สัมภาษณ์พิเศษ :  เจาะลึกแผนพัฒนา มจร. ปัจจุบันสู่อนาคต!!  

ในแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ระยะที่ 13 ซึ่งได้กำหนดระยะเวลาไว้ 5 ปี คือเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2566 -2570 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้เป็น “มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่และสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม” หมายถึง การเป็นมหาวิทยาลัยที่ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ ในการขับเคลื่อนพันธกิจเพื่อสร้างพุทธนวัตกรรมการพัฒนาจิตใจ และสังคม ซึ่งแผนพัฒนามหาวิทยาลัยฉบับนี้ ได้ระดมความคิดเห็นจากบุคลากรของมหาวิทยาลัยในทุกภาคส่วน ในการกำหนดกรอบวิสัยทัศน์ โดยมีการเชื่อมโยงกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 อันสอดคล้องกับแผนพัฒนาการอุดมศึกษา สอดคล้องกับการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษากลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา

สำหรับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ “มจร” เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2430  เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุ สามเณรและคฤหัสถ์  ต่อมา ในปีพุทธศักราช 2540  ได้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล และเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยได้แบ่งพัฒนาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ออกไว้เป็น 6 ช่วงยุคสมัย คือ พ.ศ.2430 ยุค ก่อตั้งมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2526 ยุครับรองปริญญาบัตรและสถานะของมหาวิทยาลัย พ.ศ.2540 ยุคพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2541-2558 ยุคเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ พ.ศ.2559-2564 ยุคพัฒนาความรุ่งเรื่องของการเป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัย และ พ.ศ.2566-2570 มหาวิทยาลัยกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่และสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม”

ทีมข่าวพิเศษThebuddh” นัดสัมภาษณ์พูดคุย กับ “พระราชวัชรสารบัณฑิต” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สืบเนื่องจาก “เจ้าคุณประสาร” ถือว่าเป็น “คีย์แมน” สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ ทั้งเป็นมีส่วนสำคัญในการร่างแผนฉบับนี้ ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา  “มจร” เป็นองค์กรที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ระดับโลก มีเครือข่ายมากที่สุดในประเทศไทย มีงบประมาณแผ่นดินกว่า 1,600 ล้านบาท มีวิทยาเขตครอบคลุมกว่า 45 จังหวัด มีสถาบันสมทบต่างประเทศอีกไม่ต่ำกว่า 5 ประเทศ มีนิสิตนักศึกษาประมาณ 20,000 รูปคน ซ้ำมีนิสิตนานาชาติจากทั่วโลกมาเรียนที่ “มจร” มากกว่า 1,300 รูป/คนจาก 28 ประเทศ

“เจ้าคุณประสาร” หรือ พระราชวัชรสารบัณฑิต นัดสัมภาษณ์พบทีมงานเวลา 09.30 น. แต่กว่าจะได้สัมภาษณ์พูดคุยเกือบ 11.00 น. เนื่องจากมีผู้คนทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์มาคอยพบหลายครั้ง มีการประชุมต่อเนื่อง แต่เมื่อถึงเวลาสัมภาษณ์ท่านพูดคุยด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและเป็นกันเองเช่นเคย เมื่อทีมงานยิงคำถามแรกว่า วิสัยทัศน์ มจร ที่กำหนดไว้ว่า ““มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่และสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม” มีที่มาที่ไปอย่างไร และภายใต้วิสัยทัศน์นี้ผู้บริหารจะนำพา มจร ไปทางไหน รายละเอียดพูดคุยกันมี ดังนี้

