“ดร.มหานิยม” รุกอย่างต่อเนื่อง! ถกอนุกมธ.ตั้งธนาคารพุทธ นัดแรกเข้มข้นเชิญนักวิชาการทุกด้านระดมสมอง ทำประชาพิจารณ์เชิงเปรียบเทียบ ชงบรรจุข้อความสนับสนุนแก้จนตามแนวพอเพียงด้วย
วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม CA 403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา ดร.นิยม เวชกามา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 2 จังหวัดสกลนคร ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดให้คณะผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์ พิจารณาเปรียบเทียบระหว่างพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยพ.ศ.2545 กับร่างพระราชบัญญัติธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย พ.ศ….(ที่นายนิยม เวชกามา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะเป็นผู้เสนอ )
เมื่อได้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบพระราชบัญญัติกฎหมายรายมาตราอย่างละเอียดแล้ว จึงได้นำเสนอต่อ ดร.ไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ นัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการดำเนินการพิจารณางบประมาณเพื่อการจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะอนุกรรมมาธิการฯ โดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 96 ซึ่งในที่ประชุมประธานได้แจ้งต่อที่ประชุมได้พิจารณา เลือกตำแหน่งในคณะอนุกรรมาธิการ โดย นายไชยา พรหมา เป็นประธานอนุกรรมาธิการ
นายนิยม เวชกามา นายประสงค์ บูรณ์พงศ์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นอนุกรรมาธิการ และมีนายณพลเดช มณีลังกา ผู้ช่วยศาสตราจารย์เสนอ อัศวมันตา เป็นเลขานุการอนุกรรมาธิการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ เป็นประชาสัมพันธ์ และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะอนุกรรมมาธิการฯจำนวน 40 ท่านที่มาจากแวดวงคนดังในพระพุทธศาสนา ตลอดรวมถึงนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ สาขาต่างๆที่เข้าร่วมระดมความคิด หาแนวทางในการยกร่างพระราชบัญญัติธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย พ.ศ….( ที่นายนิยม เวชกามา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะเป็นผู้เสนอ ) ได้นำเสนอต่อที่รัฐสภาก่อนที่รัฐบาลนี้จะหมดวาระลง
“กระผมดีใจที่ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและเห็นความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย พ.ศ…. มาถึงวันนี้ ผมเห็นเขาร่างในความเป็นไปได้สูงครับ อย่างผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติตอบรับมาเอง และมีผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคนที่เห็นความสำคัญ ตลอดรวมถึงราชบัณฑิตอย่างศาสตราจารย์พิเศษร้อยโทดร.บรรจบ บรรณรุจิ ก็รับเชิญเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาร่วมพิจารณาศึกษา เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรค ในการดำเนินกิจการของธนาคารพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย โดยมีความมุ่งหมายเพื่อบริการแก่ประชาชนทั่วไปและให้บริการพระพุทธศาสนาควรเป็นอย่างไร” ดร.นิยม กล่าวและว่า
คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ประชุมเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยพ.ศ.2545กับร่างพระราชบัญญัติธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย พ.ศ…ที่ผมเสนอและพิจารณาควบคู่กับข้อสังเกตของผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำให้ร่างพระราชบัญญัติธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย พ.ศ… คืบหน้าไปมากครับ แต่ผมก็ยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย นักสื่อมวลชน ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายรวมถึงพี่น้องพุทธศาสนิกชน สามารถนำข้อเสนอ ข้อสังเกต ต่อคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ภายใน 60 วัน เพื่อจะได้นำร่างพรบ.ฉบับนี้ ได้ส่งต่อในรัฐบาลชุดต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการและเหตุผลแห่งร่างนั้น ได้มีที่ปรึกษาได้แสดงให้ข้อความเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปด้วย และให้คงอัตลักษณ์ความเป็นธนาคารพระพุทธศาสนาไว้ให้มากที่สุด
Leave a Reply