ช่วงที่น้ำท่วมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทุกภาคส่วนก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงพระสงฆ์องคเจ้าด้วย แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นกิจของสงฆ์หรือไม่ ทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ออกมาเคลียร์เสียปูว่านับเป็นกิจของสงฆ์ด้วยเช่นเดียวกัน โดยการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ที่มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) เสด็จเป็นองค์ประธานที่ประชุมที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) พุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2562ที่ผ่านมา
ภายหลังการประชุม นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการพศ. ในฐานะรองโฆษกพศ. แถลงผลการประชุมมส. ว่า มส.รับทราบการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมส. และพระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา ประธานขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ซึ่งมีการลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยได้มีการมอบเงินช่วยเหลือ และสิ่งของที่มีความจำเป็นให้กับพระภิกษุสามเณร และประชาชนที่ประสบภัยแล้ว
“ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงภาพพระสงฆ์กำลังทำอาหารเพื่อนำไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า เป็นการทำผิดพระธรรมวินัย เพราะพระสงฆ์ไม่สามารถทำอาหารฉันเองได้ ทางพศ.ขอชี้แจงว่า ภาพดังกล่าวที่ปรากฏออกมานั้นไม่ใช่เป็นการทำอาหารเพื่อฉันเองของพระสงฆ์ แต่เป็นการทำอาหารเพื่อนำไปมอบให้ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม จึงไม่ถือว่าผิดพระธรรมวินัย นอกจากนี้การที่พระสงฆ์ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนและพระสงฆ์ที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้นั้น ก็ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักงานของคณะสงฆ์ คืองานด้านสาธารณสงเคราะห์ด้วยเช่นกัน” รองโฆษกพศ. ระบุ
อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ก็มีคำถามว่าพระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติพระองค์อย่างไร? รศ.ดร.เวทย์ บรรณกรกุล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาเขตบาลีพุทธโฆษ อดีตสามเณรนาคหลวง ป.ธ.9 ได้แสดงความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Wate Bunnakornkul โดยตั้งหัวเรื่องว่า
พระพุทธเจ้า : น้ำท่วม : พราหมณ์มิจฉาทิฐิ ตอนที่ 1 เรื่องนี้ อยากให้หาอ่าน แล้วค่อยวิเคราะห์วิจารณ์ “เมื่อมีภัยแล้ว เห็นพระสงฆ์องค์เจ้า ออกช่วยเหลือชาวบ้าน” สมัยพุทธกาลมีไหม? พระพุทธองค์ ทรงปฏิบัติอย่างไร?
เรื่องนี้ มีบันทึกในคัมภีร์ อรรถกถาธรรมบท ผมเคยแปลตั้งแต่เป็นสามเณรอายุ 14 สอบ ป.ธ.3
เรื่องนี้ เกิดที่เมืองสาวัตถี กล่าวถึงพราหมณ์ชาวนาคนหนึ่ง เป็นมิจฉาทิฐิ เริ่มเข้าฤดูฝนทำนา พราหมณ์ออกจากบ้านแต่เช้า แผ้วถางขจัดมูลฝอยที่นาฝั่งแม่น้ำคง เช้าวันเดียวกันนั้น พระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยที่จะโปรดได้ ทำพุทธกิจเสด็จออกรับบิณฑบาต พร้อมภิกษุสงฆ์ วันนี้แปลกกว่าทุกวัน พระองค์เสด็จตรงไปยังทุ่งนาของพราหมณ์ ด้วยความที่เป็นมิจฉาทิฐิ พราหมณ์เมื่อพบเห็นพระพุทธเจ้า ก็นิ่งเฉยไม่สนใจ ไม่ทำสามีจิกรรมกราบไหว้ ไม่สนทนาพูดคุยใด ๆ ทั้งสิ้น. พระพุทธเจ้า จึงตรัสถามว่า “พราหมณ์ ท่านกำลังทำอะไร?” พราหมณ์ ตอบสั้น ๆ ว่า “พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ากำลังแผ้วถางที่จะทำนา” สนทนาเพียงประโยคเดียวเท่านี้ พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปโปรดบิณฑบาตที่อื่น
ในทุกกิจกรรมของการทำนา ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมดิน การไถ การหว่านข้าว การผันน้ำเข้านา การดูแลรักษานากำจัดวัชพืช พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปพบพราหมณ์ชาวนาทุกครั้ง และเป็นพระพุทธเจ้าตรัสถามก่อนทุกครั้งว่า “พราหมณ์ ท่านกำลังทำอะไร?” ได้คำตอบเดียวสั้น ๆ จากพราหมณ์ทุกครั้งไป (โดยปกติรอบการทำนาตั้งแต่ต้นจนถึงเก็บเกี่ยวจะใช้เวลา 4 – 5 เดือน คาดว่า พระพุทธองค์ทรงอดทนมากๆ ในการเสด็จโปรดพราหมณ์ท่านนี้)
เมื่อการทำนาถึงวาระเพียงการดูแลข้าวกล้าที่กำลังเจริญเติบโตเท่านั้น พระพุทธองค์เสด็จไปยังที่นาของพราหมณ์อีกครั้ง วันนี้การสนทนาเปลี่ยนไป จากเดิมที่พระพุทธเจ้าจะเป็นผู้เริ่มสนทนาก่อน ครั้งนี้ พราหมณ์ได้กราบทูลก่อนว่า “พระโคดมผู้เจริญ ท่านมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ข้าพเจ้าแผ้วถางนา, ถ้าข้าวกล้าของข้าพเจ้าจักเผล็ดผล, ข้าพเจ้าจักแบ่งปันแก่ท่านบ้าง, ยังไม่ให้ท่าน ข้าพเจ้าเองก็จักไม่เคี้ยวกิน; ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ท่านเป็นสหายของเรา.”
เมื่อข้าวกล้าเจริญงอกงามออกรวงแก่เต็มที่แล้ว พราหมณ์ชาวนาตระเตรียมอุปกรณ์เพื่อเก็บเกี่ยวผลในวันรุ่งขึ้น คืนนั้น เหตุการณ์ไม่คาดฝัน เหตุการณ์ที่ชาวนาไม่อยากให้เกิด คือ “พายุฝนมาเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว” ในคัมภีร์เขียนบันทึกไว้ว่า “มหาเมฆ ยังฝนให้ตกตลอดคืน พาเอาข้าวกล้าไปหมด นาได้เป็นเช่นกับที่อันเขาถางเอาไว้”
คงจินตนาการได้ว่า พายุฝนกระหน่ำตลอดคืน พราหมณ์ชาวนา คงนอนไม่หลับตลอดคืนยันรุ่งเช่นกัน…… สมัยผมเป็นเด็ก พ่อแม่ผมเป็นชาวนา สภาพความทุกข์ทรมานของชาวนา เมื่อฝนแล้ง ข้าวแห้งตายหมด หรือเมื่อยามน้ำท่วม เห็นข้าวกล้าเน่าตายเต็มผืนนา ผมเข้าใจ ผมเห็น ผมจำได้ครับ … คนที่ไม่ใช่ชาวนา ไม่ใช่ลูกชาวนา คงไม่เข้าใจความทุกข์เช่นนี้……
ข้อความต่อไปนี้ ผมขอคัดลอกจากคัมภีร์ให้อ่าน
……พราหมณ์ ไปแล้วแต่เช้าตรู่ ด้วยคิดว่า ” เราจักตรวจดูข้าวกล้า “เห็นแต่นาเปล่า เกิดความโศกเป็นกําลัง จึงคิดว่า” พระสมณโคดมมาสู่นาของเรา ตั้งแต่คราวที่แผ้วถางนา, แม้เรา ก็ได้กล่าวกะท่านว่า ‘เมื่อข้าวกล้านี้ เผล็ดผลแล้วจักแบ่งส่วนให้แก่ท่านบ้าง, ยังไม่ให้ท่านแล้ว เราเองก็ไม่เคี้ยวกิน, ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ท่านเป็นสหายของเรา, ความปรารถนาในใจ ของเราแม้นั้น ไม่ถึงที่สุดเสียแล้ว. ” พราหมณ์นั้นทําการอดอาหาร นอนบนเตียงน้อยแล้ว.……
คงอยากรู้ใช่ไหมครับ เมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมนา เช่นนี้ พระพุทธเจ้า ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างไร? (คงต้องติดตามตอนต่อไป)
อย่างไรก็ตามจากค้นข้อมูลจะพบว่าพระพุทธเจ้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับนาเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นพระองค์ก็ทรงทำนา รับสั่งพระให้จัดหาอาหารให้ชาวนากินก่อนจะเทศน์ให้ฟังเป็นต้น
Leave a Reply