คัมภีร์ใบลาน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมมีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษรที่บรรพชนไทยสร้างสรรค์ขึ้น คือเอกสารโบราณที่จารด้วยเหล็กแหลมลงบนใบของต้นลาน เชื่อกันว่าเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คัมภีร์ใบลานใช้สำหรับบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ด้าน พระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์สังคม เช่นเดียวกับ ศิลาจารึกและสมุดไทย ส่วนมากจะถูกเก็บรักษา ไว้ที่วัด บางแห่งยังคงใช้คัมภีร์ใบลานเหล่านี้เทศน์ สั่งสอนอุบาสกอุบาสิกาในวันอุโบสถ วันสำคัญทางศาสนาหรือในพิธีกรรมงานศพ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คัมภีร์ใบลานประสบปัญหา หลายด้าน อาทิ ขาดการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ ขาดองค์ความรู้ในการจัดเก็บ การบำรุงรักษาที่ถูกต้อง ทั้งยังประสบปัญหาขาดความสะดวกในการศึกษา เรียนรู้ การสืบค้น ที่ไม่มีระบบที่ชัดเจน จึงเกิดการวิจัยเชิงคุณภาพ เรื่อง รูปแบบการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนาเพื่อนำไปสู่การจัดเก็บด้วยระบบดิจิทัล โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ขึ้นโดย ตุลาภรณ์ แสนปรน เพื่อนำไปสู่การจัดเก็บด้วยระบบดิจิทัล โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรม และเพื่อเป็นแนวทางในการจัดเก็บคัมภีร์ใบลานด้วยระบบดิจิทัลโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อไปในอนาคต
ผลการศึกษาแบ่งได้เป็น ๔ ด้าน คือ ด้านการสำรวจคัมภีร์ใบลาน พบว่าวัดในเขตอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง รวม ๖๘ วัด มีความต้องการสำรวจ อนุรักษ์ ฟื้นฟูคัมภีร์ใบลานล้านนา จำนวน ๒๕ วัด และไม่ต้องการสำรวจ จำนวน ๔๓ วัด ด้านรูปแบบการจัดเก็บคัมภีร์ใบลาน พบว่า ไม่มีรูปแบบในการจัดเก็บที่ชัดเจน ไม่มีการจัดให้เป็นระเบียบหรือเป็นหมวดหมู่ บางผูกแยกออกจากกัน บางผูกตัวใบลานแยกออก เนื่องจากสายสยองที่ใช้สำหรับร้อยใบลานขาดหรือหมดอายุการใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีการห่อด้วยผ้าห่อคัมภีร์ใบลานที่มีลักษณะต่างกันตามคติความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น และเก็บรักษาไว้ตามตู้ธัมม์ หีบธัมม์
ผลการศึกษา ด้านการสร้างเครือข่าย ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานของเครือข่ายไว้ ๔ ประการ การดูแลรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู การถ่ายทอดคัมภีร์ใบลาน และ ด้านการเผยแพร่ พบว่า ปัจจุบันมีการเผยแพร่ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การนำคัมภีร์ใบลานที่สำคัญออกมาเทศน์ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การจัดนิทรรศการเชิงวิชาการ การศึกษาวิจัย การบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอน นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ในรูปแบบฐานข้อมูลในเว็บไซต์ของสถาบันการศึกษาหน่วยงานต่าง ๆ อีกด้วย
งานวิจัยนี้ ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ ๒ แนวทาง คือ ๑.ควรมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูคัมภีร์ใบลาน โดยการมีส่วนร่วมจาก ๓ ส่วน แบบ “บ ว ร” ได้แก่ บทบาทของวัดและชุมชน บทบาทของภาครัฐ และ บทบาทของคนในแวดวงวิชาการโดยมีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ปลูกฝังให้คนในชุมชนรู้สึกรักและหวงแหน ตระหนักถึงคุณค่าในการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานในชุมชนของตนเอง เพื่อเป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชน ๒.ควรมีการขยายเครือข่ายในการอนุรักษ์ คัมภีร์ใบลานเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และมีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างมูลค่าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น
>>> รายละเอียดงานวิจัยฉบับเต็ม คลิก www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/050865.pdf
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม วารสารวิจัยวัฒนธรรม
Leave a Reply