ศน.จัดอบรมพัฒนาสมรรถนะ “พระธรรมวิทยากร” 

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 วานนี้เวลา 13.00 น. กรมการศาสนาจัดพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาสมรรถนะพระธรรมวิทยากรในการเผยแผ่ธรรมะ ประจำปี พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 สิงหาคม 2567 โดยมีพระพรหมวัชรวิมลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ประธานฝ่ายสงฆ์ นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา และพระธรรมวิทยากรจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 160 รูป ร่วมพิธี ณ วัดบรมสถล เขตสาทร กรุงเทพมหานคร

นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) เปิดเผยว่า พระธรรมวิทยากร ของกรมการศาสนา เป็นกลุ่มพระสงฆ์ที่มีบทบาทและพลังสำคัญต่อการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ทั้งยังเป็นกลไกขับเคลื่อนเครือข่ายขยายผลความดี บ่มเพาะเสริมสร้างคุณธรรมให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน ให้เกิด “คนดี สังคมดี” ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ โครงการพลังบวรในมิติศาสนา และกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน เป็นต้น

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อว่า กรมการศาสนา ได้ส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระภิกษุสงฆ์ จึงร่วมกับสถาบันส่งเสริมและเผยแพร่การพระศาสนาแห่งประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาสมรรถนะพระธรรมวิทยากรในการเผยแผ่ธรรม เพื่อให้พระธรรมวิทยากรเครือข่ายกรมการศาสนาทั่วประเทศ จำนวน 160 รูป มีศักยภาพในการใช้เทคนิคการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และมีความมั่นใจที่จะนำองค์ความรู้ที่มีไปขยายผลกับเด็ก เยาวชน และประชาชน เปิดโอกาสให้พระธรรมวิทยากรได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติงาน โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 สิงหาคม 2567 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 29 – 31 สิงหาคม 2567 ณ วัดบรมสถล เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ กรมการศาสนาได้จัดทำหลักสูตรการอบรมถวายรู้และได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความชำนาญในการถ่ายทอดความรู้และทักษะต่าง ๆ ให้แด่พระธรรมวิทยากร อาทิ “กระบวนการพัฒนางานเผยแผ่พระพุทธศาสนา” “พุทธธรรม soft power” “การเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามช่วงวัยในสังคมปัจจุบัน””การสื่อสารเพื่อสร้างศรัทธา พัฒนาชีวิตตามแนวพุทธ” “เทคนิคการสร้าง content ในการเผยแผ่ธรรมะ” “นวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา” “การบูรณาการร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่ายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา” เป็นต้น

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อไปว่า พระธรรมวิทยากร ของกรมการศาสนา ที่เข้ารับการอบรมจะนำธรรมะเข้าสู่สถานศึกษาด้วยเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี ที่ทำให้การฟังธรรมะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ชวนให้ติดตาม ตลอดจนการใช้สื่อโซเชียลคอนเทนท์ธรรมะสร้างสรรค์ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหญ่ได้อย่างทั่วถึง เกิดการซึมซับด้วยตนเอง และนำไปสู่การนำธรรมะมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมการศาสนา ให้ความสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระภิกษุสงฆ์ ผู้เป็นสื่อกลางในการปลูกฝังให้เยาวชนมีความรู้คู่คุณธรรม และมีคุณลักษณะที่ดี อีกทั้งมุ่งมั่นขยายโอกาสธรรมศึกษาให้เยาวชนได้เรียนรู้และปฏิบัติสู่ความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงทางสังคม นอกจากนี้ พระธรรมวิทยากรที่ผ่านการอบรมถวายความรู้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว จะได้รับวุฒิบัตรจากสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและพร้อมเป็นพระธรรมวิทยากรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

Leave a Reply