ปิดฉากมหากาพย์คดีที่ดิน “อัลไพน์” ที่ธรณีสงฆ์ ?? ย้อนมูลเหตุคดี ก่อน ‘ยงยุทธ’ แพ้คดี รมว.มท.ลงโทษไล่ออก

“การกระทําของ ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 โดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จํากัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จํากัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินดังกล่าวและที่ได้ถือกรรมสิทธิ์ในเวลาต่อมา รวมทั้งตระกูลชินวัตร ให้ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องถูกเพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิตามคําสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน จนผู้ฟ้องคดีได้รับผลประโยชน์ตอบแทนให้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย และเป็นเหตุให้ เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ…”


สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ฟ. 69/2556 ระหว่าง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ผู้ฟ้องคดี กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3  จากกรณีถูกกระทรวงมหาดไทย พิจารณาลงโทษทางวินัยย้อนสมัยเป็นรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยในยุครัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ใช้อำนาจรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยไปลงนามยกเลิกคำสั่งกรมที่ดิน ที่สั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟและหมู่บ้านอัลไพน์ ซึ่งเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1146 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รวมทั้งนิติกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นคดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด ความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ

โดย ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 วินิจฉัยว่า พฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ฟ้องคดีมีมูลความผิดฐานเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 นั้นชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ผู้บังคับบัญชาย่อมมีอำนาจสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี แต่ห้ามมิให้ลดโทษลงต่ำกว่าปลดออก

ทั้งนี้ ตามมาตรา 104 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  ประกอบมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

ดังนั้น การที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งต่อมา คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำวินิจฉัยให้ลดโทษผู้ฟ้องคดีจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ลดโทษผู้ฟ้องคดีจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดังกล่าว นั้น    จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วพิพากษายกฟ้อง

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดมูลคดีนี้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ตัดสินยกฟ้องคดีนี้ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันอีกครั้ง

@ พินัยกรรมที่ดิน นางเนื่อม

มูลเหตุแห่งคดีนี้สืบเนื่องมาจากนางเนื่อม ชํานาญชาติศักดา ได้ทําพินัยกรรม เอกสารฝ่ายเมือง ฉบับลงวันที่ 20  พฤศจิกายน 2512 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 20 และ เลขที่ 1446 อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 732 ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา และ 185 ไร่ 87 ตารางวา (ที่ถูกคือ เนื้อที่ 730 ไร่ 1 งาน 51 ตารางวา และ 194 ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา) ตามลําดับ ให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ต่อมา นางเนื่อมได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2514 ศาลแพ่ง ได้มีคําสั่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2514 ตั้งนายพจน์ สุนทราชุน นายหงส์ สุวรรณหิรัญ และ นายแพทย์วิรัช มรรคดวงแก้ว ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม

download

@ นางเนื่อม ชํานาญชาติศักดา /ภาพจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=827402

โดยได้จดทะเบียนลงชื่อ ผู้จัดการมรดกนางเนื่อม เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2515 ต่อมา นายหงส์และนายแพทย์วิรัช ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ยื่นขอจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่ วัดธรรมิการามวรวิหาร แต่เนื่องจากวัดธรรมิการามวรวิหารได้แสดงความประสงค์ไม่ต้องการรับโอนทางทะเบียนที่ดินมาเป็นชื่อของวัดธรรมิการามวรวิหารเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

แต่ต้องการจําหน่ายที่ดินทั้งสองแปลงเพื่อนําเงินมาบํารุงวัดและจัดตั้งมูลนิธิเก็บดอกผล เป็นค่าใช้จ่ายของวัด

จังหวัดปทุมธานีจึงมีหนังสือเสนอเรื่องดังกล่าวมายังกรมที่ดิน เพื่อพิจารณาสั่งการตามระเบียบและข้อกฎหมาย ซึ่งต่อมา กรมที่ดินได้มีหนังสือ ที่ มท 0708/3496 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2532 แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) ได้มีคําสั่งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2533 ไม่อนุญาตให้วัดธรรมิการามวรวิหารได้มาซึ่งที่ดินมรดกทั้งสองแปลงดังกล่าว และให้เจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหารดําเนินการตามข้อ 4 ของพินัยกรรม ซึ่งระบุไว้ว่า ขอให้เจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหารจัดการ มอบอสังหาริมทรัพย์และจํานวนเงิน (ถ้ามี) ซึ่งได้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร รวมทั้งสิ้น แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ช่วยกันจัดทําผลประโยชน์เพื่อใช้ผลประโยชน์นั้นบํารุงจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร หรือจรรโลงพระพุทธศาสนาโดยประการอื่น สุดแต่เจ้าอาวาส วัดธรรมิการามวรวิหารจะพิจารณาตามควรแก่กรณี

จากนั้น ผู้จัดการมรดกบางคนขอถอนตัว จากการเป็นผู้จัดการมรดกและบางคนถึงแก่กรรม เจ้าอาวาสวัดธรรมิการามได้ยื่นคําร้องขอให้ตั้ง ผู้จัดการมรดกใหม่ ศาลแพ่งได้มีคําสั่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2533 ตั้งมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย) เป็นผู้จัดการมรดกของ นางเนื่อม และเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2533 มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ขอจดทะเบียน โอนเปลี่ยนนามผู้จัดการมรดกของนางเนื่อมในโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็น มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย

@ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ขายที่ดินให้ บ.อัลไพน์

ต่อมา มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อมได้ยื่นขอจดทะเบียน โอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เจ้าพนักงานที่ดินได้ลงนาม จดทะเบียนให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2533 และในวันเดียวกัน มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ยื่นขอจดทะเบียนขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จํากัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จํากัด ในราคา 142,000,000 บาท และบริษัททั้งสองได้จดทะเบียนจํานองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว เพื่อค้ำประกันกู้ยืมเงินบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จํากัด จํานวน 220,000,000 บาท ตามสัญญาจํานองฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2533  ต่อมาได้ขอจดทะเบียนขึ้นเงินจํานอง ตามบันทึกตกลงขึ้นเงินจํานองเป็นประกันครั้งที่หนึ่งรวมสองโฉนด ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2534 จํานวน 70,000,000 บาท รวมเป็นวงเงินจํานวนทั้งสิ้น 290,000,000 บาท และได้จดทะเบียน ไถ่ถอนจํานองเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2536 และมีรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ดังนี้

โฉนดที่ดินเลขที่ 20 ตําบลคลองห้า (คลอง 5 ออก) อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จํากัด ได้ยื่นคําขอรังวัดแบ่งจัดสรรที่ดิน ตามใบอนุญาต ให้จัดสรรที่ดินเลขที่ 599/2538 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2538 จํานวน 217 แปลง ปัจจุบัน โอนไปแล้วจํานวน 182 แปลง ยังไม่โอนจํานวน 35 แปลง มีภาระการจํานองจํานวน 74 แปลง

โฉนดที่ดินเลขที่ 1446 ตําบลคลองห้า (คลอง 5 ออก) อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จํากัด ได้ยื่นคําขอรังวัดแบ่งจัดสรรที่ดิน (บางส่วน) ตามใบอนุญาต ให้จัดสรรที่ดินเลขที่ 177/2541 ลงวันที่ 30 เมษายน 2541 จํานวน 322 แปลง ปัจจุบันโอนไปแล้วจํานวน 86 แปลง ยังไม่โอนจํานวน 236 แปลง มีภาระการจํานองจํานวน 190 แปลง

ส่วนโฉนดที่ดินเลขที่ 63765 ตําบลคลองห้า (คลอง 5 ออก) อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี แบ่งแยกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 1446 ตําบลคลองห้า (คลอง 5 ออก) อําเภอคลองหลวง

ต่อมาได้จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวม จํานวน 96 แปลง ปัจจุบัน มีภาระจํานองจํานวน 15 แปลง บริษัททั้งสองมีกลุ่มนายทุน นักการเมือง น้องชายและภรรยา ของนายเสนาะ เทียนทอง เกี่ยวข้องด้วย และเมื่อปี พ.ศ. 2541 บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์สปอร์ตคลับ จํากัด ได้โอนขายหุ้นให้แก่นางกาญจนาภา หงส์เหิน จํานวน 10 หุ้น นายชัยวัฒน์ เชียงพฤกษ์ กับนางสาวบุญชู เหรียญประดับ คนละ 24,899,987 หุ้น และนายวิชัย ช่างเหล็ก จํานวน24,988,986 หุ้น และต่อมา เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2544 นายชัยวัฒน์ นางสาวบุญชู และนายวิชัย ซึ่งเป็นคนงานและคนขับรถในครอบครัวของนายทักษิณ ชินวัตร ได้โอนขายหุ้น ดังกล่าวให้แก่นางพจมาน ชินวัตร นางสาวพิณทองทา ชินวัตร และเด็กหญิง แพทองธาร ชินวัตร ภรรยาและบุตรสาวของนายทักษิณ ตามลําดับ

@ โยงคดีทักษิณ ซุกหุ้น – ‘เสนาะ’  ขายที่ได้ 1.5 พันล้าน 

ซึ่งในช่วงปลายปี พ.ศ. 2543 นายทักษิณ ถูกกล่าวหากรณีซุกหุ้น จึงมีเรื่องเกี่ยวข้องกับที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของที่ มรดกพิพาทปรากฏในสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับลงวันที่ 12 ธันวาคม 2543 ลงหัวข้อข่าว “สนามกอล์ฟคนบาปริยำเซ็งลี้ที่ธรณีสงฆ์” ว่า นายทักษิณตกเป็นข่าวอื้อฉาว เนื่องจากพบว่าคนใช้ ยาม คนรถ เข้าไปถือหุ้นในบริษัทซึ่งเป็นธุรกิจของตระกูลชินวัตรจํานวน หลายร้อยล้านบาทหลายบริษัท รวมถึงสนามกอล์ฟอัลไพน์ที่บริษัท เอส ซี แอสเสท จํากัด ของครอบครัวชินวัตรซื้อมาจากนายเสนาะ เทียนทอง ในราคาราว 1,500,000,000 บาท โดยเมื่อครั้งที่นายเสนาะดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้อํานาจหน้าที่ โดยมิชอบมีคําสั่งไม่อนุญาตให้วัดธรรมิการามวรวิหารได้มาซึ่งที่ดินตามพินัยกรรมของนางเนื่อม โฉนดที่ดินเลขที่ 20 และเลขที่ 1446 อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และได้มีการนําที่ดิน ไปขายให้กับบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จํากัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จํากัด ที่มีนายเสนาะและนายวิทยา เทียนทอง เป็นหุ้นส่วน

555000000240301

@ นายเสนาะ เทียนทอง /ภาพhttps://mgronline.com

ในครั้งนั้นผู้ฟ้องคดีในฐานะอธิบดีกรมที่ดินได้ตรวจสอบและมีหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0701.3/38734 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2543 ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์) สรุปว่าการรับโอนที่ดินของบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จํากัด ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ และเป็นการดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว

ในขณะเดียวกัน กรมการศาสนาได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0301/178 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2543 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยกที่ดินมรดก ตามพินัยกรรมให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) มีความเห็นตามบันทึกเรื่องเสร็จที่ 73/2544 ว่า นางเนื่อมได้ทําพินัยกรรมโดยระบุว่า ต้องการยกกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว เนื้อที่รวมกันประมาณ 924 ไร่ ให้แก่ วัดธรรมิการามวรวิหาร

ต่อมา นางเนื่อมได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2515 วัดธรรมิการามวรวิหารจึงได้ครอบครองหาประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวตลอดมาโดยการให้เช่า ทํานา จนกระทั่งได้โอนให้มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2533

กรณีจึงพิจารณาได้ว่า ที่ดินมรดกตามพินัยกรรมของนางเนื่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของวัดธรรมิการามวรวิหารซึ่งเป็นทายาทตามพินัยกรรมนับตั้งแต่นางเนื่อมถึงแก่กรรม โดยไม่จําต้องทําการรับมรดกหรือเข้าครอบครองที่พิพาท

ทั้งนี้ ตามมาตรา 1599 ประกอบกับ มาตรา 1603 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อนึ่ง ตามมาตรา 1599 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น ทายาทอาจเสียสิทธิในมรดกได้โดยประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ซึ่งการเสียสิทธิในมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประการหนึ่ง คือ การทําหนังสือเจตนาสละมรดกตามมาตรา 1612

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นับตั้งแต่ นางเนื่อมถึงแก่กรรม วัดธรรมิการามวรวิหารได้เก็บผลประโยชน์จากที่ดินมรดกตามพินัยกรรม โดยเก็บค่าเช่าทํานามาโดยตลอด และไม่ปรากฏว่าวัดธรรมิการามวรวิหารได้ทําหนังสือแสดง เจตนาสละมรดกที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด

ดังนั้น ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ดินตามพินัยกรรมของนางเนื่อมจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดธรรมิการามวรวิหารแล้ว ตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม และบทบัญญัติมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินของวัดแต่อย่างใด แต่เป็นเงื่อนไขในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อไปเท่านั้น ดังนั้น วัดธรรมิการามวรวิหารจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกตามพินัยกรรมของนางเนื่อมทันที ที่นางเนื่อมถึงแก่กรรม และมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ใช่บทบัญญัติยกเว้นการได้มาดังกล่าว

เมื่อผลทางกฎหมายที่ดินมรดกของนางเนื่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ วัดธรรมิการามวรวิหารแล้ว ที่ดินดังกล่าว จึงเป็นที่ “ธรณีสงฆ์ “ ซึ่งการโอนที่ธรณีสงฆ์ต้องทํา โดยพระราชบัญญัติ ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อมต้องโอนที่ดินมรดกตาม พินัยกรรมที่ระบุให้ตกแก่วัดให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหารเท่านั้น จะโอนให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้

@ ย้ายยงยุทธ นั่งรองปลัดมหาดไทย 

กรมการศาสนาได้มีหนังสือ ลับ ด่วนมาก ที่ ศธ 0301/1772 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 แจ้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) ดังกล่าวให้อธิบดีกรมที่ดินทราบแล้ว เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 โดยผู้ฟ้องคดีซึ่งขณะนั้นดํารงตําแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน ก็ตั้งใจและเตรียมการที่จะเพิกถอนโฉนดและรายการจดทะเบียนตามความเห็นของคณะกรรมการ กฤษฎีกา โดยไม่ยึดติดความเห็นของตนเองตามอําเภอใจ

เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทราบดีว่า โดยปกติแล้วข้าราชการต้องถือปฏิบัติตามความเห็นในทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพียงแต่อยู่ระหว่างรอให้คณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการสั่งเพิกถอน หรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดิน ซึ่งออกตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ. 2543 ให้แล้วเสร็จ และกรณีนี้มีผู้ถูกกระทบสิทธิจํานวนมาก จึงต้องศึกษาหาทางออกและเตรียมการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นให้รอบคอบเสียก่อน

แต่หลังจากนั้นเพียงหนึ่งเดือนผู้ฟ้องคดีได้รับคําสั่งย้ายไปดํารงตําแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย

ต่อมา ปรากฏว่าอธิบดีกรมที่ดินคนใหม่ (นายประวิทย์ สีห์โสภณ) จึงมีคําสั่ง อธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1511/2544 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2544 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอน มรดกที่ดินของนางเนื่อมดังกล่าว

โดยคณะกรรมการสอบสวนได้ดําเนินการสอบสวนแล้วเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงที่นางเนื่อมทําพินัยกรรมยกให้แก่ วัดธรรมิการามวรวิหาร ให้แก่มูลนิธิมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย รวมทั้งจดทะเบียนขายที่ดิน ดังกล่าวต่อไปให้แก่บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จํากัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จํากัด โดยมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นเพียงผู้จัดหาผลประโยชน์ให้แก่ วัดธรรมิการามวรวิหารเท่านั้น ไม่ใช่ทายาทตามพินัยกรรมที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ต่อจากวัด ทั้งเป็นการขายที่ธรณีสงฆ์ที่มิได้ทําโดยพระราชบัญญัติ ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 จึงเป็นการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไป โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทําให้รายการจดทะเบียนในลําดับต่อ ๆ มาจากรายการจดทะเบียนขาย ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย  จึงเสนอความเห็นให้อธิบดีกรมที่ดินเพิกถอนรายการ จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินและรายการจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าว

นายสมศักดิ์ เอี่ยมไธสง รองอธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมที่ดินจึงมีคําสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2304/2544 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินระหว่าง มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม ผู้โอน กับ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้รับโอน และรายการจดทะเบียนขายรวมสองโฉนดระหว่าง มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้ขาย กับ บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จํากัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จํากัด ผู้ซื้อ

ซึ่งทั้งสองรายการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2533 ในโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และเลขที่ 1446 อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตลอดจนรายการจดทะเบียนอื่น ๆ ลําดับต่อ ๆ มาจากรายการจดทะเบียนขายรวมสองโฉนดดังกล่าว รวมทั้งเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลง ที่แยกออกสืบเนื่องมาจากโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงและรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ทุกรายการในโฉนดที่ดินแปลงแยกนั้นด้วย ตลอดจนเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องเสียทั้งหมด

ต่อมา ผู้มีส่วนได้เสียในคําสั่งของอธิบดีกรมที่ดินดังกล่าวได้อุทธรณ์คัดค้านคําสั่ง ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินพิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับคําอุทธรณ์ จึงส่งคําอุทธรณ์ให้ปลัดกระทรวง มหาดไทยพิจารณาต่อไป

โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 15/2545 ลงวันที่ 22 มกราคม 2545 แต่งตั้งคณะทํางานพิจารณากลั่นกรองอุทธรณ์ คําสั่งดังกล่าวของอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีผู้ฟ้องคดีซึ่งขณะนั้นดํารงตําแหน่งรองปลัดกระทรวง มหาดไทย เป็นประธานคณะทํางาน คณะทํางานพิจารณากลั่นกรองอุทธรณ์มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2545 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 ให้คณะทํางานแต่ละคนจัดทําความเห็นเสนอที่ประชุม

ต่อมา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2545 นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ซึ่งดํารงตําแหน่งปลัด กระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นได้ลาออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงได้มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 81/2545 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2545 แต่งตั้งผู้ฟ้องคดีเป็น ผู้รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อมา คณะทํางานพิจารณากลั่นกรองอุทธรณ์ ในการประชุมครั้งที่ 2/2545 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2545 พิจารณาแล้วมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายเสียงข้างน้อยเห็นว่า ที่ดินมรดกดังกล่าวตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมการศาสนาต้องไปดําเนินการออกพระราชบัญญัติโอนที่ดินมรดกดังกล่าว ตามมาตรา 85 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินต่อไป

