“เจ้าคุณหรรษา” ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ ป.โท อายุ 20 ปี พร้อมแนะเรียนอย่างไรให้ “เข้าถึงพระไตรปิฏก” อย่างครอบคลุมและตรงจุด?

วันที่ 2 เมษายน 67  พระเมธีวัชรบัณฑิต (ป.ธ.6,ศ.ดร.)  หรือ “เจ้าคุณหรรษา” ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความแสดงความยินดีกับสามเณร 2 รูป คือ สามเณรภานุวัฒน์ กองทุ่งมน และสามเณรรัชชานนท์ โพธิ์สังข์ รูปแรกกลายเป็นบุคคลประวัติศาสตร์การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยที่สอบประโยค ป.ธ. 9 ได้อายุน้อยที่สุด ส่วนอีกรูปเรียนจบปริญญาโท กำลังจะศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสหรัฐอเมริกา

ประวัติศาสตร์ชาติไทยได้จารึกไว้ว่า สามเณรภานุวัฒน์ กองทุ่งมน กลายเป็นสามเณรอายุน้อยที่สุดที่จบการศึกษาชั้นสูงสุดที่จัดโดยคณะสงฆ์ไทย (ในขณะนี้) ในเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อวานนี้ ก็มีสามเณรอีกรูปหนึ่ง คือสามเณรรัชชานนท์ โพธิ์สังข์ ได้สอบจบการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มจร

สามเณรรูปที่ 2 ซึ่งอดีตได้จบเปรียญธรรม 3 ประโยคจากวัดดาวดึงส์ กำลังจะเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อจำพรรษาอยู่ ณ วัดปากน้ำโอไฮโอ กับอาจารย์เจ้าคุณสมัคร (พระวิเทศวิสุทธิคุณ) เพื่อเตรียมภาษาสำหรับการเรียนต่อในระดับปริญญาเอก และต่อยอดองค์ความรู้แล้วนำมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในระดับสากล ในขณะที่ลูกเณรนนท์ทราบว่า กำลังต่อยอดด้วยการพัฒนาทักษะทรงจำพระปาติโมกข์ต่อไป

ข้อสังเกตต่อเส้นทางการเรียนรู้ของทั้งสองนั้น คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยสนใจสามเณรรูปแรกสักเท่าไร แต่ที่ผู้คนกำลังสนใจและอยู่ในกระแสในขณะนี้ คือ สามเณรรูปที่สอง ได้แก่ สามเณรภานุวัฒน์ ซึ่งให้ความสนใจต่อสถานีการเรียนรู้ต่อไป กับการศึกษาบาลีที่ลูกเณรได้คร่ำหวอดมาตั้งแต่เยาว์วัย ภายใต้การประคบประหงมของพระเดชพระคุณพระธรรมราชานุวัตร

1: ลูกเณรนนท์อายุ 17 ปี จบเปรียญธรรม 9 ประโยค ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาในระดับสูงสุดที่คณะสงฆ์จัดการศึกษาอยู่ในขณะนี้ คำถามคือ แล้วลูกเณรนนท์ หรือลูกเณรรูปอื่นๆ รวมถึงพระภิกษุ ที่จบ ป.ธ.9 ประโยค จะเรียนอะไรต่อไปเพื่อยกระดับการเรียนรู้และต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ คำตอบนี้อยู่ใน พ.ร.บ.พระปริยัติธรรม 2562 มาตรา 24 วรรค 2 ได้เปิดทางให้คณะสงฆ์ได้ทำหลักสูตรขยายการเรียนรู้ภาษาบาลีไปจนถึงระดับปริญญาโท และปริญญาเอก โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอุดมศึกษา

2: การดำเนินการตามข้อที่ 1 จะตอบโจทย์การเรียนบาลีกระแสหลักในสังคมไทย ให้สามารถเข้าถึงพระไตรปิฏกได้อย่างครอบคลุมและตรงจุดว่า เป้าหมายสำคัญของการเรียนบาลีคือการพาผู้เรียนไปศึกษา เรียนรู้ คัมภีร์ชั้นบาลีจริง ๆ ซึ่งก็คือ พระไตรปิฏกทั้ง 45 เล่ม พราะอาจารย์ มจร บางรูปตั้งข้อสังเกตว่า ผู้จบ ปธ.9 เรียนบาลี 149 หน้า จาก 27,289 หน้า คิดเป็น 0.54% ของจำนวนหน้า หรือคิดเป็น 0.44% ของจำนวน 45 เล่ม

3: การดำเนินตามข้อ 1 และข้อ 2 จะช่วยตอบคำถามว่า เราเน้นศึกษาไวยากรณ์นั้น แม้จะมุ่งทักษะการอ่านและการเขียนบาลี แต่กล่าวในเชิงลึกหากนำไปเปรีบการศึกษาเช่นเดียวกับหลักสูตรฝรั่งศึกษา เช่น Pali Text Society แนวทางฝรั่งจะลึกซึ้ง และเข้าถึงภาษาบาลีดั้งเดิมได้ประสิทธิผลดีกว่า รวมถึงทักษะการฟัง และการพูด สามารถสื่อสารด้วยภาษาบาลี ระบบการเรียนรู้ของประเทศศรีลังกา และพม่า สามารถทำให้ผู้เรียนสื่อสารได้อย่างคล่องแคล้วด้วยภาษาบาลี

ทั้งหมดเป็นข้อสังเกตที่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยพากันตั้งคำถามในเชิงวิชาการค่อระบบและกลไกการเรียนภาษาบาลีกระแสหลักในสังคมไทย และเชื่อว่าทุกท่านล้วนมีเจตนาที่ดี ทั้งคณะสงฆ์ที่ดำเนินการจัดการศึกษาด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจมาอย่างยาวนาน รวมถึงพุทธศาสนิกชนกลุ่มอื่น ๆ ที่ปรารถนาจะเห็นการศึกษาภาษาบาลีที่ตอบโจทย์ในมิติที่หลากหลายอันจะเอื้อต่อการรักษาพระศาสนาและส่งมอบคำสอนให้สอดคล้องกับวิถีความเป็นไปของสังคมในยุคปัจจุบัน..

Leave a Reply