ก่อนที่จะพูดถึงความมาเป็นของแผนที่ 13 อาตมาขอย้อนกลับไปที่แผนพัฒนามหาวิทยาลัยฉบับเดิมก่อนว่า พอเราทำแผนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฉบับที่ 12 มาแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฝ่ายแผนของ มจร ต้องประเมินแผน 12 เป็นทั้งปีต่อปีและ ประเมินรวบยอดห้าปี ว่าที่ผ่านมาเราเป็นอย่างไร จุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร โอกาสเป็นอย่างไร ภัยคุกคามเป็นอย่างไร ในการกำหนดแผนฉบับที่ 12  มจร ได้กำหนดไว้ว่า เราจะเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาระดับโลก พอมาถึงแผนฉบับที่ 13 เป็นแผนที่กล้าพูดว่ามาจากประชาคมของมหาจุฬาฯ อย่างแท้จริง เริ่มมาจากการที่เราตั้งคณะกรรมการ ที่เรียกว่าคณะทำงานมาจากทุกภาคส่วน ทั้งส่วนกลาง วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ในส่วนของวิทยาลัยสงฆ์ของมหาจุฬาฯ เรามีโซนภาคกลาง โซนภาคเหนือ และภาคอีสาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ในแต่ละโซนเราก็ให้เขาคัดเลือกผู้แทนเข้ามา สิ่งแรกที่เมื่อเลือกเข้ามาแล้วจะต้องเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมของเรา  ซึ่งกระบวนการทำแผนฉบับที่ 13 ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเราเริ่มต้นจากการตั้งคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และผู้ทรงคุณวุฒินี้ก็มาจากทั้งส่วนภายในและภายนอก ผู้ใหญ่ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยนี้เขามองเราอย่างไร เขาอยากเห็นมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร ต่อจากนั้นก็มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทั้ง 4 ภูมิภาค คือ โซนภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก แล้วเข้าสภามหาวิทยาลัยมาอย่างน้อย 4 ครั้ง เมื่อผ่านเสร็จแล้ว เราก็ขอกลับไปทำประชามติในหมู่ชาวมหาจุฬาฯอีก อันนี้คือกระบวนการจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฉบับที่ 13 ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและเชื่อมโยงกับแผนของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

“จึงกล้าพูดได้ว่าแผน 13 นี้ เป็นแผนที่มาจากการร่วมคิดร่วมทำของพวกเราชาวมหาจุฬาฯ  มีภาคประชาสังคมก็คือ องค์กรทั้งหลาย ในมหาจุฬา  ฯ มีส่วนร่วม ฝ่ายแผนไม่มีสิทธิ์เลย เราแค่เป็น “ตัวกลาง” ที่สะท้อนว่าอะไรที่มันถูกต้อง และที่สำคัญจะเดินหน้าไปได้อย่างไร เพราะ พวกนี้จะเกี่ยวข้องกับงบประมาณ ถ้าเราไม่ทำตาม กรอบกว้าง ๆ เราก็ต้องทำแบบนี้เพราะอย่างไรเสีย เราต้องใช้คืนกลับชาติ ต่างจากวิทยาเขตวิทยาลัยสงฆ์ เมื่อเขาจะทำแผนของเขา ซึ่งหลังจากนี้เมื่อเราทำแผน 13 เสร็จเรียบร้อยแล้ว วิทยาเขตวิทยาลัยสงฆ์ เขา จะต้องเหมือนกับเรา ต้องมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน และอยากบอกอีกเรื่องหนึ่งว่า ในแผน13 นี้ บางคนวิจารณ์ว่า ศัพท์บางศัพท์ไม่แหลมคม บางทีเป็นศัพท์ทางวิชาการ ต้องทำให้อ่านแล้วเข้าใจ ไม่ต้องตีความหมาย และนี้คือครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยทำแผนแล้วมีการประชามติแบบนี้..”

นิยมความหมายของพุทธนวัตกรรม -เป้าหมาย

พุทธนวัตกรรม ความหมายก็คือ ต้องให้คำนิยามมา พุทธนวัตกรรมคือ สิ่งที่ถูกปรับปรุง หรือพัฒนาขึ้นใหม่ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพิ่มมูลค่า สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพใจ สุขภาพกาย รวมไปถึงอาชีพและชุมชน เช่นสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์เคยทำ เครื่องจักร ในการเก็บคัมภีร์โบราณ เพราะไม่อย่างนั้นเราจะวิจัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย มันเป็นคำตอบเดียวกัน ไม่ใช่การทำขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการที่จะทำอย่างไร จึงจะกระจายออกไปได้

ภายใต้แผนการพัฒนาฉบับที่ 13  มจร จะไปทางไหน?

