“เปรียญสิบ” ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเดินทางจากรุงเทพมหานครสัญจรไปทั่วจังหวัดภาคเหนือ ประเภทค่ำไหนนอนนั่น แบบ “เที่ยวไป เขียนไป” เพลิดเพลินไปกับการเสพทิวทัศน์ธรรมชาติสองข้างทาง
ซึ่งในฤดูฝนแบบนี้มองไปทางไหนก็เขียวขจี บางเวลาผ่านทุ่งนา ท่องไร่ เห็นชาวนาชาวไร่กำลังหว่านข้าวบ้าง ปลูกพืชผลทางเกษตรบ้าง เห็นวัวควายเล็มหญ้ากินอยู่เป็นระยะ ๆ ทำให้มีความสุขและเพลิดเพลินกับบรรยากาศแบบนี้
บางคราวเจอวัดข้างทางก็จอดรถแวะไปกราบพระเจดีย์ เข้าไปกราบพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่ภายในวัด บางวัดเจอพระภิกษุก็เข้าไปสนทนาบ้าง ไปแบบคน “ปล่อยวาง” ไม่ให้จิตมันผูกมัดร้อยรัดกับอะไร ชีวิตคนวัยกลางคนแบบเปรียญสิบนี้มันต้องรู้จักปล่อยวางบ้างก็จะดี
คืนแรกนอนจังหวัดลำปางโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย อำนวยความสะดวกที่พักให้ ซึ่งที่พักเป็น “ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง” ที่พักเหมือนกับโรงแรมมีห้องนับร้อยห้องมีทั้งห้องพิเศษและทั่วไป ภายในศูนย์แห่งนี้ รื่นรมย์ไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้ต่าง ๆ นา ๆ บางแปลงก็เป็นการจำลองการทำ “โคก หนอง นา” ทั่วบริเวณพื้นที่สะอาดและเงียบสงบ..
เป้าหมายตื่นเช้ามีกำหนดเดินทางไปสู่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เช่นเดิมคือ ขับรถไปเรื่อย ๆ เจอวัดไหนดูแล้วอยากเข้าไปกราบพระหรืออยากเดินเล่น พักสายตา พักรถ ก็จอดรถพัก จากลำปางกว่าจะถึงอำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่กินเวลา 6 ชั่วโมงกว่า ๆ หลังจากพูดคุยกับนายอำเภอแม่แจ่มเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่พาไปดูแปลงโคก หนอง นา โมเดล ขับรถไต่ไปตามสันภูเขาหัวโล้นลูกแล้วลูกเล่าเมื่อถึงเป้าหมายที่เป็นเกษตรกรที่ทำเรื่องโคก หนอง นา ตามรอยศาสตร์ของพระราชา เดินดูแปลงแล้วพูดคุยเท่าที่ฟังทุกคนเปรียบเสมือน “ปราชญ์เดินดิน” อย่างแท้จริง มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการใช้ชีวิตแบบ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น สมถะพอเพียงยิ่งกว่าพระภิกษุบางรูปเสียอีก
วันรุ่งขึ้นหลังจากจบภารกิจจากแม่แจ่ม เดินทางไปจังหวัดเชียงรายไปพักแรมที่ “วัดพระธาตุผาเงา” เป็นวัดของเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย วัดเงียบสงบร่มรื่น ถามพระภิกษุรูปหนึ่งบอกว่า วัดพระธาตุผาเงาเป็นสำนักเรียนบาลีด้วย มีพระเณรเรียนประมาณ 30 รูป เสียดายว่าไม่เจอเจ้าอาวาสเนื่องจากท่านติดศาสนกิจไปต่างจังหวัด
เช้าวันรุ่งขึ้นเดินทางไปคุยกับ “พระอาจารย์วิบูลย์ เตชธมฺโม” แห่งวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ ท่านเป็นพระนักพัฒนาชุมชนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เท่าที่ฟังท่านเป็นพระนักต่อสู้แบบพึ่งพาตนเอง รักธรรมชาติ รักป่า ฟังท่านเล่า กว่าจะมีวันนี้ท่านทำเองโดยไม่มีภาครัฐเข้ามาช่วยอยู่ประมาณ 10 กว่าปี ตอนหลังภาครัฐเห็นว่าท่านทำจริงจัง ดูแลป่าได้ จึงมอบป่าไม้ให้ดูแลนับพันไร่ ซ้ำตอนหลังกรมการพัฒนาชุมชนยุค
“คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” เป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนก็นำเอาโครงการโคก หนอง นา เข้ามายังพื้นที่พัฒนาเป็นแบบอย่าง พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนในจังหวัดและใกล้เคียงได้มาศึกษาเรียนรู้ ตอนหลังเมื่อภาครัฐเห็นว่าท่านทำงานได้ดี จึงมีสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน มาซื้อที่ให้ประมาณ 80 ไร่ แจกจ่ายให้กับประชาชนที่ยากจนคนละ 1 ไร่ประมาณ 60 ครัวเรือนได้เข้ามาทำกินตามแบบ “โคก หนอง นา” และภายใต้เงื่อนไขว่า ประชาชนที่มาอยู่ที่นี้ต้องถือศีล 5 ห้ามใช้สารเคมี อยู่ร่วมกันแบบหลัก “บวร”
วันต่อมาเดินทางจากจังหวัดเชียงรายผ่านจังหวัดพะเยา แวะพักทานข้าวที่ “กว๊านพะเยา” ต่อด้วยเข้าไปกราบหลวงพ่อวัดศรีโคมคำ สังเกตเริ่มมีนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นและประชาชนเข้ามากราบพระขอพรกันมากมายหลายตา หลังจากนั่นเดินทางต่อไปยังจังหวัดแพร่ ค่ำคืนนี้ฝากชีวิตไว้กับโรงแรมซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากวัดพระบาทมิ่งเมืองมากนัก พรุ่งนี้เช้าตั้งใจจะไปกราบพระประจำจังหวัดแพร่ภายในวัดแห่งนี้
“วัดพระบาทมิ่งเมือง” น่าจะเป็นวัดเจ้าคณะจังหวัดเพราะเห็นมีป้ายติดอยู่ว่า “สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดแพร่” เจอพระรูปหนึ่งท่านเล่าว่าเดิมวัดพระบาทมิ่งเมืองเป็น 2 วัดติดกันหลังปี 2470 มีการยุบรวมวัดจึงชื่อว่า “วัดพระบาทมิ่งเมือง” พระพุทธรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดมี 2 องค์ รวมทั้งเจดีย์องค์เก่าด้วย ที่นี้เห็นมีสามเณรหลายร้อยรูปเพราะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพระปริยัติธรรมด้วย
เห็นครูสอนแต่งตัวปอน ๆ บอกว่าจบมหาจุฬา ฯ รุ่น 46 และเห็นสามเณรนั่งสวดมนต์กันอยู่ ทำให้นึกถึง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562 จนปานนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีเงินมาสนับสนุน หวังว่าปีงบประมาณหน้ารัฐบาลคงจะมีให้..หากไม่มีคณะสงฆ์อาจจำเป็นต้องแอคชั่นกันบ้างละ!!
ความจริงมีเรื่องเล่าไปไหว้พระประจำจังหวัดอีกหลายจังหวัด ทั้งหลวงพ่อเพ็ชร วัดท่าถนน พระพุทธรูปประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ซ้ำเป็นวัดที่ “เปรียญสิบ” เคยอาศัยเรียนบาลีอยู่ 2-3 พรรษา ทั้งหลวงพ่อพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก วัดผาซ่อนแก้ว จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือแม้กระทั้งไปคุยกับเจ้าอาวาสวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ
ซึ่งภายในวัดท่านทำโครงการโคกหนองนา ด้วย ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า ทำโคก หนอง นา ไม่ซับซ้อนอะไร แค่อยากมีผักไว้แจกชาวบ้านให้มีกิน มีของติดมือไปเวลามาวัดหรือเรามีของแจกเวลาไปเยี่ยมชาวบ้านแค่นั้น ท่านบอกต่อว่า ชีวิตส่วนใหญ่ของท่านอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย สร้างวัดไว้กว่า 30 วัด ภายในวัดท่านกำลังก่อสร้างดูแล้วใหญ่โตอลังการ ภายใต้การอุปถัมภ์ของ “สมเด็จพระพุฒาจาย์” เจ้าอาวาสวัดไตรมิตร เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก
การเดินทางสัญจรแบบไม่เร่งรีบแบบนี้ การไปเจอไปสัมผัสกับวิถีชีวิตพระต่างจังหวัด พระในชนบททำให้รู้ว่า “พระของประชาชน” ยังมีอีกมากมายในสถาบันสงฆ์!!
………………
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย….“เปรียญสิบ” : [email protected]
Leave a Reply