นายอำเภอแม่ใจ เผยความสำเร็จ “การบริหารจัดน้ำ” ผ่านโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน

วันนี้ (21 ส.ค. 67) นายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ เปิดเผยถึง ความสำเร็จของอำเภอแม่ใจ ในการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และทรงสืบสานแนวพระราชดำริในการส่งเสริมด้านการอนุรักษ์น้ำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ได้ทำการซ่อมสร้างฝายอย่างต่อเนื่อง โดยการนำข้อมูลจากระบบ Geo Social Map ของกรมโยธาธิการและผังเมือง มาใช้เป็นข้อมูลประกอบในการวางแผนดำเนินงานโครงการ ซึ่งปัจจุบันมีฝายในพื้นที่ทั้งสิ้น 1,667 ฝาย

นายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในหนองเล็งทรายมีปริมาณน้ำ 13.20 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอำเภอแม่ใจได้มีการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้หลักการ “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ร่วมกัน” โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำอำเภอแม่ใจ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยคณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมปรึกษาหารือการบริหารจัดการน้ำเป็นประจำและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ในพื้นที่อำเภอแม่ใจ ไม่เกิดสถานการณ์อุทกภัย หรือ น้ำป่าไหลหลากที่รุนแรงและสร้างปัญหาเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากอำเภอแม่ใจได้มีการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนทั้งสิ้น 267 ฝาย

“ความสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ ของอำเภอแม่ใจ มีโครงการกิจกรรม พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนเสมอมา ประกอบไปด้วย 1) กิจกรรมซ่อมสร้างฝายโดยการสนับสนุนปูนซีเมนต์จากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย จำนวนทั้งสิ้น 1,000 ลูก (โครงการอนุรักษ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา จำนวน 72 ฝาย ซ่อมแซมถนน 3,000 เมตร) 2) กิจกรรมซ่อมสร้างฝายโดยการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย จำนวน 646 ลูก (โครงการจิตอาสาอำเภอแม่ใจ ซ่อมสร้างฝายถวายในหลวง จำนวน 127 ฝาย) 3) กิจกรรมซ่อมสร้างฝายจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานต่าง ๆ (จำนวน 68 ฝาย) ซึ่งพื้นที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ได้ซ่อมสร้างฝายชะลอน้ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2566 จำนวน 1,400 ฝาย และปัจจุบันอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ได้ทำการซ่อมสร้างฝายเพิ่มเติมรวม จำนวนทั้งสิ้น 1,667 ฝาย” นายพีรัชฯ กล่าว

นายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ กล่าวต่ออีกว่า ประสิทธิภาพของฝายอำเภอแม่ใจสามารถกักเก็บน้ำเหนือฝายได้ปริมาณ 100,020 ลบ.ม. โดยสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่าและพื้นที่ได้ร้อยละ 40 ซึ่งทำให้อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีฝายชะลอน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำและดักตะกอนดินได้ถึง 100,020 ลบ.ม. ก่อนที่จะไหลลงสู่หนองเล็งทราย และแหล่งน้ำสายหลัก จึงทำให้ในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำป่าไหลหลาก หรือ น้ำท่วมขังในพื้นที่ในห้วงเวลาดังกล่าว

“การดำเนินการของอำเภอแม่ใจ สืบเนื่องมาจากโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งมุ่งหมายในการพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ และบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทุกภาคีเครือข่าย ได้ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ และร่วมรับผลประโยชน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ซึ่งอำเภอแม่ใจได้ยึดหลักการดังกล่าวดำเนินการมาโดยตลอด และที่สำคัญอำเภอแม่ใจได้รับการสนับสนุน จากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะที่ปรึกษาฯ กระทรวงมหาดไทย ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล หรือ อ.โก้ และ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ หรือ อ.หน่า ที่ได้ลงพื้นที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และได้แนะนำให้คำปรึกษา พร้อมทั้งผลักดันให้อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีความเข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนงาน สำคัญต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทยลงสู่พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ใช้กลไกลการขับเคลื่อนงานผ่าน 7 ภาคีเครือข่าย จนทำให้ประชาชนอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดความรักสามัคคี และสามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง จนนำไปสู่ความสุขของพี่น้องประชาชนและเป็นงานที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่สอดคล้องกับการดำเนินงานตามแนวทางหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มุ่งหวังที่จะสร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่พี่น้องประชาชน โดยอาศัยพลังแห่งความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน และมีการเริ่มต้นจากการคำนึงสิ่งที่จำเป็นพื้นฐาน คือ “น้ำ” ซึ่งเป็นการทำงานแบบมองภาพกว้างคิดแบบองค์รวม แล้วค่อยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ระดับหมู่บ้าน สู่ตำบล ขยายผลมาระดับอำเภอ และที่สำคัญ เป็นการดำเนินงานที่ใช้หลักคิดและการลงมือทำด้วยการสร้างฝายและบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริฯ ยึดหลักการพัฒนาตามภูมิสังคม จนเห็นผลชัดเจนว่า สามารถรองรับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เคยมีมาในอดีตได้ ในปีนี้ พื้นที่อำเภอแม่ใจ ยังไม่ประสบปัญหาจากสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก หรือ อุทกภัยต่าง ๆ ซึ่งได้ผลเป็นที่ประจักษ์และทุกฝ่ายมีความพอใจ ทั้งนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของหมู่บ้านยั่งยืนอย่างแท้จริง “นายพีรัชฯ กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply