ทำไม? ต้องเดินจงกรม 6 ระยะ.!!

วันที่ 11 มิถุนายน 2568 ณ พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระพรหมวัชรวิมลมุนี วิ. ประธานโครงการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ทั่วประเทศ จำนวน 77  รูปเนื่องในโอกาสครบ 70  ปี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า เสด็จมาทรงปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 5 – 19  มิถุนายน พ.ศ. 2568 ได้กล่าวอธิบายถึงการเดินจงกรม 6  ระยะ ทำไมจึงต้องกำหนดระยะการเดินจงกรม มีความสำคัญอย่างไร ว่า อันนี้ก็อยากจะเล่าให้ท่านทั้งหลายฟังว่า พูดถึงเรื่องการเดินจงกรมที่เราเดินอยู่ จะแบ่งเป็นระยะๆ ตั้งแต่ระยะที่ 1  ถึงระยะที่ 6  ทำไมถึงแบ่งออกเป็นระยะๆ ว่าไปจริง ๆ แล้วในพระไตรปิฎกเราก็วินิจฉัยตามพระบาลีได้ว่า มีการเดินจงกรมเพียงระยะเดียวเท่านั้น

ภาษาบาลีพระพุทธเจ้าตรัสว่า คัจฉันโต วา คัจฉามีติ ปะชานาติ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า เมื่อเราเดินก็รู้ว่าเรากำลังเดินอยู่ เป็นการเดินจงกรมกำหนดการเคลื่อนไหวของเท้า การเดินจงกรมในระยะเดียวนี้สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้

คนในสมัยต่อมาเมื่อเทียบกับสมัยพระพุทธเจ้าก็ต่างกัน คนในสมัยต่อมามีโลภะ โทสะ โมหะมาก การเดินจงกรมเพียงระยะเดียวจิตยังไม่สงบ ต้องเดินจงกรมเป็น 6  ระยะ การเดินจงกรม  6  ระยะก็มีขึ้นหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วประมาณ 1,000 ปี

ที่ต้องแบ่งออกเป็นระยะ ๆ ก็เพราะว่า แบ่งตามสภาวะจิตของผู้ปฎิบัติธรรม ความหมายคือว่า ถ้าหากว่าเดินจงกรมระยะเดียวจิตไม่สงบก็แบ่งออกเป็น 6 ระยะ เพื่อจะได้มีสติ มีสมาธิเพิ่มขึ้น จึงแบ่งออกเป็นระยะๆ ดั่งที่เหล่าท่านทั้งหลายได้ฝึกอยู่นี้ พูดง่าย ๆ ก็คือว่า คนในสมัยนี้มีโลภะ โทสะ โมหะมาก การเดินจงกรมก็ต้องมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น จากที่เดินง่ายๆ ก็เดินยากขึ้น เพื่อจิตจะได้มีสติ มีสมาธิมากขึ้นนั่นเอง แต่หลักของการเดินจงกรมคือ เดินให้ได้อารมณ์ปัจจุบัน ในระยะที่หนึ่ง ถ้าเดินได้อารมณ์ปัจจุบันดี ก็เดินเรื่อยไป ส่วนระยะอื่น ๆ ก็ตามเหตุปัจจัย การเดินจงกรมระยะต่าง ๆ เป็นไปตามสภาวะอินทรีย์ ของคนนั้น ๆ

Leave a Reply