ฝ่ายเสียงข้างมาก (รวมทั้งผู้ฟ้องคดี) เห็นว่า ที่ดินมรดกดังกล่าวยังไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดและยังไม่เป็นที่ธรณีสงฆ์ คณะทํางานพิจารณากลั่นกรองอุทธรณ์จึงมีมติให้จัดทําคําวินิจฉัยกลางตามเสียงข้างมาก โดยเห็นว่า การได้มาซึ่งที่ดินของวัดต้องอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 84 และมาตรา 85 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะยกเว้นหลักทั่วไปของการได้มาตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีความเห็นแตกต่างจากความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับ เรื่องการได้มาโดยทางพินัยกรรม โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาถือตามคําพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ 1619/2506 ที่วินิจฉัยว่า การได้มาโดยพินัยกรรมเป็นการได้มาโดยทางอื่น นอกจากนิติกรรม ตามมาตรา 1299 วรรคสอง แม้จะยังไม่จดทะเบียนการได้มาก็ตกเป็น กรรมสิทธิ์ของทายาทแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ได้มีคําพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ 1840/2514 (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยกลับหลักของคําพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ 1619/2506 โดยวินิจฉัยว่า การได้มาซึ่งสิทธิอาศัยอันเป็นทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยพินัยกรรมเป็นการได้มาโดยนิติกรรม ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง หาใช่การได้มา โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม

ดังนั้น หากวัดยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มา การได้มาดังกล่าว จึงยังไม่สมบูรณ์ และคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ที่ดินซึ่งได้ ทําพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดตกเป็นที่ธรณีสงฆ์โดยทันที โดยเทียบเคียงจากคําพิพากษา ศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ 1812/2506 นั้น ในเรื่องนี้ได้มีคําพิพากษาศาลฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) คดีหมายเลขแดงที่ 1516/2503 วินิจฉัยว่า วัดเสียสิทธิในมรดกที่ดินไปเพราะ ไม่เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกภายในอายุความมรดก ดังนั้น ที่ดินดังกล่าวยังไม่ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ทันที ประกอบกับได้มีแนวคําพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ 62/2520 วินิจฉัยว่า การได้มาซึ่งที่ดินของมัสยิดอิสลามต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เมื่อยังไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาต จึงไม่อาจบังคับตามคําขอของโจทก์ได้ และตามคําพิพากษา ศาลฎีกา คดีหมายเลขแดง ที่ 4979 – 4982/2539 ซึ่งระบุให้ต้องชําระหนี้ของเจ้ามรดกที่ทํา ไว้ก่อนถึงแก่กรรมจากกองมรดกเสียก่อน การที่วัด (จําเลย) ได้รับโอนที่ดินนั้นไปก่อนชําระหนี้ วัดก็ต้องส่งมอบที่ดินนั้นกลับคืนแก่เจ้าหนี้ของเจ้ามรดก โดยการโอนที่ดินจากวัดเพื่อทําการ ชําระหนี้นั้น มิได้ถือว่าเป็นการโอนที่ธรณีสงฆ์แต่อย่างใด

ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ข้อ 1 กําหนดหลักเกณฑ์ การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดไว้ว่า การได้ทรัพย์สินมาเป็นศาสนสมบัติของวัด ให้ลงทะเบียนทรัพย์สินของวัดไว้เป็นหลักฐานการได้มาซึ่งที่ดินหรือสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน เมื่อได้จดทะเบียนการได้มาตามกฎหมายแล้ว ให้ส่งหลักฐานไปเก็บไว้ที่ทําการศึกษาธิการจังหวัด

ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ภายหลังนางเนื่อมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2515 ได้มีการลงทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินตามพินัยกรรมของนางเนื่อมให้เป็นทรัพย์สินของวัดและ ส่งหลักฐานไปจัดเก็บไว้ที่ทําการศึกษาธิการจังหวัดหรือไม่แต่อย่างใด อันแสดงให้เห็นถึงแนวทาง ปฏิบัติของกรมการศาสนาในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เกี่ยวกับ การได้มาซึ่งที่ดินของวัดจะถือตามการจดทะเบียนการได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นหลัก การพิจารณาว่าวัดได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามพินัยกรรมภายหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่คํานึงถึงประมวล กฎหมายที่ดิน มาตรา 84 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษย่อมไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และแนวทาง ปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่ดินและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่ถือปฏิบัติ เกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินของวัดต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และมีการจดทะเบียนการได้มาตามกฎหมายที่ดินก่อน กรรมสิทธิ์จึงตกเป็นของวัด และภายหลังจากกรรมสิทธิ์ตกเป็นของวัด ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว การจําหน่าย จ่าย โอน ที่ดินดังกล่าวจึงต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สั่งไม่อนุญาตให้วัดได้มาซึ่งที่ดินมรดกรายนี้ วัดจึงยังไม่ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าว จึงเห็นควรเสนอให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเพิกถอนคําสั่ง อธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 กองนิติการ สํานักงานปลัด กระทรวงมหาดไทย จึงได้มีบันทึกข้อความ ลับ ด่วนที่สุด ที่ มท 0209.3/28 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2555 เสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยให้เพิกถอนคําสั่งอธิบดีกรมที่ดิน  ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ผู้ฟ้องคดีในฐานะรักษาราชการแทน ปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงมีคําสั่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2545 เห็นชอบตามความเห็น ของคณะทํางานพิจารณากลั่นกรองอุทธรณ์ และได้มีบันทึกข้อความ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ไปยัง อธิบดีกรมที่ดิน โดยระบุว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วว่า บทบัญญัติมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นกฎหมายพิเศษที่ยกเว้นประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป

ดังนั้น การได้มาซึ่งที่ดินของวัดต้องได้รับ อนุญาตจากรัฐมนตรี ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้สั่งไม่อนุญาตให้วัดได้มาซึ่งมรดกรายนี้ วัดจึงยังไม่ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าว

ฉะนั้น อาศัยอํานาจตามมาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 50 และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2534 ข้อ 2 (4) จึงให้เพิกถอนคําสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544

ต่อมา เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2545 ผู้ฟ้องคดีได้รับการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย คือ ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2545 หลังจากนั้น มีผู้กล่าวหาร้องเรียนผู้ฟ้องคดีไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ว่า ผู้ฟ้องคดีเมื่อครั้งดํารงตําแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวง มหาดไทย ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กรณีมีคําสั่งเพิกถอนคําสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และเลขที่ 1446 อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รวมทั้งนิติกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง ดังกล่าวเสียทั้งหมด ซึ่งเป็นการโอนที่ธรณีสงฆ์โดยมิชอบ

@ ป.ป.ช.รับเรื่องไว้ตรวจสอบ

โดยสํานักงาน ป.ป.ช. รับเรื่องไว้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้แจ้งข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทําความผิดให้ผู้ฟ้องคดี ทราบว่า การกระทําของผู้ฟ้องคดีมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริต ต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของ ทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ อย่างร้ายแรง และฐานกระทําการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และเป็น ความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

ผู้ฟ้องคดี ได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามหนังสือฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2553 และฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 (ฉบับย่อ) โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีมติตามเสียงข้างมากด้วยคะแนน 6 เสียง ต่อ 3 เสียง เห็นว่า ที่ดินตามพินัยกรรมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดธรรมิการามวรวิหารตั้งแต่นางเนื่อมถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2514 ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์ ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ชอบแต่จะจัดการจําหน่าย จ่าย โอน ที่ดินมรดกให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ทายาทผู้รับมรดก ตามพินัยกรรมเท่านั้น จะโอนให้แก่บุคคลอื่นที่พินัยกรรมไม่ได้ระบุเป็นผู้รับพินัยกรรมไม่ได้ และการโอนที่ธรณีสงฆ์ ต้องกระทําโดยพระราชบัญญัติ ตามนัยมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 การที่ผู้ฟ้องคดีขณะดํารงตําแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย พิจารณาเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 84 แห่งประมวล กฎหมายที่ดิน เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นกฎหมายพิเศษที่ยกเว้นประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป ดังนั้น การได้มาซึ่งที่ดินของวัดต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้สั่งไม่อนุญาตให้วัดได้มาซึ่งมรดกรายนี้ วัดจึงยังไม่ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าว และได้สั่งเพิกถอนคําสั่ง อธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ซึ่งการมีคําสั่งเพิกถอนคําสั่ง อธิบดีกรมที่ดินที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และเลขที่ 1446 อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รวมทั้งนิติกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโฉนดที่ดิน ทั้งสองแปลงเสียทั้งหมดของกรมที่ดินนั้นได้ถือปฏิบัติไปตามความเห็นของคณะกรรมการ กฤษฎีกา (ประชุมใหญ่)

ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 บังคับให้ เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ ทุกกระทรวง ทบวงกรมต้องถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการ กฤษฎีกา จึงเห็นว่าคําสั่งของผู้ฟ้องคดีที่ให้ยกเลิกคําสั่งอธิบดีกรมที่ดินดังกล่าวเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย และการที่ผู้ฟ้องคดีใช้อํานาจในตําแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งเพิกถอนคําสั่ง ของอธิบดีกรมที่ดินดังกล่าว โดยอ้างว่ามาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นบทบัญญัติที่มี ลักษณะเป็นกฎหมายพิเศษยกเว้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป นั้น เหตุผลที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างยังไม่ครบถ้วนครอบคลุมถึงประเด็นการจดทะเบียนโอนมรดกและ การโอนขายที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทําของผู้ฟ้องคดีเป็นเหตุให้อํานาจตามกฎหมาย ไม่มีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ เมื่อผู้ฟ้องคดีได้มีคําสั่งเพิกถอนคําสั่งของอธิบดีกรมที่ดินดังกล่าวแล้ว สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยมีข้อเสนอแนะ ให้ดําเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มอบหมาย ให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทย พิจารณาดําเนินการตามกฎหมาย แต่ผู้ฟ้องคดี เพิกเฉยไม่ดําเนินการตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้เป็นไปตามกฎหมายตามที่สํานักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแนะ กลับมีหนังสือแจ้งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีผลผูกพันกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดิน เนื่องจาก ไม่ได้เป็นผู้หารือและไม่อาจอ้างมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 มาใช้กับกรณีนี้ ได้ เพราะมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่มีผลเป็นการลบล้างดุลพินิจในการพิจารณาอุทธรณ์ของ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งการกล่าวอ้างเหตุผลดังกล่าวเป็นเหตุผลที่ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับและไม่เคย มีแนวทางหรือธรรมเนียมปฏิบัติในการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องดังกล่าว

@ ชี้เจตนาช่วยเหลือ บ.อัลไพน์-เอื้อประโยชน์ตระกูลชินวัตร

การกระทําของ ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 โดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จํากัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จํากัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินดังกล่าวและที่ได้ถือกรรมสิทธิ์ในเวลาต่อมา รวมทั้งตระกูลชินวัตร ให้ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องถูกเพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิตามคําสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน จนผู้ฟ้องคดีได้รับผลประโยชน์ตอบแทนให้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย และเป็นเหตุให้ เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

ทักษิณ ชินวัตร

@ ทักษิณ ชินวัตร https://www.thebangkokinsight.com/

พฤติการณ์และการกระทําของผู้ฟ้องคดีมีมูลความผิดวินัย อย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่น ได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานกระทําการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็น ผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เสียงข้างน้อย เห็นว่า พยานหลักฐานในสํานวนไม่พอฟังว่า ผู้ฟ้องคดีมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหา โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้ส่งผลรายงาน การไต่สวนข้อเท็จจริง เอกสาร และความเห็นไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย แก่ผู้ฟ้องคดี

ต่อมา อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ในการประชุมครั้งที่ 8/2555 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2555 พิจารณาแล้วเห็นว่า การ กระทําของผู้ฟ้องคดีไม่มีมูลความผิดเข้าข่ายเป็น การกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แต่ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ไม่อาจพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ ยังคงต้องพิจารณาโทษทางวินัย ตามฐานความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติ จึงมีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามฐาน ความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงได้มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 546/2555 ลงวันที่ 20 กันยายน 2555 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามฐาน ความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นวันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้ฟ้องคดีมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์เป็นต้นไป

ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2555 อุทธรณ์คําสั่งลงโทษดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้พิจารณาแล้วมีมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 4 เสียง ต่อ 3 เสียง เห็นว่า ความเห็นของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เสียงข้างน้อยมีเหตุผลรับฟังได้ยิ่งกว่าเสียงข้างมาก พยานหลักฐานในสํานวน ไม่พอฟังว่าผู้ฟ้องคดีมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหา

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่อาจเปลี่ยนแปลงฐานความผิดตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เสียงข้างมากวินิจฉัยมาแล้วได้ทําได้เพียงลดโทษ ทั้งนี้ ตามนัยคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2546 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2546 ตามหนังสือสํานักงาน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 จึงมีคําวินิจฉัย เรื่องดําที่ 5510078 เรื่องแดงที่ 0047156 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ให้ลดโทษ ผู้ฟ้องคดีจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 แจ้งคําวินิจฉัยดังกล่าวของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ

จากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ลดโทษผู้ฟ้องคดีจากไล่ออกจากราชการ เป็นปลดออกจากราชการตามคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

@ เปิดข้อต่อสู้ยงยุทธ 

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทําความผิดตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติชี้มูล ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเกี่ยวข้องกับขบวนการโอนมรดกและหรือโอนซื้อขายที่ดินมรดก ของนางเนื่อม สําหรับในการพิจารณาอุทธรณ์นั้น ผู้ฟ้องคดีในฐานะรักษาราชการแทน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลําดับศักดิ์สูงกว่า มติคณะรัฐมนตรี

