากระดาษ
คัมภีร์พระธรรมบทมีความยาวเพียง ๕๘ หน้ากระดาษ
ลองเทียบอัตราส่วนดูเถิดว่า หลักสูตรการเรียนบาลีของคณะสงฆ์ไทยเรียนพระไตรปิฎกกันมากน้อยแค่ไหน

วิธีเรียนบาลีของนักเรียนบาลีไทยก็คือ เริ่มด้วยการเรียนไวยากรณ์ ตามมาตรฐานเดิมใช้เวลาเรียนไวยากรณ์ ๒ ปี แล้วจึงเริ่มเรียนแปลคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา
และถ้าสอบได้ ก็จะขยับขึ้นไปแปลคัมภีร์อีก ๔ คัมภีร์ต่อไปตามลำดับ
และถ้าสอบได้ถึงชั้นเปรียญธรรมเก้าประโยค ก็เป็นอันจบประโยคสูงสุด
และ-เกือบจะร้อยทั้งร้อย-ก็จะหยุดการเรียนบาลีตั้งแต่บัดนั้นไป ตำราทุกเล่มเก็บเข้าตู้
เว้นไว้แต่ผู้ทำหน้าที่เป็นครูสอนบาลี ซึ่งก็จะวนเวียนอยู่ในคัมภีร์ ๕ คัมภีร์นี้เท่านั้น ไม่ออกไปไหนเลย

ทีนี้ก็มาถึงจุดสำคัญที่ผมขึ้นต้นให้ตื่นเต้นว่า –

ผมค้นพบวิธีเรียนบาลีแบบที่ดีกว่าที่กำลังเรียนกันอยู่แล้วครับ!!

วิธีที่ผมค้นพบก็คือ เมื่อเรียนไวยากรณ์ ๒ ปีมีความรู้พอที่-เมื่อเห็นภาษาบาลีจะสามารถแปลและเข้าใจเรื่องราวได้แล้ว แทนที่จะวนอยู่ในคัมภีร์ ๕ คัมภีร์ เราก็ออกนอกกรอบกันบ้างเป็นไร
เหตุผลก็คือ ๕ คัมภีร์นั้นมีคนเรียนกันมาจนแหลกทุกซอกทุกมุมแล้ว แต่คัมภีร์อีกเป็นร้อยๆ ยังไม่มีใครเรียน
โดยเฉพาะพระไตรปิฎก มีคัมภีร์ที่น่าศึกษายิ่งกว่า ๕ คัมภีร์นั้นอยู่มากมาย ปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ทำไมเล่า

คาดเดาได้แน่นอนว่า แนวคิดนี้ผู้บริหารการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยต้องไม่ยอมรับ (ฮ่า ฮ่า ฮ่า)
เพราะฉะนั้น ท่านที่จะออกมาแย้งว่า – โอย ทำไม่ได้หรอก คณะสงฆ์ไทยท่านไม่เอาหรอก – ก็จึงไม่ต้องแย้งอะไรนะครับ
ผมทำหน้าที่เพียงคิด และเสนอแนวคิดเท่านั้น
ตัวผมเองนั้นทำอยู่แล้ว คือศึกษานอกคัมภีร์ทั้ง ๕ อยู่แล้วทุกวัน จึงมองเห็นขุมทรัพย์ที่เรามีอยู่ และจึงเอามาบอก
เพราะฉะนั้น นักเรียนบาลีที่กำลังเรียนอยู่และที่จะเริ่มเรียนต่อไปก็ขอให้ศึกษาอยู่ในกรอบที่ท่านกำหนดเป็นหลักสูตรกันต่อไปตามปกตินะขอรับ
อย่าเลิกวิธีนั้น แล้วหันมาทำตามวิธีที่ผมค้นพบนี้เป็นอันขาด เดี๋ยวผมจะโดนข้อหายุยงส่งเสริมให้เป็นขบถต่อระบบการศึกษาของสงฆ์
ผมเสนอเรื่องนี้ก็โดยมีความหวังแต่เพียงว่า-ท่านที่เรียนบาลีจบประโยคสูงสุดแล้ว ถ้าพอมีเวลา หรือถ้าพอเจียดเวลาได้ ขอได้โปรดช่วยกันศึกษาคัมภีร์บาลีอื่นๆ ต่อไปอีกบ้างนะครับ
ส่วนนักเรียนบาลีใหม่ที่ไม่ประสงค์จะอยู่ในกรอบที่กำหนด ถ้าเกิดศรัทธาจะเรียนบาลีเพื่อประโยชน์ทั้งชาตินี้และชาติหน้า เมื่อเรียนไวยากรณ์จนมีความรู้พอที่จะสามารถแปลและเข้าใจเรื่องราวในคัมภีร์ได้แล้ว ถ้าจะลองพิจารณาวิธีที่ผมค้นพบนี้ก็คงไม่เสียหายหรือกระทบกระเทือนระบบการศึกษาแบบเดิมที่กำลังทำกันอยู่แต่ประการใด
พระวชิรญาณภิกขุก็แค่ ๕ ประโยค
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็แค่ ๕ ประโยค
ท่านพุทธทาสภิกขุก็แค่ ๓ ประโยค
ดูผลงานบาลีที่ท่านทำฝากโลกนี้ไว้เป็นตัวอย่างเถิด
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๕
๑๙:๑๔

Leave a Reply