เมืองพิษณุโลกสองแคว จัดมหกรรมแห่งความสำเร็จ “โครงการ 3 ป. สู่พอเพียง”

เมืองพิษณุโลกสองแคว จัดมหกรรมแห่งความสำเร็จ เปิดนิทรรศการแสดงผลงาน “โครงการ 3 ป. สู่พอเพียง” ภายใต้โครงการอำเภอนำร่องฯ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของกระทรวงมหาดไทย

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า จังหวัดพิษณุโลก ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนความสำเร็จของชุมชนโดยกลไกบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) พิษณุโลก โดยบทบาทของผู้นำในระดับพื้นที่ทุกระดับ ในการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ผ่านกระบวนการสร้างทีมจากทุกตำบล/หมู่บ้านและชุมชนที่เข้มแข็งและเดินหน้าพัฒนาอย่างทั่วถึง ด้วยภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformative Leadership) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้นำที่สามารถดึงศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเข้มแข็งในพื้นที่แล้วลุกขึ้นมาตั้งทีมและบริหารจัดการเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าชุมชน ทั้งที่เป็นรูปธรรม (Hard Power) และนามธรรม (Soft Power) เป็นเครื่องมือในการทำให้พี่น้องประชาชนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงมหาดไทย ในการส่งเสริมการพัฒนาทีมงานผ่านโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ และสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย และเจตนารมณ์ที่จังหวัดพิษณุโลกและผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้ประกาศร่วมกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)

“เมื่อวานนี้ (21 พ.ย. 65) จังหวัดพิษณุโลก ได้มีพิธีเปิดนิทรรศการแสดงผลงาน “มหกรรมแห่งความสำเร็จ” การปรับวิถีชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ของชาวอำเภอเมืองพิษณุโลก 19 ตำบล 173 หมู่บ้าน ในการขับเคลื่อนโครงการปลุกพลังความคิดปรับวิถีชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียงเปลี่ยนเมืองพิษณุโลกสู่ความยั่งยืน (SDGs) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน (โครงการ 3 ป. สู่พอเพียง) ภายใต้โครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ และสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งอำเภอเมืองพิษณุโลก ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 18 อำเภอ ทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้มีการนำเสนอนิทรรศการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 20 แห่ง และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ได้ขับเคลื่อนจนเกิดเป็นผลิตผลของความสำเร็จจากโครงการฯ โดยมี ทีมอำเภอนำร่องฯ ภาคีเครือข่าย หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอเมืองพิษณุโลก ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ และประชาชนชาวอำเภอเมืองพิษณุโลก ร่วมในงานกว่า 1,000 คน” ผวจ.พิษณุโลก กล่าวในช่วงต้น

นายนิสิต สวัสดิเทพ นายอำเภอเมืองพิษณุโลก กล่าวว่า อำเภอเมืองพิษณุโลก ได้รับการคัดเลือกเป็นอำเภอนำร่องตามโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ และสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย ระดับกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม 18 อำเภอนำร่อง โดยนายอำเภอเมืองพิษณุโลก พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ภาคีราชการ ภาคีวิชาการ ภาคีเอกชน ภาคีประชาสังคม ภาคีประชาชน ภาคีผู้นำศาสนา และภาคีสื่อมวลชน ได้เสนอโครงการ “ปลุกพลังความคิด ปรับวิถีชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนเมืองพิษณุโลกสู่ความยั่งยืน (SDGs) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน” ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา หลักการทรงงาน ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นอกจากนี้ อำเภอเมืองพิษณุโลก ยังมุ่งเน้นการเป็นพื้นที่นำร่องเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนา “คน” เสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น และมีความทุกข์ลดน้อยลงจนหมดไป ซึ่งได้ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน มีผลสำเร็จอันเป็นรูปธรรมผ่านการขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ 1) ปลุกพลังความคิด : สร้างการรับรู้ และสร้างผู้นำระดับตำบล ปลุกพลังความคิดให้กับผู้นำทุกระดับ ทุกเวที ทุกการประชุมประจำเดือน จัดเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็นต่อแผนการดำเนินงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร : นักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ระดับอำเภอ (DCAST) 2) ปรับวิถีชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง : น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” ด้วยพลัง “บวร” “บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ” ปลูกพืชผักผลไม้และสมุนไพร และ 1 ตำบล 1 ถนนกินได้ ตามโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และจัดทำบัญชีครัวเรือน โคก หนอง นา ยกระดับการพัฒนาโคก หนอง นา ชุมชนสวัสดิการสร้างงานสร้างรายได้ ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย TPMAP และ ThaiQM ที่พัฒนาได้ให้มีรายได้เพิ่ม และการตั้งกองทุนสวัสดิการ ปันน้ำใจ ช่วยเหลือสังคม สำหรับกลุ่ม TPMAP ที่พัฒนาไม่ได้ กลุ่มเปราะบาง และผู้ประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ จัดตั้งธนาคารพันธุกรรมพืช ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพ (วังส้มซ่า Bio Bank) ศูนย์ธนาคารเมล็ดพันธุ์ผักอำเภอเมืองพิษณุโลก (ตำบลจอมทอง) และจัดตั้งธนาคารพันธุกรรมพืช ทุกตำบล ตลาดประชารัฐ จัดตลาดริมน้ำบริเวณหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่) รวมทั้งการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากกิจกรรม “ชินะราชา เบิกฟ้า เสริมบุญ ตักบาตรรับอรุณ หน้าวิหารเสริมพลังศรัทธา @เมืองสองแคว” ทุกเช้าวันเสาร์ ณ บริเวณหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร การจัดพื้นที่การเรียนรู้ชุมชนพัฒนา เป็นแปลงสาธิตต้นแบบในการดำเนินกิจกรรมบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง แหล่งขยายพันธุ์ข้าวหลากสี ข้าวพันธุ์พื้นถิ่นกว่า 50 สายพันธุ์ และเป็นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตพร้อมกับเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ เป็นตลาดประชารัฐ และส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรต่อไป และ 3) เปลี่ยนเมืองพิษณุโลกสู่ความยั่งยืน : ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนพัฒนาแบบยั่งยืน (Somsa Sustainable Community Learning Center) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกันเป็นลักษณะเครือข่าย เป็นศูนย์เรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นตามลำดับ และเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับที่อื่น ๆ นำไปเป็นต้นแบบได้อย่างยั่งยืน อีกด้วย

ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดพิษณุโลกมีความภาคภูมิใจและชื่นชมในการขับเคลื่อนและความตั้งใจ ความรักความสามัคคีของพี่น้องประชาชนและภาคีเครือข่ายของอำเภอเมืองพิษณุโลก ที่มุ่งมั่นตั้งใจด้วยแรงปรารถนา (Passion) ให้เกิดการ Change for Good เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอเมืองพิษณุโลก ผ่านการร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินโครงการ “ปลุกพลังความคิด ปรับวิถีชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนเมืองพิษณุโลก สู่ความยั่งยืน (SDGs) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน” หรือ 3 ป. สู่พอเพียง จนประสบผลสำเร็จเกิดผลเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และการดูแลพึ่งพาอาศัยกันด้วยพลังของชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีทุกข์น้อยลงจนหมดไป ความสุขเพิ่มมากขึ้น ดังปณิธานมหาดไทย “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และจะได้ขยายผลสิ่งดี ๆ ผ่านการนำเสนอนี้ไปยังพี่น้องประชาชนอำเภออื่น ๆ เพื่อให้เกิดกระแสและความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ อันจะยังผลให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป

Leave a Reply