สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ เสด็จเป็นองค์ประธานงานเสวนาวิชาการ “หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย (Thai Textiles Trendbook Autumn/Winter 2022-2023)” และทอดพระเนตรการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผลิตภัณฑ์จากโครงการศิลปาชีพและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 วันที่ 29 ม.ค. 65 เวลา 12:15 น. ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานงานเสวนาวิชาการ “หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยเล่มที่ 2 (Thai Textiles Trendbook Autumn/Winter 2022-2023)” โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นางพรศรี ตรงศิริ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม รองศาสตราจารย์ ดร.ประกาศ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ข้าราชการ นิสิต กลุ่มทอผ้า และประชาชน เฝ้ารับเสด็จ

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงบรรยายในหัวข้อ “การส่งเสริมการพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” โดยมี นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศไทย (VOGUE THAILAND) และ นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์ชื่อดังเจ้าของแบรนด์wishrawish ผู้สนองงานผ้าไทยใส่ให้สนุกร่วมบรรยาย

 จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการและการแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด พระบรมราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านการรักษาสมบัติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปหัตถกรรมทอผ้าในแต่ละท้องถิ่น อนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป อีกทั้งยังเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ศิลปภูมิปัญญาไทยและสร้างความเชื่อมโยงกันในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประชาสัมพันธ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP โดยมีผู้แทนจาก 11 จังหวัด ถวายรายงาน และกลุ่มทอผ้าเฝ้ารับเสด็จ จำนวน 52 กลุ่ม ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม 8 กลุ่ม กาฬสินธุ์ 6 กลุ่ม นครราชสีมา 5 กลุ่ม บุรีรัมย์ 5 กลุ่ม สุรินทร์ 5 กลุ่ม ชัยภูมิ 5 กลุ่ม ขอนแก่น 5 กลุ่ม ร้อยเอ็ด 5 กลุ่ม ศรีสะเกษ 5 กลุ่ม ยโสธร 2 กลุ่ม และจังหวัดอุดรธานี 1 กลุ่ม โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การจัดนิทรรศการภูมิปัญญาผ้าไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด 11 จังหวัด การแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าของกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า ได้แก่ การจัดแสดงนิทรรศการผ้า การทอผ้า การสาวไหม การย้อมครั่ง และเส้นไหมย้อมสีธรรมชาติตามเทรนด์บุ๊ค ของกลุ่มผาสารทแก้ว ผ้าทอลายโบราณ และกลุ่มเครือข่ายย้อมสีธรรมชาติจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นกลุ่มทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติที่สามารถย้อมสีธรรมชาติได้หลายเฉดสีสวยงามเป็นธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าทอของกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านโคกล่าม จังหวัดมหาสารคาม ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองพระราชทาน ประเภทผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ กลุ่มผ้ายกดีเทล จังหวัดนครราชสีมา ที่ใช้เส้นไหมย้อมสีธรรมชาติตามแบบหนังสือเทรนด์บุ๊คได้อย่างสมบูรณ์ลงตัว จนได้รับรางวัลเหรียญทองพระราชทานการให้สีตามเทรนด์บุ๊ค และได้รับรางวัลเหรียญทองพระราชทาน ประเภทผ้ายกเล็ก กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองพระราชทาน ประเภทผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป ในการประกวดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ อีกทั้งยังมีกลุ่มที่เคยเฝ้ารับเสด็จและมีพระวินิจฉัยให้มีการพัฒนานำการบ้านที่พัฒนาแล้วมาส่งให้พระองค์ได้ทอดพระเนตร ได้แก่ กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ที่ทรงมีพระวินิจฉัยเรื่องเนื้อผ้าที่แข็งเกินไป ต้องปรับปรุงการใช้สี การเก็บงานผ้ายังไม่เรียบร้อย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมวัยรุ่น Thai young silk มีพระวินิจฉัยให้ใช้ไหมน้อย ย้อมสีธรรมชาติ ผ้าจกให้ใช้ดิ้นเงินจก กลุ่มสัมมาชีพชุมชนทอผ้าไหมมงคลสีธรรมชาติ จังหวัดมหาสารคาม ทรงมีพระวินิจฉัยให้ทอผ้าสไลด์สีด่างทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน และให้ทอหน้ากว้าง 1.5 เมตร เป็นต้น ซึ่งกลุ่มได้ทำการพัฒนาชิ้นงานมาส่งการบ้านให้พระองค์ทอดพระเนตร พระราชทานคำแนะนำและมีพระวินิจฉัย ตลอดทั้งยังมีการ Coaching เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและแฟชั่นแถวหน้าของเมืองไทยให้คำแนะนำ

  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ด้วยพระอัจฉริยภาพของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย เป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ ซึ่งในการเสด็จครั้งนี้ กลุ่มที่มาร่วมงานได้ถวายผลงานให้พระองค์ทอดพระเนตร โดยทรงมีพระวินิจฉัยและแนะนำชี้ให้เห็นในรายละเอียดของแต่ละชิ้นงาน และพระองค์ทรงมีพระวินิจฉัย พระราชทานคำแนะนำให้แก่กลุ่มทอผ้า และประการสำคัญ คือ พระองค์ท่านทรงติดตามความคืบหน้าและพัฒนาการของกลุ่มทอผ้าที่ทรงมีพระวินิจฉัยอย่างใกล้ชิด โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและแฟชั่นร่วมให้คำแนะนำ นับเป็นความโชคดีอย่างหาที่สุดไม่ได้ของกลุ่มทอผ้ากลุ่มต่าง ๆ ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและรับพระราชทานคำแนะนำเพื่อต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้จุนเจือครอบครัวและชุมชน

 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า ในคราวเสด็จกลุ่มทอผ้ากลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 พระองค์ได้พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และตน เพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปใช้ทอผ้าผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่ง “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยในลวดลายผ้าแต่ละลวดลายแฝงไปด้วยความหมายที่มีความลึกซึ้ง ได้แก่ “ลาย S ที่ท้องผ้า” หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น ต่อมา “ลายบิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S” หมายถึง ความจงรักภักดีที่ปวงชนชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ “ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ”  หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย “ลาย S ประกอบกับลายบิดที่เชิงผ้า” หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข “ลายต้นสนที่เชิงผ้า” หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ ซึ่งลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่เป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ และ “ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า” หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน

  ด้าน นายสมคิด จันทมฤกอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชทานคำแนะนำในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนการพัฒนายกระดับผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักสู่สากล ยังความปลาบปลื้มปีติยินดีให้แก่กลุ่มทอผ้าและพสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จ เพื่อจะได้นำคำแนะนำที่พระราชทานในวันนี้ ไปต่อยอด สร้างสรรค์ชิ้นงาน เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ สร้างชีวิตให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

Leave a Reply