สัมภาษณ์พิเศษผู้บริหารมหาจุฬา ฯ และพระนิสิตต่างชาติเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

สัมภาษณ์พิเศษ :  พระราชปริยัติกวี อธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ,พระราชวรมุนี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต , พระปุบผะ  (Poke Pha)    :  โดย  อุทัย มณี

            มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการอุดมศึกษา ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาขึ้น ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง สำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ เมื่อปีพุทธศักราชการ 2430 เป็นต้นมา

            ต่อมาในปี 2540 รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ มีสถานะเป็น “มหาวิทยาลัยของรัฐและเป็นนิติบุคคล” ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ดำเนินการตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม”

            พระราชปริยัติกวี  อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลว่า
           “ปัจจุบันมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก สำหรับปริญญาตรี สอนใน 4 คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ มี 22 สาขาวิชา ส่วนปริญญาโทเปิดสอนใน 22 สาขาวิชาเหมือนกัน แต่ระดับปริญญาเอก มี  11 สาขาวิชา พร้อมมีการจัดตั้งวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติขึ้น เพื่อรองรับสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่ปัจจุบันหันมาสนใจเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น  สำหรับในปีการศึกษา 2561 มีนิสิตต่างประเทศถึง 1,424 รูป/คน
          ส่วนการขยายการศึกษา ตอนนี้มหาจุฬา ฯ มีวิทยาเขต 11 แห่ง มีวิทยาลัยสงฆ์ 23 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ขยายห้องเรียนและวิทยบริการอีก 9 จังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ..”
         สำหรับต่างประเทศ มหาจุฬา ฯ มีสถาบันสมทบ 5 แห่งคือ วิทยาลัยพระพุทธศาสนาดองกุกชอนบอบ ประเทศเกาหลีใต้ มหาวทิยาลัยพระพุทธศาสนาซิ่นเจี่ยไทเป วิทยาลัยพระพุทธศาสนาศรีลังกา วิทยาลัยพุทธศาสตร์สิงคโปร์ และวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกท ประเทศฮังการี และมีสถาบันสมบทในประเทศ 1 แห่งคือ มหาปัญญาวิทยาลัย วัดถาวรวราราม แห่งอนัมมนิกาย จังหวัดสงขลา
        ในปีการศึกษา 2561 มีนิสิตทุกระดับชั้นจำนวน 20,129  รูป/คน ในการประสาทปริญญาระหว่างวันที่ 25 -26 นี้ มีจำนวนผู้จบการศึกษาทั้งสิ้น 4,380 รูป/คน โดยแบ่งผู้จบปริญญาเอกจำนวน 350 รูป/คน ปริญญาโท 631 รูป/คน และระดับปริญญาตรี 3,399 รูป/คน

            ด้าน พระราชวรมุนี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต  กล่าวว่า  “ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แม้เราจะสอนโดยการนำศาสตร์สมัยใหม่มาใช้ แต่หลักการที่เราสอนและนักศึกษาต้องเรียน คือ หลักของพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก วิปัสสนา อันนี้คือหลักใหญ่ที่นิสิต นักศึกษาทุกคนที่เขามาเรียนที่มหาจุฬา ฯ ต้องศึกษาให้รู้และเข้าใจในหลักการ เมื่อเราเรียนรู้แตกฉานแล้วก็นำไปใช้กับศาสตร์สมัยใหม่ได้  และเราเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาศึกษาเรื่องเหล่านี้ ทั้งพระภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์

            ระหว่างวันที่ 25 -26 นี้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์จะเสด็จมาประทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จึงขอเชิญชวนทุกท่านเฝ้ารับเสด็จโดยพร้อมเพรียงกัน..”
            ผมมีโอกาสนั่งคุยกับพระนิสิตต่างชาติรูปหนึ่ง เป็นพระนิสิตมอญ จากรัฐมอญ ประเทศเมียนมา  ปีนี้ท่านเข้ารับประสาทปริญญาด้วย เนื่องด้วยท่านจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ และกำลังศึกษาต่ออในระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านชื่อ พระปุบผะ (Poke Pha)   อายุ 39 ปี  ท่านเล่าว่า ประมาณปี 53 ท่านเคยมาศึกษารอบหนึ่งแล้ว ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรียนได้  1 ปีมีเหตุจำเป็นต้องหยุดพักไป เพราะเจ้าอาวาสที่บ้านท่านมรณภาพ ต้องไปรับภาระเป็นเจ้าอาวาสแทน หลังจากกลับไปเป็นเจ้าอาวาสอยู่ 4 ปีกลับมาเรียนใหม่อีกรอบ ตอนนี้ตัวท่านเองก็รับภาระเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่เมืองมอญ 2 วัดคือ วัดเกริ่นเกริ๊ก (ห้วยมะม่วง) และอีกวัดคือวัดศิริมงคลปริยัติ เป็นสำนักงานเรียนบาลีมีพระภิกษุสามเณร 100 กว่ารูป

