เจ้านาย 3 พระองค์ ที่ “บวชไม่สึก” มีพระนามความหมายเดียวกัน

เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่เจ้านายในราชวงศ์จักรี ที่ “พระนาม” มีความหมายว่า “นาค” เหมือนกันถึง 3 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าวาสุกรี, พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ และหม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท ทรงดำรงสมณเพศ อุทิศพระองค์ให้แก่พระศาสนาตลอดพระชนมชีพ หรือ “บวชไม่สึก”

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พ.ศ. 2333-2396) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 กับเจ้าจอมมารดาจุ้ย พระนามเดิม “พระองค์เจ้าวาสุกรี” เมื่อพระชันษา 12 ปี ได้ผนวชเป็นสามเณร เสด็จประทับที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จนพระชันษาครบ 20 ปี ได้ผนวชเป็นพระภิกษุ ประทับจําพรรษาที่วัดพระเชตุพนฯ เช่นเดิม และทรงดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดพระชนมชีพ


พระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ภายในตำหนักวาสุกรี วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม

พ.ศ. 2394 รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาพระเกียรติยศ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และโปรดให้จัดตั้ง พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก (คล้ายกับพระราชพิธีบวรภิเษก) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์แรก ที่ทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นสมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงรอบรู้ในศาสตร์หลายแขนง ทรงมีผลงานพระนิพนธ์ต่างๆ เช่น พระปฐมโพธิกถา, ร่ายยาวมหาชาติ, ลิลิตตะเลงพ่าย ฯลฯ พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2396 สิริพระชันษา 63 ปี พระพรรษา 43 พรรษา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  (พ.ศ. 2403-2464) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาแพ วันที่พระองค์ประสูตินั้นฝนตกใหญ่ สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงทรงถือเอามงคลนิมิตนั้นพระราชทานนามพระราชโอรสว่า “พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ”

เมื่อพระชันษาได้ 14 ปี ได้ผนวชเป็นสามเณร โดยประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร ครั้นพระชันษาครบ 20 ปี ได้ผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จมาประทับจําพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยทรงดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดพระชนมชีพ

ใน พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนาพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดตั้งสถานศึกษาของพระภิกษุและสามเณรชื่อว่า “มหามกุฏราชวิทยาลัย” และจัดตั้งโรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย สำหรับการพิมพ์หนังสือตำราเรียน พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2464 พระชันษา 61 ปี พระพรรษา 42 พรรษา

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (พ.ศ. 2402-2480) พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3) กับหม่อมปุ่น ชมพูนุท พระนามเดิม “หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท”

เมื่อพระชันษา 14 ปี ได้ผนวชเป็นสามเณร ประทับที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อมาจนพระชันษาครบ 20 ปี จึงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับจำพรรษาที่วัดพระเชตุพนฯ และทรงดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดพระชนมชีพ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช

พ.ศ. 2464 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมา พ.ศ. 2469 รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กราบทูลอาราธนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงเป็นประธานในการตรวจชำระและจัดพิมพ์ “พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ” พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2480 พระชันษา 78 ปี พระพรรษา 58 พรรษา

ความบังเอิญเรื่อง “บวชไม่สึก” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ คงยากที่จะหาข้อสรุป

อย่างไรก็ดี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (เหลนในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “คือว่าถ้าชื่อนาคละ เป็นไม่ได้ละ…ไม่สึก เป็นเรื่องแปลกของพระราชวงศ์นี้ ผมเองก็ยังจับต้นสายปลายเหตุไม่ถูก”

 

ผู้เขียน ผู้เขียน วิภา จิรภาไพศาล

ที่มา https://www.silpa-mag.com/history/article_138543

Leave a Reply