วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยร่วมกับคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดฝึกอบรมพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ รุ่นที่ ๔ โดยใช้หลักสูตรตามมาตรฐานของ กพยช. รับรอง และบูรณาการกับพุทธสันติวิธีจำนวน ๑๒ ชั่วโมง รวมเป็น ๔๘ ชั่วโมง โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน ๔๗ รูปคนจากเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งพระสงฆ์ ทนายความ นิสิตปริญญาโทเอกสันติศึกษา ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน รวมถึงผู้มาจากภาครัฐและเอกชนที่ผ่านการพิจารณาว่ามีคุณสมบัติในการเข้ารับการฝึกอบรม
ได้รับความเมตตาจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจากสำนักงานศาลยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรสันติศึกษา และผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยการฝึกอบรมได้รับความสนใจจากอย่างยิ่งจากผู้เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งมีนิสิตปริญญาโทรุ่น ๘ และนิสิตปริญญาเอกรุ่น ๕ หลักสูตรสันติศึกษาเข้ารับการฝึกอบรมด้วย ซึ่งสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ย พ.ศ.๒๕๖๒ ถือว่าเป็นความพิเศษของหลักสูตรสันติศึกษาในการบูรณาการและบริการนิสิตหลักสูตรสันติศึกษา ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิชากระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อเสริมสร้างสังคมสันติสุข
ผลการประเมินเครื่องมือของ S M C R ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพึงพอใจอย่างมาก ตั้งแต่วิทยากรฝึกอบรม กระบวนการฝึกอบรม การบริหารการฝึกอบรม เนื้อหาการเรียนการสอน และการสร้างความสัมพันธ์ในการเครือข่าย ถือว่าเป็นผลประเมินที่พึงพอใจอย่างมาก ซึ่งบริหารการฝึกอบรมโดย พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ศาสตราจารย์ ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร และประธานการฝึกอบรมหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ย พ.ศ. ๒๕๖๒ ในโอกาสการปิดการฝึกอบรมได้รับความเมตตายิ่งจากพระเดชพระคุณ พระเทพปวรเมธี, รองศาสตราจารย์ ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และที่ปรึกษาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เป็นประธานมอบวุฒิบัตรผู้ผ่านการฝึกอบรมและกล่าวปิดการฝึกอบรมหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ รุ่นที่ ๔ สร้างความปีติให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมอย่างดียิ่ง
Leave a Reply