ในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะตัดสินใจเสด็จออกบรรพชา เป็นวันที่พระนางยโสธารา (พิมพา) ได้ประสูติ พระราชโอรสพอดี เมื่อทรงทราบได้เปล่งอุทานออกมาว่า “ราหุ ชาโต พันธนัง ชาตัง” แปลว่า บ่วงเกิดขึ้นแล้ว พันธนาการเกิดขึ้นแล้ว อันหมายถึง พระราชกุมารที่ประสูตินี้จะเป็นเสมือนบ่วงร้อยรัดพระองค์ไว้กับภริยาและชีวิตฆราวาส ซึ่งพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา ทรงนึกว่าเจ้าชายสิทธัตถะตั้งนามพระโอรสดังนั้น จึงขนาน พระนามพระราชนัดดา (หลาน) ว่า “ราหุล” ซึ่งแปลว่า “บ่วง” ตามวาจานั้น
เจ้าชายราหุลเกิดมาก็ไม่เคยพบพระบิดา จวบจนกระทั่งพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว และได้เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ในการเสด็จครั้งนี้ พระนางพิมพา พระชายาไม่ยอมออกมาเข้าเฝ้าเช่นคนอื่นๆ พระพุทธองค์จึงได้เสด็จไปโปรดที่พระตำหนัก เมื่อได้พบ พระนางก็เข้ามากอดพระบาทร่ำไห้รำพันด้วยความเสียใจ น้อยพระทัย พระองค์จึงตรัสสอนให้ดำรงสติไว้ พร้อมแสดงธรรมเทศนาจนพระนางได้บรรลุพระโสดาปัตติผล อารมณ์แห่งความข้องใจที่คิดว่าถูกทอดทิ้งก็หมดไป จึงกราบขอขมาโทษที่ได้ล่วงเกินพระองค์ไว้ (ต่อมาภายหลังพระนางพิมพาก็ได้ออกบวชจนสำเร็จอรหันตผลเช่นเดียวกัน) ส่วนพระราหุลนั้น ในวันที่ ๗ แห่งการเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ของพระพุทธเจ้า พระนางพิมพา พระราชมารดา ได้รับสั่งบอกให้ราหุลราชกุมารทราบว่า พระพุทธองค์ คือพระบิดา ให้ตามเสด็จไปขอพระราชสมบัติในฐานะทายาทผู้สืบสันติวงศ์ พระราชกุมารเมื่อไปพบพระพุทธองค์ก็บังเกิดความรู้สึกรักใคร่ในพระบิดา มีพระทัยยินดีจึงเฝ้าเจรจาต่างๆนานา จนมิได้ทำตามคำสั่งพระมารดา ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับที่พัก จึงตามไปและได้ทูลขอตามที่พระมารดาสั่งไว้ พระบรมศาสดาเมื่อได้สดับดังนั้น จึงทรงดำริว่า “ราหุลกุมารปรารถนาทรัพย์สมบัติ อันเป็นของพระบิดา ถ้าตถาคตจะให้ขุมทองแก่เธอแล้ว ก็จะเป็นสิ่งชักนำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ด้วยเป็นสิ่งหาสาระแม้สักนิดหนึ่งก็หามีไม่ อย่ากระนั้นเลย เราจะมอบอริยทรัพย์อันประเสริฐสุดในพระพุทธศาสนานี้แก่เธอ ซึ่งจะจำให้เธอเป็นโลกุตรทายาท สืบสกุลในพุทธวงศ์นี้สืบไป” ครั้นแล้วจึงตรัสสั่งให้พระสารีบุตรเป็นผู้บวชให้ แต่เนื่องจากขณะนั้นราหุลราชกุมารมีพระชันษาเพียง ๗ ปี ยังไม่สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้ พระสารีบุตรจึงทูลถามถึงวิธีบวช พระบรมศาสดาจึงตรัสให้ใช้ วิธีติสรณคมนูปสัมปทา คือ การเปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์ ด้วยวิธีบวชดังกล่าว พระราหุล จึงได้เป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา และวิธีนี้ก็ใช้เป็นการ “บวชเณร” มาจนทุกวันนี้
