พระพุทธศาสนากับความยุติธรรมทางสังคมเสียงจากห้องเรียนสันติศึกษา

วันที่ 10 ก.พ.2562 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า นักคิดและนักปฏิบัติหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า พระพุทธศาสนามุ่งเน้นความอยู่รอดในเชิงปัจเจก แต่ขาดมิติและโลกทัศน์ด้านความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนเหล่านั้นเข้าใจผิด และมีมายาคติต่อพระพุทธศาสนาในประเด็นนี้ บางท่านได้ตั้งข้อกล่าวหาเพียงอาศัยเหตุที่ว่า ไม่มีคำว่ายุติธรรมในพระไตรปิฏก

วันนี้ จึงได้อธิบายขยายความในรายวิชาพระพุทธศาสนากับความยุติธรรมทางสังคมแก่นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา รุ่นที่ 2 เพื่อตอบโจทย์โดยเปิดพื้นที่ประเด็นนี้ในสังคมสมัยพุทธกาลก่อนที่จะโยงเข้ามาหาวิถีสังคมประชาธิปไตยว่า ความยุติธรรมทางสังคมเป็นตัวสะท้อนคุณค่าเด่นในฐานะเป็นหลักปฏิบัติในวิถีประชาธิปไตยอย่างไร? เพราะยิ่งมีความยุติธรรมทางสังคมมากเท่าใด ยิ่งทำให้วิถีประชาธิปไตยในสังคมนั้นเจริญงอกงามมากเพียงนั้น

วิถีความยุติธรรมทางสังคมในพระพุทธศาสนาจึงแสดงตัวตนผ่านประเด็นการวิพากษ์และทะลายระบบวรรณะที่ทำให้สังคมไม่มีความเท่าเทียมกัน และปิดกั้นกลุ่มคนมิให้เข้าถึงโอกาสในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ ทรัพยากร และความจริงสูงสุดของชีวิต

การเข้าไปทำหน้าที่โอบอุ้มและให้กำลังใจคนยากจนเข็ญใจ ชาวนา ชาวไร่ หญิงโสเภณี ไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าเหล่าราชา มหาอำมาตย์ ก็เป็นการสะท้อนว่าพระองค์มิได้นิ่งดูดายความทุกข์ยากของปวงชน และให้กรอบแนวคิดการดูแลสังคมและเศรษฐกิจตามฐานเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างเหมาะสมดังที่ปรากฏในกูฏทันตสูตร

พระมหาหรรษา ระบุด้วยว่า สันติศึกษามิใช่การเรียนรู้แบบ #Passive ที่เน้นเพียงความสุข สงบเย็นส่วนตนเท่านั้น หากแต่หมายถึงเป็นการจัดวางท่าทีแบบ #Active คือการเข้าใจวิถีสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม แล้วออกไปทำงานรับใช้สังคมในบริบทต่างๆ ตามศักยภาพของตนเอง โดยมีพระพุทธเจ้า เหล่าศาสดาต่างๆ และนักสันติภาพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิตและการทำงานรับใช้เพื่อนมนุษย์ในโลกที่กำลังขัดแย้งและรุนแรง

Leave a Reply