ผู้ฟ้องคดีเชื่อโดยสุจริตว่า กฎหมายให้อํานาจผู้พิจารณาอุทธรณ์สามารถทบทวน คําสั่งทางปกครองได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หรือความเหมาะสมของ การทําคําสั่งทางปกครอง และมีคําสั่งเพิกถอนคําสั่งปกครองเดิมและเปลี่ยนแปลงคําสั่งได้ อีกทั้งการพิจารณาทบทวนคําสั่งทางปกครองดังกล่าวได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะทํางาน พิจารณากลั่นกรองอุทธรณ์มาก่อนแล้ว โดยผู้ฟ้องคดีได้ทบทวนปัญหาข้อกฎหมายเทียบเคียงกับ ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างครบถ้วนแล้ว แม้ผู้ฟ้องคดีจะวินิจฉัยอุทธรณ์และ ออกคําสั่งโดยอ้างเหตุผลที่แตกต่างจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ก็เป็นการใช้ ดุลพินิจในการพิจารณาอุทธรณ์โดยสุจริตและเชื่อว่าตนมีอํานาจกระทําได้ ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 อีกทั้งไม่มีผู้มีส่วนได้เสียคนใด ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคําสั่งของผู้ฟ้องคดีที่ให้เพิกถอนคําสั่งอธิบดีกรมที่ดิน  ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2554 แต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้รับการแต่งตั้ง ให้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย นั้น สืบเนื่องมาจากกระทรวงมหาดไทยได้เสนอ ขออนุมัติกําหนดตําแหน่งที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย (ระดับ 11) โดยไม่รับเงินประจําตําแหน่ง ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นการเฉพาะตัว แต่ที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการประชุมครั้งที่ 4/2545 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2545 ได้พิจารณาแล้วมีมติว่า กรณีการขอกําหนดตําแหน่งที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย (ระดับ 11) ครั้งนี้ ไม่ปรากฏหน้าที่ ความรับผิดชอบและภารกิจที่มอบหมายให้ผู้ดํารงตําแหน่งปฏิบัติ ก.พ. จึงไม่อาจพิจารณาได้

แต่หากกระทรวงมหาดไทยประสงค์จะแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็สามารถดําเนินการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคําสั่งให้รักษาราชการในตําแหน่ง ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้

PIC yongyuth 22 7 60 4

@ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ

ต่อมา จึงได้มีการเสนอขอความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้ฟ้องคดี ให้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น การแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีให้ดํารงตําแหน่ง ปลัดกระทรวงมหาดไทยจึงมิใช่เป็นผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่ผู้ฟ้องคดีพิจารณา อุทธรณ์และมีคําสั่งเพิกถอนคําสั่งอธิบดีกรมที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีที่เลขาธิการ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร 0601/908 ลงวันที่ 1 เมษายน 2545 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสนอแนะให้ปฏิบัติตามความเห็นของ คณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2582 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทย พิจารณาดําเนินการตามกฎหมายต่อไป นั้น ผู้ฟ้องคดีก็ได้มีหนังสือแจ้งกลับไปยังสํานักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0209.3/6880 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 และผู้ฟ้องคดีในฐานะรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการ แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้มีหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0209.3/6881 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ถึงอัยการสูงสุด หารือการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งอัยการสูงสุดได้มีหนังสือสํานักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0017/10335 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2545 ตอบข้อหารือว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยมีอํานาจทบทวนคําสั่งของ อธิบดีกรมที่ดินดังกล่าวและอาจมีคําสั่งเพิกถอนคําสั่งหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งดังกล่าวได้ ตามมาตรา 46 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 การที่ผู้ฟ้องคดีมิได้ ดําเนินการตามข้อสังเกตของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงมิใช่การฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี อีกทั้งหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นเพียงข้อสังเกตของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเท่านั้น มิใช่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา

นอกจากนี้ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า พยานหลักฐาน ในสํานวนไม่พอฟังว่าผู้ฟ้องคดีมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหา ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคําสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และต่อมาได้มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 414/2556 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ลดโทษผู้ฟ้องคดีจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ ทั้งที่เห็นว่าผู้ฟ้องคดีมิได้ กระทําผิด คําสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด

ขอให้มีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ดังนี้

1. เพิกถอนคําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 414/2556 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 เรื่อง ลดโทษ

2. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คืนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย จากการรับราชการ เสมือนว่าผู้ฟ้องคดีไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยดังกล่าวมาก่อน

3. เพิกถอนคําวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามคําวินิจฉัยเรื่องดําที่ 5510078 เรื่องแดงที่ 0047156 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2556

4. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แจ้งการเพิกถอนคําวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้กระทรวงมหาดไทยทราบ เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยยกเลิกคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 546/2555 ลงวันที่ 20 กันยายน 2555 เรื่อง ลงโทษไล่ออกจากราชการ และคําสั่ง กระทรวงมหาดไทย ที่ 414/2556 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 เรื่อง ลดโทษ และให้ ผู้ฟ้องคดีได้รับสิทธิทั้งหลายกลับคืนมา เสมือนว่าผู้ฟ้องคดีไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยดังกล่าวมา ก่อนเลยอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ดี ผลการต่อสู้คดีนี้ในเวลาต่อมา  ท้ายที่สุด ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ตามเหตุผลดังที่ได้นำเสนอไปแล้ว 

ขณะที่ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำสั่งศาลฎีกา ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีต รมว.มหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย คดีทุจริตที่ดินสร้างสนามกอล์ฟอัลไพน์ ไปแล้วด้วย 

ปิดฉากมหากาพย์คดีนี้ ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมายาวนานหลายสิบปี 

ที่มา : https://www.isranews.org

Leave a Reply