คณะสงฆ์จังหวัดอุบลฯร่วม พศ.อบรมพระนักเผยแผ่ ด้าน รอง จจ.อุบล ยกคุณสมบัติที่ดีของนักเผยแผ่ “อย่ายกตนข่มท่าน”

วันนี้ 30 กันยายน 2567 คณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานีร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานี จัดสัมมนาบุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานี ณ วัดปากน้ำ(บุ่งสระพัง) ตำบลกุดลาด อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนางณภัค เทียนชัย ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานี ประธานฝ่ายฆราวาส  การสัมมนาครั้งนี้นอกจากจะมีพระนักเผยแผ่เข้าร่วมจำนวน 150 รูปแล้ว  และ มีรองเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีอีก 4 รูป คือ พระครูเวตวันวรกิจ พระครูวีรวงศ์บรรหาร พระครูวีรวรานุกูล และพระครูอรุณธรรมโกศลร่วมเป็นวิทยากรและให้กำลังใจแก่พระนักเผยแผ่ของจังหวัดอุบลราชธานี และมีพระครูปริยัติคณานุกิจ เจ้าคณะอำเภอบุณฑริกเป็นพิธีกรคอยให้คำแนะนำแนวทางการเผยแผ่ตลอดการสัมมนา

พระศรีวิสุทธิมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะรองประธานฝ่ายสงฆ์กล่าวตอนหนึ่งว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาจะต้องจำให้ขึ้นใจ และยึดมั่นในหลักคุณสมบัติ 2 ประการคือ

1.องค์คุณของพระธรรมกถึกซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญอย่างยิ่งที่นักเผยแผ่ทั้งหลายจำต้องศึกษาให้ถ่องแท้จึงจะเป็นประโยชน์อันสูงแก่การเผยแผ่พระศาสนาซึ่งมีอยู่ 5 ประการคือ

 หนึ่ง  แสดงธรรมไปตามลำดับ อย่าตัดลัดให้ขาดความ หรืออย่าเอาความเห็นตนเองเป็นใหญ่ ต้องศึกษาให้แตกฉานในหลักธรรม

สอง  ยกเหตุผลขึ้นแสดงอ้าง คือแสดงอ้างเหตุผลของเนื้อความนั้นๆ ในการอ้างเหตุผลก็ต้องยึดหลักการไม่ใช่หลักกู

สาม อาศัยความเอ็นดู คือมุ่งปลดเปลื้องความทุกข์ออกจากจิตจากใจของญาติโยม อย่าไปเพิ่มความคับแค้น ขุ่นข้องหมองใจให้เขาอีกอย่าไปทำให้เขาระทมทุกข์

สี่ อย่ามุ่งถึงอามิส สิญจ้าง รางวัล อย่าคิดว่าทำแล้วจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ตอบแทน จะได้รับการยกย่องสรรเสริญ ให้คิดว่าทำเพราะเป็นที่ของเราในฐานะพุทธสาวก ทำให้ดีที่สุดนั่นแหละคือรางวัลของเรา และประการสุดท้ายคือ

อย่ายกตนข่มท่าน ข้อนี้สำคัญมากนักเผยแผ่จำต้องระมัดระวังให้มาก อย่าดูหมิ่นดูแคลนคนอื่น อย่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลตัดสินคนอื่นว่าข้าเท่านั้นถูก คนอื่นผิดหมด ดังที่ว่า “อิทเมว สจฺจํ โมฆมญฺญํ คำข้าเท่านั้นถูก คำคนอื่นผิด” ข้าปฏิบัติดี ส่วนคนอื่นปฏิบัติผิด

2. วิธีการเผยแผ่ ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในโอวาทปาติโมกข์ 6 ข้อ คือ

หนึ่ง  อะนูปะวาโท อย่าไปทะเลาะกับใคร หรืออย่าไปชวนใครทะเลาะ เพราะการโต้เถียงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทั้งอย่าให้ร้ายใส่ความ โจมตีคนอื่น  สอง  อะนูปะฆาโต อย่าไปเบียดเบียน ข่มเหง รังแกเขา ลงไม้ลงมือทำร้ายเขา  สาม ปาติโมกเข จะ สังวะโร ระมัดระวังในศีลของตนทั้งที่เป็นอาทิพรหมจรรย์ และกิริยามารยาทข้อวัตรปฏิบัติ ขนบธรรมเนียม แบบแผน จารีตอันดีงามของสงฆ์หรือที่พูดกันว่ามารยาทชั้นสูงที่เป็นอภิสมาจารนั่นแหละ การสำรวมระวังนี้สำคัญมากเพราะสามารถป้องกันอันตรายต่างๆได้ สี่ มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง รู้ประมาณทั้งในการขอและการบริโภค อย่าเบียดเบียนชาวบ้านให้เกิดความลำบากจนเกินไป อย่ามักมากเห็นแก่ได้ รบกวนชาวบ้านไม่รู้จักจบสิ้น  ห้า ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง อย่าสร้างความรำคาญให้เกิดแก่ชุมชนทำวัดให้เป็นสถานที่สงบร่มรื่น ไม่ใช่สร้างความอึกทึกครึกโครมเป็นที่เอื่อมระอาของชุมชน  และ หก อะธิจิตเต จะ อาโยโค หมั่นฝึกฝนอบรมตนอยู่เสมอในการยกคุณภาพจิตให้สูงขึ้นอย่าปล่อยจิตปล่อยใจให้ไหลไปตามกระแสของกิเลส

ด้าน พระมหาไพทูล ชุตินฺธโร ป.ธ.7 เลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดบ้านบาก(วัดป่าพระพิฆเณศวร์)เผยว่า “การประชุมสัมมนาบุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานี ครั้งนี้เกิดจากการปรารภของพระศรีวิสุทธิมุนี ในฐานะเป็นรองประธานคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานเผยแผ่ของจังหวัด เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็ว ประสงค์ให้พระภิกษุสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาได้พัฒนาตนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่กำลังมีการแก่งแย่งแข่งขันกันอย่างรุนแรงทางวัตถุนิยมในทุกรูปแบบ จึงได้ปรารภจัดโครงการฯขึ้น เพื่อให้บุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนาของจังหวัดได้ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันและสามารถปฏิบัติงานตามภารกิจได้อย่างเกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานขึ้นและนำเอาความรู้ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะต่อพื้นที่ของตนต่อไป

Leave a Reply