ภูมิปัญญาสร้างสรรค์จาก “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ประยุกต์สู่ “เซรามิก” ในแบบฉบับของคนนคร

 

              วันที่ 24 สิงหาคม 2564   นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นางแสงเงิน ไกรนรา พัฒนาการอำเภอพิปูน นางสาวทิพาลักษณ์ สิทธิสาร นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด ทีมนักการตลาดรุ่นใหม่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอพิปูน ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนการดำเนินงานตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ประยุกต์สู่ “เซรามิก” ตามแบบฉบับคนเมืองคอน ณ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 2 ตำบลเขาพระ อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช

                ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้มีพระดำริให้จัดตั้งโครงการเซรามิคขึ้นในพื้นที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 2 อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. 2536 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างงานและฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรที่ประสบเหตุจากอุทกภัยในภาคใต้ ให้มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การดำเนินงานในระยะแรก ได้ส่งราษฎรเข้ารับการอบรม ณ ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีสมาชิกเริ่มแรก 16 คน ผลิตภัณฑ์ที่ทำเป็นรูปปั้นอิสระ การรีดดินเป็นเส้น สานเป็นตะกร้า ของชำร่วย ผักผลไม้ขนาดย่อและได้มีการฝึกเขียนลายลงสีเบญจรงค์ การดำเนินงานของกลุ่มมีการพัฒนาเป็นลำดับ ต่อมาในปี 2540 การก่อสร้างโรงงานได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จึงย้ายกลุ่มมายังโรงงานใหม่และเริ่มปรับปรุงรูปแบบการผลิตที่มีลักษณะเป็นอุตสาหกรมมากขึ้นผลิตภัณฑ์ของโครงการเซรามิกที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่ม Stoneware ที่เน้นขบวนการผลิตโดยใช้มือเป็นหลักรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นการเลียบแบบธรรมชาติ เช่น การใช้ใบไม้ ดอกไม้ สัตว์ชนิดต่างๆ เป็นต้นแบบ บางส่วนใช้หวายเป็นส่วนประกอบ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของโครงการมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เป็นที่ชื่นชอบและรู้จักอย่างกว้างขวาง ทั้งผู้สนใจในประเทศ และต่างประเทศ การดำเนินงานของโครงงานในปัจจุบัน เน้นควบคุมคุณภาพการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสูง และสวยงาม สร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นภายใต้สัญลักษณ์ “CRI”การดำเนินงานด้านการตลาดของโครงการเซรามิกส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนร้อยละ 90 อาศัยการฝากขายร้านค้าของโครงการส่วนพระองค์และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ได้แก่ ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทรร้านโครงการดอยคำ ร้านศิลปาชีพ 904 ร้าน 906 ศูนย์การค้าคิงเพาเวอร์ ร้านนารายณ์ภัณฑ์ ห้างสรรพสินค้าในเครือ เดอะมอลล์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น ส่วนอีกร้อยละ 10 ทำการผลิตเพื่อส่งออก โดยได้รับคำสั่งผลิตจากต่างประเทศ เช่น อังกฤษ คูเวต สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง มาเลเชีย ออสเตรเลีย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายโดยตรงแก่ประชาชนทั่วไปในงานแสดงสินค้าต่างๆ อาทิ งานโครงการหลวง งานรวมใจจงรักพระจักรี งาน OTOP งาน Made in Thailand งานBIG&BIH เป็นต้น

          นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่วงการผ้าไทย ทรงมีพระวินิจฉัยนำแนวคิดอันเป็นสากล มาสู่การพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทย ให้ผ้าไทยเป็นสิ่งแสดงเรื่องราวอัตลักษณ์วัฒนธรรมประจำถิ่น สามารถนำไปออกแบบและตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย ที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสมกับทุกเพศ ทุกวัย และทำให้เกิดความรัก ความตระหนัก ให้ผ้าไทยมีชีวิตชีวา คงคุณค่า อยู่สืบไป อีกทั้งยังได้รับพระกรุณาธิคุณ ประทานพระอนุญาตแบบลายมัดหมี่แก่ช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่และสื่อความหมายถึงการส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ชาวไทยทุกคน และประทานอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้ ซึ่งนับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ได้นำ “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” มาประยุกต์ให้เกิดการเขียนมือบนผลิตภัณฑ์เซรามิก สำหรับแผนการพัฒนาในอนาคต สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ต่อไป

Leave a Reply