“มันเป็นความหนักใจอยู่ ว่าบูรพาจารย์ ท่านทำเรื่อง การศึกษาพระพุทธศาสนาระดับโลกไว้เราก็ประเมินมาพอสมควร ที่นี้เรามาให้ความสำคัญทางด้านพุทธนวัตกรรม แท้ที่จริงแล้ว ไม่ต่างกันเลย การศึกษาพระพุทธ ศาสนา บูรณาการกับศาสนาสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม ก็เป็นตัวเดียวกันเพียงแต่เรามองว่า งั้นให้สร้างเรื่องสิ่งใหม่ๆ ให้ปรับปรุงสิ่งใหม่ ๆ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านผลผลิต กระบวนการ การให้บริการ การบริหารจัดการ เพื่อนำไปสู่คุณค่า การเพิ่มคุณค่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้านสุขภาพใจสุขภาพกาย รวมไปถึงอาชีพในชุมชน อันนี้ต่างหากที่เพิ่มเข้ามา แต่แท้ที่จริงแล้ว ถ้ามองย้อนกลับไป ตั้งแต่ 2430 รัชกาลที่ห้าทรงสถาปนาขึ้นเป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและ วิชาการชั้นสูงไม่ต่างจาก สถานบันแห่งนี้เลย  ซึ่งจริง ๆ แล้วคำว่าสถาบันพระพุทธศาสนาระดับโลก สมควรแล้ว ทีนี้ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนที่จะมีวิสัยทัศน์เดิม ๆ อยู่ 10 ปี 20 ปี ก็เป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยวิสัยทัศน์นี้เราใช้มาแล้ว 8ปี แต่ว่าอันใหม่คำว่า “พุทธนวัตกรรม”นี้ ส่งผลต่อการพัฒนาจิตใจและสังคม ฐานก็มาจากการศึกษาพระไตรปิฎก และเราเอามาแปลงเป็น ศาสนาบูรณาการสมัยใหม่เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม เป้าหมายยังอยู่ที่เดิม ฐานก็ยังอยู่ที่เดิม เพียงแค่ปรับ ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น..”

การพัฒนาคุณภาพบุคลากร-รองรับนิสิตนานาชาติ

บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ  ฝ่ายวิชาการ และ ฝ่ายสนับสนุน สำคัญที่สุดคือฝ่ายวิชาการ วันนี้ฝ่ายวิชาการจะต้องพัฒนาตัวเอง โลกมันไปไกล หมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกวัน วิชาการเจริญก้าวหน้าไปทุกวัน ฝ่ายวิชาการคืออาจารย์ที่นำความรู้ไปให้นิสิตในห้องเรียนจะต้องพัฒนาตนเอง รวมทั้งเข้าใจคำว่าพุทธนวัตกรรม เดินหน้าพุทธนวัตกรรมด้วย แล้วอาจารย์เองไม่มีสิทธิ์ที่จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญกว่านั้นคือเราเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านพระพุทธศาสนา คุณธรรมจริยธรรมและ ศีลธรรม ธรรมาภิบาล เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนฝ่ายสนับสนุน จะต้องมีความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ว่าอะไรคือการสนับสนุน อะไรคือการดูแล อะไรคือการส่งเสริม เพื่อให้ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้ดี ข้อเท็จจริงแล้วครูบาอาจารย์ ล้วนมาจากมหาวิทยาลัย ผลผลิตมาจากการผลิตบัณฑิต ฉะนั้นตัวบัณฑิตจะเป็นตัวบอกประสิทธิภาพ

สำหรับเรื่องนิสิต โลกวันนี้เป็นโลกใหม่ นิสิตที่มาเรียนวันนี้ ระหว่างที่อาจารย์สอน เขาก็เปิดอะไรดูเยอะแยะไปหมด แข่งกับอาจารย์ ถ้าอาจารย์สอนเขาเพียงแต่ว่ามันมีอย่างนี้ๆ เขาไม่ต้องมาเรียนก็ได้ เขาอ่านเอาก็ได้ แต่เขาอยากได้สิ่งที่มันพิเศษ เช่นการวิเคราะห์ วิธีคิด แนวคิด แบบอย่าง วิธีการที่เรียกโดยรวมว่า “ไอดอล” ต่างหากที่เขาต้องการ ฉะนั้นคุณภาพของนิสิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เริ่มจากการหล่อหลอมจากสถาบัน  สถาบันก็หล่อหลอมไปที่อาจารย์ อาจารย์หล่อหลอมไปที่นิสิต

