ฟังพระเล่า : วิกฤตใหญ่ที่ไทยกำลังเผชิญ!!

วันที่ 12 มีนาคม 67  เพจสติ ได้นำคำบรรยายของ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งได้พูดถึง “วิกฤตใหญ่ที่ไทยกำลังเผชิญ” ซึ่งสำรวจโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและธนาคารโลก ว่า

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีข่าวเล็ก ๆ อยู่ข่าวหนึ่ง ที่จริงไม่ควรจะเป็นข่าวเล็ก น่าจะเป็นข่าวใหญ่ เพราะเป็นเรื่องราวข่าวคราวข้อมูลเกี่ยวกับคนไทยทั้งประเทศ แล้วก็มีผลกระทบหรือเกี่ยวข้องกับตัวเราเองหรือว่าลูกหลานของเราถ้วนหน้าเลย แล้วก็เป็นข่าวที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ น่าเป็นห่วง

ก็คือธนาคารโลก กับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเขาเปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับทักษะพื้นฐานของคนไทยทั้งประเทศ เป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการดำเนินชีวิต จะเรียกว่าเพื่อความอยู่รอดในสังคมสมัยใหม่ก็ได้

แต่ว่ามากกว่านั้นก็คือเพื่อชีวิตที่ปกติสุขด้วย เขาเรียกว่าเป็นทักษะพื้นฐานหรือว่าบางทีก็ใช้คำว่าทักษะทุนชีวิตเลย ซึ่งเป็นคำใหม่ เป็นทักษะที่เป็นต้นทุนสำหรับการดำเนินชีวิต มีอยู่ 3 อย่าง  1) ทักษะด้านการอ่าน  2) ทักษะด้านดิจิตอล  3) ทักษะทางสังคมและอารมณ์

ทักษะด้านการอ่าน และทักษะด้านดิจิตอล คนไทยเกือบ 70%  มีความสามารถต่ำกว่าเกณฑ์ ต่ำกว่ามาตรฐาน นับว่าไม่ใช่น้อยเลย เท่ากับค่อนประเทศเลย ทักษะด้านการอ่านเขาไม่ได้หมายถึงเฉพาะอ่านออกหรือรู้หนังสือ แต่รวมถึงการเข้าใจแล้วก็นำไปปฏิบัติได้ ฉะนั้นเขาให้อ่านฉลากยา ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทุกคนจะต้องอ่านเป็น แล้วเข้าใจ เอาไปปฏิบัติถูก คนไทยจำนวนไม่น้อยอ่านไม่ออก หรือที่อ่านนั้นถึงจะอ่านออกก็ปฏิบัติไม่ถูก ไม่เข้าใจ ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก

ส่วนทักษะด้านดิจิตอล เขาไม่ได้หมายถึงเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือเป็น ออนไลน์เป็น สามารถใช้ Facebook โซเชียลมีเดียได้ แต่เขายังหมายถึงว่าสามารถใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ดิจิตอลได้ เช่น ค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์หรือว่าสามารถจะเอามาใช้หาข้อมูลที่จำเป็นกับการดำเนินชีวิตทุกอย่าง

ตัวอย่างเช่น เขาให้โจทย์มาเกี่ยวกับราคาค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งก็มีหลายตัวอย่าง ปรากฏว่าส่วนใหญ่ไม่สามารถจะบอกได้ว่าค่าบริการโทรศัพท์ของหน่วยงานใดมันถูกที่สุด คือไม่สามารถจะเปรียบเทียบได้

แล้วยังรวมถึงความสามารถในการค้นหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตก็ยังทำไม่ได้ หาข้อมูลเกี่ยวกับดาราคู่จิ้นนั้นไม่ยาก แต่พอหาข้อมูลที่เกี่ยวกับรายจ่ายรายได้หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ทำไม่เป็น เปรียบเทียบไม่ได้ว่า อะไรดีกว่าอะไร อะไรถูกกว่า 70% ความสามารถต่ำกว่าเกณฑ์

ส่วนทักษะด้านอารมณ์ เขาหมายถึงว่า การรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น รู้ว่าคนที่เรากำลังเกี่ยวข้องเขามีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร แล้วควรจะปฏิบัติกับเขาอย่างไร ควรจะพูดจาอย่างไร คือทักษะด้านการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่น

ที่สำคัญรวมถึงทักษะด้านจัดการกับอารมณ์ของตัวและแก้ทุกข์ของตัวได้ อันนี้ดีหน่อย ดีหน่อยหมายความว่าแย่น้อยหน่อย 30% ของคนไทย มีความสามารถด้านนี้ทักษะด้านนี้ต่ำกว่าเกณฑ์

ที่ว่ามา 2 ทักษะแรก ต่ำกว่าเกณฑ์ถึง 70% ซึ่งมันน่าคิดว่าคนไทยเรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาลเลยก็ว่าได้ เด็กอนุบาลคือตั้งแต่เล็ก 2-3 ขวบก็เข้าอนุบาลแล้ว หรือว่าเข้าพรีอนุบาลแม้กระทั่งในชนบท ซึ่งโรงเรียนอนุบาลก็ไม่ได้สอนอะไร ไม่ได้ให้เด็กเล่นแต่ให้เด็กอ่านหนังสือ

