วันที่ 17 ตุลาคม 2565 ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ ศ.ดร. ประธานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานานชาติ มจร นำเจริญสติสร้างสันติภายในและกล่าวต้อนรับคณะกรรมการตรวจประเมินศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ว่า
ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยมีการฝึกอบรมพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ย พ.ศ.2562 ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมไปตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยของ มจร อยู่ภายใต้แผ่นพัฒนาวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติในมิติของ “เงิน งาน คน”โดยมุ่งด้านกายภาพ พฤติภาพ จิตตภาพ และปัญญาภาพ สอดรับกับการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 16 เพื่อเสริมสร้างสังคมสันติสุข
จากนั้นพระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. เลขาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ดร.สุดธิดา พาดฤทธิ์ และ ดร.อุบลวรรณ ขันธหิรัญ คณะกรรมการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร นำเสนอผลลัพธ์ดำเนินของการขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร สะท้อนถึง การบริการวิชาการด้านกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในนามศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร สอดรับกับเกณฑ์มาตรฐานของตัวชี้วัดของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร
คณะกรรมการประกอบด้วย ดร.มยุรี จำจรัส ยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายอรรณพ กันทะวงศ์ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการพิเศษ นางสาวสุดารัตน์ พรหมสาร์น เจ้าหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และนางสาวณภัค เพ็งลาภ พนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เข้าตรวจประเมินมาตรฐานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร สะท้อนว่า ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ได้ผ่านประเมินมาตรฐานตามตัวชี้วัด 4 ด้าน 35 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย
ด้านที่ 1 โครงสร้างเชิงกายภาพ จำนวน 6 ตัวชี้วัด ด้านที่ 2 ด้านบุคลากร จำนวน 6 ตัวชี้วัด ด้านที่ 3 ด้านการบริหารจัดการ จำนวน 12 ตัวชี้วัด ด้านที่ 4 ด้านงานบริการ จำนวน 11 ตัวชี้วัด ซึ่งมาตรฐานของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนเพื่อวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีความมั่นใจจะได้รับการอำนวยความยุติธรรมเป็นยุติธรรมทางเลือก จากการตรวจประเมินศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ผลการประเมินคณะกรรมการลงมติให้ “ระดับดีเด่น” เต็มร้อยคะแนนตามาตรฐานตัวชี้วัด
โดยคณะกรรมการจึงมีข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร โดยเสนอว่า 1)ต้องปรับคณะกรรมการให้เหมาะสมในการทำงานเชิงรุก โดยเชิญผู้นำชุมชนมามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนด้วย 2)มุ่งยกระดับศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เป็นศูนย์ต้นแบบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3)ศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนมุ่งเชิงป้องกันมากกว่าแก้ไข 4)พัฒนาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบออนไลน์สามารถเข้าถึงได้ง่าย 5)พร้อมยกมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสันติภาพ
โดยกระทรวงยุติธรรมยกศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนต้นแบบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนต้นแบบระดับประเทศ ถือว่าเป็นศูนย์ระดับเกรด A เพราะศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร มุ่ง 2 มิติ ประกอบด้วย 1)สันติสนทนาหาทางออกร่วมกันรักษาความสัมพันธ์ 2)ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหาทางออกโดยมีกฎหมายรับรอง จึงมีการเตรียมการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยากับศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เพื่อเป็นฐานการเสริมสร้างสังคมสันติสุข
ในการประเมินผลในครั้งนี้ ว่าที่ พ.ต. ดร. สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงานยุติธรรมใน คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ที่ปรึกษาคณะกรรมการสันติบาตรสหกรณ์แห่งประเทศไทย เข้าร่วมรับฟังและให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ต่อไป
Leave a Reply