เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า สัปดาห์หน้าจะเป็นช่วงวันหยุดยาวเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ตนจึงขอเชิญพรปีใหม่ 2562 ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานแก่พุทธศาสนิกชน และพี่น้องประชาชนชาวไทย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา อันเป็นพระคติธรรมโดยเชิญพุทธศาสนสุภาษิต ความว่า “ขนฺติ หิตสุขาวหา ความอดทน นำมาซึ่งประโยชน์สุข” เพื่อให้เป็นสิริมงคลชีวิต แก่ตนเอง และครอบครัว โดยการน้อมนำ ยึดถือ เป็นแนวทางปฏิบัติ ให้มีความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ และขอให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ นานา ในปีนี้ ก้าวสู่ความสงบ ความสุข สดใส และประสบความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในปีหน้า ทุกๆ คน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในการนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน เข้าร่วมกิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี ถวายพระราชกุศล เสริมสิริมงคลทั่วโลก ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีธรรม พ.ศ.2562” ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2561 –1 ม.ค. 2562 ณ ทุกวัดทั่วประเทศ และสถานที่อื่นๆ ที่เหมาะสมเพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่ รักษาศีล เจริญภาวนา ปฏิบัติธรรมและสวดมนต์เป็นสิริมงคลให้ประเทศไทย ครอบครัวและตนเอง ตลอดจนเป็นแรงจูงใจให้ประชาชน ลด ละ เลิกอบายมุข ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และตลอดไป
ทั้งนี้ที่ห้องประชุมกรมการศาสนา ชั้น 2 กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ ธ.ค.นี้ นายอภินันท์ จันทรังษี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย ครั้งที่ 3/2561 และแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี ถวายพระราชกุศล เสริมสิริมงคลทั่วโลก ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีธรรม พ.ศ.2562”ดังกล่าวโดยจะมีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปสำคัญจาก 13 ประเทศ ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ถึงมณฑลพิธีท้องสนามหลวงในวันที่ 29 ธ.ค.2661 เวลา 17.00 น. และร่วมงาน “สวดมนต์ข้ามปี ถวายพระราชกุศล เสริมสิริมงคลทั่วโลก ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีธรรม พุทธศักราช 2562” ในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง วัด ศาสนสถานใกล้บ้าน หรือสถานที่จัดกิจกรรมทั่วประเทศ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและประเทศชาติด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดบวรนิเวศวิหาร จะมีกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีในวันที่ 31 ธ.ค.2561 แล้ว ระหว่างวันที่ 26 ธ.ค.2561 – 12 ม.ค.2562 พิธีสมโภชพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ฉบับวาระ 100 ปี ชาตกาล อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพด้วย โดยวันที่ 21 ธ.ค.2561นี้ ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการแถลงข่าว งานพิธีสมโภชพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ฉบับวาระ 100 ปี ชาตกาล อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม กรรมการงานสมโภชพระไตรปิฎกฯ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นายวีระ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายใช้มิติทางวัฒนธรรมสร้างคนดี สังคมดี โดยเสริมสร้างค่านิยม อัตลักษณ์และความเป็นไทย โดยปลูกฝังศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรมตามหลักคำสอนทุกศาสนา รวมทั้งค่านิยมและความเป็นไทยผ่านสถาบันทางสังคมทุกระดับ ดังนั้น วธ.ร่วมกับมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิพระไตรปิฎกเพื่อประชาชน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดงานพิธีสมโภชพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ฉบับวาระ 100 ปี ชาตกาล อาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพขึ้น ในวันที่ 26 ธันวาคม 2561 เวลา 14.00 – 16.00 น. ณ อาคาร 100 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร โดยได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นประธานในงานพิธีสมโภชพระไตรปิฎกฯ ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าว มีนิทรรศการประวัติและผลงานของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ และจัดแสดงหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ฉบับวาระ 100 ปี ชาตกาล อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2561 – 12 มกราคม 2562 นอกจากนี้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ณ วัดบวรนิเวศวิหาร อีกด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า หนังสือพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน เป็นผลงานสำคัญของอาจารย์ สุชีพ และนับเป็นพระไตรปิฎกย่อฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกของโลกด้วย โดยหนังสือพระไตรปิฎกดังกล่าว เป็นการย่อในลักษณะถอดความของพระไตรปิฎกบาลี 45 เล่ม ให้เป็นหนังสือภาษาไทยเพียงเล่มเดียว โดยประมวลไว้ซึ่งเนื้อความหรือสาระของพระไตรปิฎกทั้ง 45 เล่ม อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยถ้อยคำสำนวนที่คนทั่วไปสามารถอ่านและเข้าใจได้ง่าย ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดงานครั้งนี้มีความเห็นว่า ทุกฝ่ายควรจะได้เผยแพร่พระไตรปิฎกฯ ฉบับนี้ให้แพร่หลายไปสู่ประชาชน เพื่อให้เป็นสมบัติของคนไทย ทำให้ได้รับความรู้ในเรื่องพระไตรปิฎกอย่างสะดวกและทั่วถึงตามที่อาจารย์สุชีพได้ตั้งใจไว้ เพื่อความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนาและสันติสุขของชาติ
ทั้งนี้ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาและการศึกษาของไทยอย่างมาก เมื่อครั้งยังดำรงอยู่ในสมณเพศได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจนสำเร็จเปรียญธรรม 9 ประโยค และศึกษาภาษาและวิชาการต่างๆ อีกมาก ทำให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง และได้บูรณาการความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศในนามว่า “สุชีโวภิกขุ” ทั้งนี้ นับเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่มีชื่อเสียงด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแนวใหม่ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ อีกทั้งเป็นผู้ริเริ่มการอธิบายพุทธธรรมแนวประยุกต์กับวิชาการสมัยใหม่ ทั้งในรูปแบบของการเทศนา การบรรยาย และนวนิยายอิงหลักธรรม และเป็นกำลังสำคัญผลักดันให้มีการตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกขึ้นในประเทศไทย คือ สภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เมื่อพ.ศ. 2488
ปัจจุบันเรียกว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และอาจารย์สุชีพได้เป็นเลขาธิการสภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัยคนแรก ต่อมาเมื่ออาจารย์สุชีพ ลาสิกขาก็ได้ใช้ความรอบรู้ทางพระพุทธศาสนาและวิชาการสมัยใหม่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นคนแรก เป็นรองผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ซึ่งได้พัฒนามาเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเป็นที่ปรึกษาองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษาต่างๆอย่างต่อเนื่องจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
Leave a Reply