เด็กไทยอ่านหนังสือตั้งแต่เล็กในขณะที่เด็กยุโรปเล็ก ๆ อนุบาลเขาไม่ให้อ่านหนังสือ เขาให้เล่นให้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกและชีวิต แต่เด็กไทยเรียนหนังสือตั้งแต่เล็ก เข้าเรียน อ่านออกเขียนได้ตั้งแต่อนุบาล แล้ววัน ๆ หนึ่งแม้เด็กประถมเด็กมัธยมก็เรียนกันหลายชั่วโมง ยังไม่นับที่เรียนพิเศษ

เด็กไทยใช้เวลาในการเรียนหนังสือในห้องเรียนเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สิงคโปร์ ฟินแลนด์ หรือว่าสวีเดน จำนวนวันที่เด็กเรียนหนังสือน้อยกว่าของไทยเยอะเลย แต่ทำไมเด็กไทยหรือคนไทยกลับมีทักษะด้านการอ่านแย่

อันนี้ยังไม่ได้ทดสอบทักษะด้านภาษาต่างประเทศ เราก็เรียนตั้งแต่เล็ก แต่ว่าภาษาอังกฤษของเราต่ำมาก แพ้เวียดนามหลายช่วงตัวเลยทีเดียว ทั้งที่เวียดนามเกิดศึกสงครามมา 30 ปี เพิ่งจะเริ่มพัฒนาประเทศจริงจังก็เมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่เขาไปไกลแล้วด้านภาษา ยังไม่ได้พูดเรื่องภาษาต่างประเทศ เอาแค่ภาษาไทย อ่านรู้เรื่องแต่ว่าเข้าใจความหมายได้น้อยมาก

แล้วทักษะด้านดี ๆ ก็แปลกที่คนไทยใช้โทรศัพท์มือถือ ใช้โซเชียลมีเดียวันหนึ่งหลายชั่วโมง ติดอันดับต้น ๆ ของโลกเหมือนกัน แต่ทำไมทักษะด้านนี้ถึงต่ำมาก หรือว่าเราใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อการเสพสุข หรือว่าเพื่อการปรนเปรอ เพื่อความสนุกสนาน แต่ไม่ได้ใช้เพื่อการค้นหาข้อมูล เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต

อันนี้นอกจากจะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความบกพร่องในการเรียนรู้ของคนไทย มันยังสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของการเลี้ยงดู หรือการให้การศึกษาแก่เยาวชน เริ่มตั้งแต่ครอบครัวจนถึงโรงเรียนเลย พ่อแม่คงไม่ค่อยได้เลี้ยงดูให้การศึกษาลูกเท่าไหร่

โรงเรียนก็เหมือนกัน เด็กไทยเรียนหนังสือเยอะแต่ว่าความรู้ อ่านออกเขียนได้ด้านภาษาต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งด้านคณิตศาสตร์ การคำนวณ ก็เรียกว่าถดถอยมาก

แต่แปลกทักษะประการที่ 3 ซึ่งไม่ค่อยได้เรียน หรือว่าสอนกันในโรงเรียน คือ ทักษะด้านสังคมและอารมณ์ คนไทยจำนวนน้อยกว่าที่มีทักษะด้านนี้ต่ำกว่าเกณฑ์ คือ 30% แสดงว่าคงจะเรียนรู้จากวัฒนธรรม จากสังคม แต่ว่าก็ยังเรียนรู้ไม่พอ ไม่อย่างนั้นมันไม่มีตัวเลขแบบนี้

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ซึ่งทำให้หลายคนเขาวิตกมาก เฉพาะมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ  เขาบอกว่า ความตกต่ำด้านทักษะของคนไทยหรือทักษะด้านพื้นฐาน ถ้าคิดเป็นตัวเงินแล้วก็ประมาณ 20% ของ GDP หรือของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ก็หลายหมื่นล้านหรือแสนล้านเลยทีเดียว

ถึงบอกว่ามันเป็นข่าวใหญ่ ที่ไม่ควรจะเป็นข่าวเล็ก ๆ ที่พ่อแม่ หรือว่าโรงเรียน ครูบาอาจารย์ควรจะตื่นตัว แล้วก็ตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรการศึกษาของเรามันถึงจะดีขึ้นกว่านี้ ปฏิรูปกันมาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ในช่วง 40 ปี แต่ว่ามันไม่ได้ดีขึ้นเลย มีคนเขาบอกว่ามันต้องยกเครื่องแล้ว ไม่ใช่ปะผุ ซ่อมตรงนี้ทีแก้ตรงนั้นที

แต่ว่าเรื่องนี้ก็ไม่ค่อยได้มีผู้นำประเทศนี่สนใจเท่าไหร่ กระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นคนที่มีความสามารถด้านนี้ มาเป็นรัฐมนตรีก็เพียงเพราะมีตำแหน่งให้ลง แต่ว่าไม่ได้มีความสนใจที่จะผลักดันขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่รัฐมนตรีก็ไม่พอถ้าหากว่าระบบราชการทั้งหมดยังเป็นอย่างที่เป็นอยู่ ก็คงยาก.

 

Leave a Reply