หลักสูตรข้ามสถาบัน:เครื่องมือนำมหาจุฬาฯ สู่ระดับโลก

          มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกาย หลังจากมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้มีพระราชบัญญัติเป็นของตัวเองเมื่อปี 2540 การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันนักวิชาการพระพุทธศาสนาเปรียบเทียบเหมือนมหาวิทยาลัยนาลันทาแห่งที่สองของพระพุทธศาสนา และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีการสอนพระพุทธศาสนาที่ดีเยี่ยมจากมหาวิทยาลัยสอนพระพุทธศาสนาทั่วโลกเป็นอันดับที่สองรองจากประเทศญี่ปุ่น

 

         เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาในหลักสูตรข้ามสถาบันอย่างมีประสิทธิผล” โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษามาร่วมเป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (รศ.ดร.) ผอ.วิทยวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ

             การสัมมนาครั้งนี้เกิดขึ้น เพื่อหาเครื่องมื และช่องในการนำพระพุทธศาสนาสู่การเสริมสร้างพลังทางปัญญานำพาสันติสุขสู่สังคมโลก ซึ่งมีมากมายหลายหลาก แต่หนึ่งในโอกาสเหล่านั้น คือ “หลักสูตรข้ามสถาบัน” ซึ่งเป็นการมองหา Partnership ที่มีความสนใจที่จะสร้างอัตลักษณ์ร่วม หรือ Common Identity  ในการเติมเต็มกันและกัน โดยมีผลลัพธ์การเรียนรู้ หรือ Learning Outcome ที่ตอบสนองความต้องการและทักษะของผู้เรียน

            มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปัจจุบันมี พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. เป็นอธิการบดี ท่านมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะนำเอาหลักสูตรข้ามสถาบันแบบ Double Degree หรือสอนปริญญา มาขับเคลื่อนการจัดการศึกษาโดยใช้เป็นเครื่องมือในการนำพระพุทธศาสนาสู่สังคมโลก  จึงได้นำผู้บริหารไปลงนามความร่วมมือในทวีปยุโรป เช่น มหาวิทยาลัยจาจิโลเนียน เมืองคาค๊อฟ ประเทศโปแลนด์ รวมถึงการเดินทางไปพบปะผู้บริหาร ณ มหาวิทยาลัยเพนซิวาเนีย สหรัฐอเมริกา

           การที่จะเข้าระบบและกลไกขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว คือ การสร้างความรู้และปรับ Mindset ของผู้บริหารที่กำลังดำเนินการจัดการศึกษา ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการเชิญผู้ที่มีประสบการณ์ และผ่านการจัดการศึกษาข้ามสถาบันมาพูดคุยกัน และถอดบทเรียน ณ ห้อง IMind วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาจุฬาฯ

          ผศ.ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้ำจุดเด่นในประเด็นนี้ว่า  “ตอนนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดหลักสูตรข้ามสถาบัน สาขาไทยคดีศึกษา กับ SOAS London  เหตุผลหลักที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อความอยู่รอดของสาขานี้  เพราะโดยสถิติย้อนหลังมีนิสิตไทยมาลงเรียนน้อยมาก จนในที่สุดอาจจะปิดหลักสูตร”

          ผศ.ดร.นิธินันท์  กล่าวย้ำต่อว่า    “การเปิดร่วมจึงทำให้มีการขยายพื้นที่เพิ่ม จากไทยคดีศึกษา ไปสู่สาขาเอเซียนตะวันออกเฉียงใต้ จนบัดนี้ มีนิสิตไทยสนใจมาก เพราะได้ปริญญาใหม่อีกใบ และภาษาอังกฤษไอเอลล์ที่สอบเข้าเกณฑ์ก็ลดจาก 6.5 เป็น 6.0 รวมไปถึงค่าหน่วยกิตก็เจรจาลดลงระหว่างสถาบันด้วย การดำเนินการแบบจึงได้ทั้งสองสถาบัน เพราะทาง SOAS ก็มีนิสิตเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากแนวโน้มทางยุโรปนิสิตก็น้อยลง และนิสิตที่เรียนสาขาไทยคดีศึกษา จะได้ปริญญาเพิ่มอีกสาขา คือ สาขาตะวันออกเชียงใต้ ของ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน”

           ในขณะที่ รศ.ดร.ธรรมนูญ หนูจักร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำในประเด็นเดียวกันว่า “โดยทั่วไป มหาวิทยาลัยที่มี World Ranking ในอันดับที่สูงๆ ไม่ประสงค์จะทำหลักสูตรข้ามสถาบันกับอันดับที่ต่ำกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่จะจูงใจได้ก็คือ มหาวิทยาลัยนั้นๆ มีอัตลักษณะที่เป็นจุดเด่นและน่าสนใจอย่างไร การที่จุฬาฯ ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่น เพราะที่นั่นมีเทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านวิศวกรที่สูงกว่าเรา จึงนำสิ่งเหล่านี้มาเติม อีกทั้งจะเป็นการเสริมแรงให้บริษัทญี่ปุ่นในไทยได้ประโยชน์ร่วม”

