ปลัดกระทรวงมหาดไทย-ประธานสภาสตรีแห่งชาติ เป็นประธาน สวดพระอภิธรรมศพ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

 

วันที่ 30 ธ.ค. 64   เวลา 19.00 น. ณ ห้องรัตนจันทสรวรคุรุ (ฐานองค์พระพุทธธรรมกายเทพมงคล) วัดปากน้ำ พระอารามหลวง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตที่ปรึกษามหาเถรสมาคม โดยมี นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง อธิบดี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการ และคณะศิษยานุศิษย์ ร่วมในพิธี โดยได้รับความเมตตาจาก พระพรหมโมลี ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 5 แม่กองบาลีสนามหลวง  เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตที่ปรึกษามหาเถรสมาคม เป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้รัตตัญญู ทรงคุณธรรม แตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นเสาหลักแห่งคณะสงฆ์ไทย เกิดเมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2468 ที่จังหวัดสมุทรปราการ โยมบิดาชื่อนายมิ่ง และโยมมารดาชื่อนางสำเภา สุดประเสริฐ เป็นบุตรชายคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 4 คน โดยขณะมีอายุ 7 ขวบ นายมิ่ง ผู้เป็นบิดาได้ถึงแก่กรรม จึงบรรพชาหน้าไฟตามประเพณี และครองเพศสามเณรอยู่ระยะหนึ่งจึงได้ลาสิกขา และเมื่ออายุได้ 14 ปี ได้เข้ารับบรรพชาอีกครั้ง ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2482 ณ วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยมีพระครูศีลาภิรัต (ทอง) วัดลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้น มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรมและสอบนักธรรม ชั้นตรี-โท ได้ในสำนักศาสนศึกษาวัดสังฆราชา และย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดปากน้ำ ในปี 2484 และเข้าพิธีอุปสมบท ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2488 ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร มีพระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูสมณธรรมสมาทาน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายานามว่า “วรปุญฺโญ” โดยในปี 2497 หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค ท่านได้กลับมาช่วยงานที่วัดปากน้ำ เพื่อสานต่องานและโครงการที่หลวงพ่อสดได้ริเริ่มไว้

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ ได้แก่ พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี วันที่ 5 ธันวาคม 2499 พระราชเวที วันที่ 5 ธันวาคม 2505 พระเทพวรเวที วันที่ 5 ธันวาคม 2510 พระธรรมธีรราชมหามุนี วันที่ 5 ธันวาคม 2516 พระธรรมปัญญาบดี วันที่ 5 ธันวาคม 2530 และได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2538 ในราชทินนามว่า “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ไพศาลหิตานุหิตวิธาน ปฏิภาณสุธรรมภาณี ศรีสังฆโสภณ วิมลศีลาจารนิวิฐ ตรีปิฏกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี”

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 สิริอายุ 96 ปี พรรษา 77 ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด และมีพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทาน 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน

“สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์  ท่านมีความแตกฉานทางภาษาบาลี สามารถสนทนาภาษาบาลีได้ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง เมื่อปี 2539 ถือเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งของการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของพระภิกษุสงฆ์ และท่านยังได้มอบปัจจัยให้สร้างพระไตรปิฎกจารึกในแผ่นหินอ่อน เจดีย์ วิหาร เพื่อธำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

 

Leave a Reply