แผนการพัฒนาคุณภาพอาจารย์เพิ่งผ่านสภามหาวิทยาลัยคราวที่แล้วเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา สภามหาวิทยาลัย นอกจากงบประมาณที่จัดสรรไปตามส่วนต่างๆคืองบประมาณที่จัดสรรไปเพื่อให้พัฒนาบุคลากร ไม่ว่าจะจัดอบรม เพิ่มเติมเรียนรู้ ไปทำวิจัย ล้วนแล้วแต่เป็นงบพัฒนาบุคลากรทั้งนั้น  ในงบพัฒนาบุคลากรก้อนนี้ มีเรื่องอบรมบุคลากรเข้าใหม่ และผู้บริหารระดับต้น กลาง สูง  ในข้อบังคับบอกเลยว่าให้ไปอบรมที่วิทยาเขตวิทยาลัยสงฆ์นอกที่ตั้ง ไม่อย่างนั้นรองอธิการบดีจะไม่ได้อบรม การพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญ นิสิตได้ประโยชน์อะไร เพราะผลผลิตเป็นนิสิต นอกจากนี้เเล้วประชาชนได้อะไร ประเทศชาติได้อะไร เพราะคุณเอาภาษีของประชาชนทั้งประเทศ   สำคัญที่สุด มหาจุฬาฯนี้อาจจะไม่เหมือนทั่วไป ทั่วไปคือinput procees output แต่ของมหาจุฬาฯในแผนจะต่างจากที่อื่นคือพอ outputแล้ว ต้องมี impact ด้วย หมายถึงว่าเมื่อจบไปแล้วหลายแห่งก็จะประเมินแค่ขบวนการแล้วออกไป แต่ของเราประเมินไปถึงขึ้นว่ามีผลกระทบอะไรต่อผู้คน  จบมาแล้วเป็นพระอยู่วัดแล้ววัดได้ประโยชน์อะไรจากคุณ สำนักเรียนได้ประโยชน์อะไรจากคุณ อันนี้เป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว ทั้งคุณภาพของบุคลากรและนิสิตมันใกล้เคียงกัน และฝ่ายแผนได้สนับสนุนอะไร ได้ดูแลอะไร ได้ให้งบ และให้อื่นๆ เพื่อให้สามารถเดินหน้าสู่การพัฒนาตนเองและนำไปสู่การพัฒนานิสิต

 อยากเห็นประชาคม “มจร” ร่วมขับเคลื่อน มจร อย่างไร??

พูดได้ว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยของเราผ่านมาแล้ว 4 ยุค ยุคก่อตั้ง ต่อมาคือการก่อร่างสร้างตัว และในยุคของพระพรหมบัณฑิต นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่มหาวิทยาลัย ต่อจากนี้คือยุคที่เราจะต้องสืบสานต่อยอดให้เดินหน้าไปได้ แน่นอนต้องยอมรับว่า เมื่อผู้ใหญ่ท่านถอยออกไปไม่รับตำแหน่ง ในบ้านก็จะมีพี่ มีคนเสมอกัน มีน้อง ก็ธรรมดาว่าบ้านเหมือนขาดพ่อ มันก็จะมีเสียงโน้นเสียงนี้เข้ามาซึ่งเป็นเรื่องปกติ ที่ไหนไหนก็เป็นเเบบนี้ แต่ต้องถามว่าระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้เราเดินหน้ามาได้ดีหรือยัง เรามีเป้าหมายไหม เราชัดเจนไหม เราได้ทำร้ายใครไหม เราทิ้งระบบธรรมาภิบาลไหม การที่มีตำแหน่งของผู้คน มันไม่ต่างจากวงการอื่นๆ คำว่าไม่ต่าง ไม่ได้หมายถึงว่าไปแย่งชิง แต่มีความหมายว่าตำแหน่งมีตำแหน่งเดียว แต่คนผิดหวังมีมากและมีความคิดว่าเอาเกณฑ์อะไรมาวัด เรื่องที่สอง การที่เราอยู่รวมกันวันนี้ ความรู้สึกส่วนตัวของอาตมาคือถึงวันนี้เรามีความสามัคคีมากกว่า เราเป็นปึกแผ่นมากแล้ว จะมีอะไรบ้างนิดหน่อยก็เป็นเรื่องของพี่น้อง เป็นเรื่องของคนในครอบครัวเรา เราไม่มีข้อขัดแย้ง ไม่มีเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ไม่มีการแก่งแย้งกันจนเป็นปัญหา ข้อที่สาม อาตมาคิดว่า พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีคนปัจจุบันท่านได้นำพามหาวิทยาลัย ในช่วง5-6ปีมานี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว สามารถเดินหน้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ ด้านอุดมศึกษา เราเดินหน้ามาไกล ทุกคนมีความภูมิใจในความเป็นมหาจุฬาฯ จุดแข็งของท่านอธิการบดีคนปัจจุบันท่านเก่งทางด้านวิชาการมาบวกกับการบริหาร มีความตรงไปตรงมาที่เป็นมาตั้งแต่สมัยยังดำรงตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมาหลายสมัย เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมา 12 ปี จนกระทั่งมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี ไม่มีใครเคยสงสัยท่านเรื่องความตรงไปตรงมาของท่าน  นอกจากนั้นวัฒนธรรมที่ท่านสร้างขึ้นมาเรื่องความตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ เรื่องพวกนี้จะเป็นบันไดหล่อหลอมให้คนในองค์กรรักกัน รับผิดชอบด้วยกัน ไปด้วยกัน แล้วเดินหน้าไปสู่เป้าหมายด้วยกัน “อาตมายืนยันว่าความเป็นพี่น้องยังอยู่ ยังรักกัน เดินหน้าและมีเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วมกัน ส่วนเรื่องจะมีปัญหาภายในบ้านนั้นเป็นเรื่องปกติ หากไม่มีแสดงว่า ผิดปกติแล้ว พูดจากใจเลยว่าตอนนี้การทำงาน ผลงานในภาพรวมคือ “พอใจ” ไม่อายที่พวกเราเป็นส่วนช่วยท่านอธิการบดีจัดการบริหารมหาวิทยาลัย และเราจะทำอย่างเต็มที่ต่อไปให้เป็นที่ยอมรับของสังคม..”

สำหรับการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยตามแผนพัฒนาฉบับที่ 13 นี้ กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 5 ยุทธศาสตร์ เช่น ยุทธศาสตร์ที่ 1 จัดการศึกษา พัฒนาบัณฑิตให้มีสติปัญญาและคุณธรรม ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรตามหลักธรรมมาภิบาล เป็นต้น พร้อมกับวางแผนการขับเคลื่อนตลอดแผนระยะ 5 ปีไว้ โดยปี 2566 ก่อให้เกิดการรับรู้และมีทิศทางการดำเนินงาน เพื่อมุ่งวิสัยทัศน์ร่วมกัน ตามพันธกิจส่วนงาน ปี 2567 ร่วมพัฒนา ยกระดับองค์ความรู้ส่วนงานพัฒนาเป็นพุทธนวัตกรรม ปี 2568 มีพุทธนวัตกรรม ครอบคลุมทุกพันธกิจและนำไปใช้ประโยชน์ ปี 2569 มีการประเมินผลลัพธ์การใช้พุทธนวัตกรรมตามพันธกิจ และในปี 2570 ซึ่งเป็นสุดท้ายของการใช้แผนฉบับนี้ได้กำหนดไว้ว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ฉบับนี้จะส่งผลให้พุทธนวัตกรรมมีผลต่อการพัฒนาจิตใจและสังคม มีผลลัพธ์ที่วัดความสำเร็จได้..

แผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยระยะที่ 13 ที่กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่าเป็น “มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่และสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม” จะเกิดผลเสร็จหรือบรรลุเป้าหมายตามที่ประชาคมชาวมหาจุฬา ฯ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ หรือไม่ คำตอบไม่ได้อยู่ที่วิสัยทัศน์สวยหรู หรือในแผนพัฒนา ฯ ที่เป็นเพียงกระดาษ แต่คำตอบอยู่ที่ชาว “มจร” ทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ร่วมทั้งทุกภาคีเครือข่าย ต้องร่วมกันขับเคลื่อน รวมพลังใจ พลังกาย พลังความรู้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วความคาดหวังตามวิสัยทัศน์นี้ก็จะประสบความสำเร็จบรรลุเป้าได้อย่างไม่ยากเย็นนัก..แล้วเมื่อนั่นบุรพาจารย์ สังคมชาวพุทธ ก็จะยกย่องเชิดชู “มจร” ในฐานะเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาโลกได้อย่างแท้จริง..

 

 

 

Leave a Reply