            ทั้งนี้  การพูดคุยกับผู้บริหาร และคณาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย ต้องมองประโยชน์ร่วมสูงสุดที่จะเกิดกับมหาวิทยาลัย และผู้เรียน จะการทำปริญญาข้ามสถาบันจะนำมาซึ่งคุณค่าอะไร และจะต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มอะไร สกอ. เดิมนั้น ได้เปิดกว้าง และกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทำอยู่แล้ว กฏเกณฑ์ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยจึงต้องออกแบบให้สอดรับต่อการพาตัวเองไปสู่วิสัยทัศน์   ดร.ธรรมนูญ หนูจักร ได้กล่าวย้ำเพิ่มเติมปิดท้าย

         ทางด้าน  รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ได้เสริมว่า ในโลกการศึกษานั้น มีโอกาสมากมายซ่อนตัวอยู่ ขอให้นักการศึกษาแสวงหาโอกาสและช่องทางที่เหมาะกับธรรมชาติของตัวเอง และตอบโจทย์ตัวเอง Double Degree, Joint Degrees หรือ Exchanges Programmes คือ เครื่องมือสำคัญ และเป็นช่องทางหนึ่งในการนำพระพุทธศาสนาไปสู่พื้นที่ต่างๆ ในสังคมโลก เพื่อส่งออกพระพุทธศาสนาไปตอบโจทย์กลุ่มคนผ่านสถาบันการศึกษา

         อดีตรองเลขาธิการ สกอ. ได้กล่าวเสริมในเชิงนโยบายว่า สิ่งที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)  ได้เสนอเพื่อต่อยอดขึ้นมาจากปริญญาข้ามสถาบัน คือ Credits Bank เป็นการเรียนสะสมหน่วยกิต หรือ Non-Credits ที่เน้นเรียนทั้งทางไกล และทางใกล้ อันเป็นการสลาย และทลายแนวคิดแบบคณะใครคณะมัน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ผู้เรียนได้อย่างหลากหลาย และตอบสนองความต้องการ

          ส่วน ดร.นิวัฒน์ กังวาลรังสรรค์ ประธานหลักสูตรสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (นานาชาติ) ได้กระตุ้นเพิ่มเติมว่า “หลักปริญญาสองใบ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และความน่าสนใจแก่ผู้เรียน  หากนำมาใช้กับการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา เราสามารถนำเสนอพระพุทธศาสนาสู่สังคมโลกได้เช่นกัน แต่สถาบันการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาจะต้องหาแก่นหรือแกนหลักที่เป็นจุดแข็งของตัวเองให้เจอ แล้วนำเสนอให้ Partners หรือสถาบันต่างประเทศเกิดความสนใจที่จะมาทำงานร่วมกัน หากมีสิ่งอื่นที่เขามีและดีอยู่แล้วในระดับ World Ranking เขาคงไม่สนใจมาทำงานกับเรา”

           อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด ผศ.ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร ได้ย้ำเตือนเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า  “อยากเห็นมหาจุฬาฯ  มีบทบาทที่ชัดเจน ว่าการศึกษาพระพุทธศาสนา ที่จะยังประโยชน์และคุณูปการทั้งหลายต่อประชาคมโลกได้อย่างเอนกอนันต์นั้น เป็นเรื่องของการเรียนรู้และปฏิบัติ ในบริบทแห่งการเรียนรู้ที่ถูกต้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาตนเอง ทีมีความสัมพันธ์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม  double degree คือเครื่องมือ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อการสื่อสารและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ไปสู่สถาบันการศึกษานานาชาติ ที่สำคัญยิ่ง คือ การเรียนรู้และเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามคำสอนที่ถูกต้องให้เกิดประโยชน์โดยแท้จริงต่อไป”

         หลังจากนี้ไปรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พระสุวรรณเมธาภรณ์ จะนำข้อเสนอแนะนี้เข้าสู่คณะกรรมการฝ่ายวิชาการไปจัดทำเป็นร่างข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาข้ามสถาบัน เพื่อให้สภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบ เพื่อจะนำไปสู่การเปิดหลักสูตรปริญญาร่วม และปริญญาสองใบ ทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอกต่อไป เพื่อนำพระพุทธศาสนาสู่สังคมโลก ให้สอดรับกับวิสัยทัศน์มหาจุฬาฯที่ว่า “มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาระดับโลก”

Leave a Reply