สำหรับพระเจ้าสุทโธทนะเมื่อทราบข่าวภายหลังว่า พระราหุลได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก เพราะเดิมจะให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นผู้สืบราชสมบัติ พระองค์ก็เสด็จออกบวช ต่อมาจะยกให้เจ้าชายนันทะๆก็ออกบวช ครั้นจะยกให้พระราหุล ต่างก็ออกบวชตามพระพุทธเจ้าไปหมด หากเป็นเช่นนี้ต่อไป เกรงว่าบรรดาราชกุมารในศากยวงศ์อาจจะออกบวชกันหมด จนสิ้นผู้สืบราชสันติวงศ์ ดังนั้น พระองค์จึงคิดว่า ความทุกข์โทมนัสว่าจะสิ้นสกุลเช่นนี้ อาจจะเกิดกับบิดามารดาสกุลอื่นได้เช่นกัน จึงเสด็จไปตัดพ้อต่อว่า พร้อมทูลขอว่า นับแต่นี้ต่อไป ถ้ากุลบุตรใดประสงค์จะออกบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องให้บิดามารดาของผู้นั้นอนุญาตเสียก่อน มิฉะนั้นจะบวชมิได้ พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตตามที่พระองค์ขอ
หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว พระราหุลก็ตามเสด็จพระบรมศาสดา และพระสารีบุตรเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์ไปยังสถานที่ต่างๆ ได้มีโอกาสฟังธรรมเทศนามากมายหลายเรื่อง จนเมื่ออายุครบก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ วันหนึ่งท่านได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปยังป่าอันธวัน แขวงเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ได้ฟัง “จุฬราหุโลวาทสูตร” จากพระพุทธองค์ ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ท่านได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็น เอตทัคคะหรือเป็นเลิศในด้านใฝ่ศึกษา คือ เป็นผู้ชอบศึกษาหาความรู้ และเป็น ๑ ใน ๘๐ พระอสีติมหาสาวก อันหมายถึง พระสาวกผู้ยิ่งใหญ่หรือพระสาวกสำคัญ จำนวน ๘๐ รูปในสมัยพุทธกาล
การที่พระราหุลได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะดังกล่าว เล่าว่าเป็นเพราะท่านมีอัธยาศัยต่อการศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยเป็นอย่างมาก ทุกๆเช้าที่ตื่นขึ้นมา ท่านจะกำทรายจนเต็มฝ่ามือแล้วตั้งความปรารถนาไว้ว่า “วันนี้ ขอให้เราได้ฟังโอวาทจากพระพุทธเจ้า และพระอุปัชฌาย์มากมาย ดุจเมล็ดทรายในกำมือเรานี้ ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจไขว่คว้าหาความรู้ของท่าน นอกจากนี้ท่านยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ไม่ถือตนเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ มีครั้งหนึ่งพระจากชนบทจำนวนหนึ่งมาพักที่เชตวัน และเนื่องจากมีพระวินัยห้ามภิกษุนอนที่เดียวกันกับอนุปสัมบัน (ผู้มิใช่ภิกษุ) ทำให้ท่านซึ่งเป็นสามเณรไม่มีที่นอน ต้องหลบไปนอนในเวจกุฎี (ส้วม) ของพระพุทธเจ้า เพราะปฏิบัติตามพุทธบัญญัติ จนเมื่อพระพุทธองค์ไปพบเข้า จึงพาท่านกลับมาพักกับพระองค์ และทรงผ่อนปรนสิกขาบทข้อห้ามดังกล่าว จากการห้ามภิกษุอยู่ในที่เดียวกับอนุปสัมบันเกินหนึ่งคืน ขยายออกเป็นสามคืน และนอกจากท่านจะเป็นผู้ขยันหาความรู้ ว่าง่าย และไม่ถือตัวแล้ว สามเณรราหุลยังเป็นผู้มีความกตัญญูรู้คุณยิ่ง เล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านได้ทราบว่า พระมารดาที่บวชเป็นภิกษุณีประชวร จะระงับได้ด้วยการเสวยน้ำมะม่วงผสมน้ำตาลกรวด ท่านก็รับอาสาไปหามาถวายพระมารดาจนได้
ตามประวัติ พระราหุลนิพพานเมื่อใด ไม่มีหลักฐานระบุชัด ทราบเพียงว่าท่านนิพพานก่อนพระสารีบุตรพระอุปัชฌาย์ และก่อนพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงว่าอายุขัยท่านคงไม่ถึง ๘๐ ปี โดยท่านได้กราบทูลลาพระพุทธองค์ขอไปนิพพาน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ข้อมูล น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ..มติชน,DMC
Leave a Reply