ส่วนใหญ่พระมอญนิยมไปศึกษาต่อที่ประเทศศรีลังกาหรืออินเดีย ทำไมท่านจึงเลือกมาเรียนที่มหาจุฬา ฯ ประเทศไทย
             อาตมาดูจากประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์  คณะสงฆ์ไทยกับคณะสงฆ์รามัญนิกายเรา มีความสัมพันธ์และใกล้ชิดกันมานาน มีเชื่อมโยงกันมาตลอด สถานการณ์คณะสงฆ์รามัญนิกายของมอญตอนนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อมสัมพันธ์และขอความช่วยเหลือจากคณะสงฆ์ไทย อาตมาจึงตัดสินใจมาเรียนยังประเทศไทย ไม่ไปประเทศที่พระมอญส่วนใหญ่นิยมไปกัน
ทำไมจึงเลือกเรียนสาขารัฐศาสตร์ เพราะส่วนใหญ่พระต่างชาติเรียนพุทธศาสตร์
            เป้าหมายตั้งใจมาตั้งแต่แรกแล้ว ตั้งแต่เดินออกมาจากวัดแล้วว่า ตั้งใจจะเรียนกฎหมาย แต่สมัยตอนสมัครเรียนมหาจุฬา ฯ ยังไม่มีสาขานิติศาสตร์ จึงจำเป็นต้องเลือกเรียนสาขาที่ใกล้เคียงกับนิติศาสตร์มากที่สุดก็คือ รัฐศาสตร์  จึงเลือกเรียนรัฐศาสตร์
            เรียนรัฐศาสตร์ก็เพื่อต้องการเรียนโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ไทย ประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย อาตมามีความตั้งใจว่า หลังจากจบแล้ว จะนำประสบการณ์ที่เรียนนี้กลับไปปรับปรุงคณะสงฆ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในพระพุทธศาสนาคือ คณะสงฆ์รามัญนิกาย
ปัจจุบันมีพระนิสิตชาวมอญมีเรียนมหาจุฬา ฯ มีจำนวนเท่าไร
            ปีที่แล้วมีพระภิกษุ 28 รูป ฆราวาส 4 คน ส่วนใหญ่เรียนคณะพุทธศาสตร์ หรือไม่ก็คณะมนุษยศาสตร์เอกภาษาอังกฤษกัน อาตมาเองไม่เคยเรียนภาษาไทยแม้แต่ประถมเดียว ได้ภาษาไทยตอนเป็นฆราวาสอยู่ภาคใต้กรีดยางอยู่ ศึกษาด้วยตัวเอง จากยูทูปบ้าง จากหนังสือบ้าง
            เมื่อเรียนมหาจุฬา ฯ ต้องพยายามฝึกอ่าน ฝึกเขียน ดูยูทูป  หากไม่เข้าใจก็สอบถามอาจารย์และเพื่อน ๆ  ร่วมชั้นเรียน อาตมาเรียนลำบากกว่าคนอื่นมาก เพราะความเข้าใจอ่าน ฟังน้อย
พระคุณเจ้าจบปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
            การที่อาตมาได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง  สาเหตุเพราะ หนึ่ง อาตมาชอบและอยู่ในแวดวงการเมืองกับพระสงฆ์มอญที่เมืองมอญมานาน 10 กว่าปี จึงมีประสบการณ์ และเมื่อมาเรียนมันก็ยิ่งสะดวกยิ่งขึ้น แม้ไม่เก่งภาษาไทย แต่หลักสูตรที่เรียนพอมีฐานการเมืองมาบ้าง  สอง อาตมาตั้งแต่เรียนมา 4 ปีไม่เคยขาดเรียนแม้แต่วันเดียว สาม อาตมาเรียน อาตมาก็ไม่เคยอยู่เฉยหรือเรียนในห้องเรียนแล้วกลับห้อง  อาตมารู้ตัวว่าด้อยภาษาไทย จึงอ่านหนังสือมาก ดูข่าวทุกวัน ก่อนสอบเตรียมความพร้อมเป็นเดือน
  หัวใจสำคัญเพื่อให้ได้เกรียรตินิยมอันดับหนึ่ง
            อาตมาคิดว่าประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ ข้อสอบส่วนใหญ่เป็นบทวิเคราะห์ หากเรามีประสบการณ์การเมืองมาก อ่านมาก เราสามารถวิเคราะห์โจทย์ที่ตั้งไว้ได้ แม่น มีข้อมูลเยอะกว่า คนที่ไม่มีประสบการณ์
            พยายามอย่าขาดเรียน เพราะประสบการณ์ และการสอนของอาจารย์เราได้มากจริง ๆ มีคุณค่ามาก  ก่อนสอบเราต้องเตรียมความพร้อม อาตมาเป็นคนไม่เก่งภาษาจึงต้องเตรียมตัวนานเป็นเดือน ดูหนังสือทบทวนเป็นเดือน ในขณะที่เพื่อน ๆบางคนเขาอาจไม่ทำแบบอาตมา
            เวลาเปิดเทอมวิชาไหนที่มันยาก เราต้องให้เวลาทำความเข้าใจกับวิชานั้นมากกว่าวิชาอื่น ๆ อาตมาจึงไม่เคยได้เกรดดีหรือดีบวกเลย
พระคุณเจ้าได้อะไรจากมหาจุฬา ฯ บ้าง
            เรียนมา 4 ปีนี้ มหาจุฬาให้อาตมามากมาย หนึ่ง ได้ประสบการณ์ ความรู้จากอาจารย์ที่สอนเรา สอง ได้รู้จักและสนิทสนมกับอาจารย์พร้อมมีเพื่อนมากมาย มีคุณค่ามากมาย สาม ได้องค์ความรู้ เรื่องโครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัยว่า มหาจุฬา ฯที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยสงฆ์ที่พุทธศาสนามีอยู่  ณ ปัจจุบันนี้ทั่วโลก เขาบริหารจัดการอย่างไร แบ่งคณะออกอย่างไร แต่ละสาขาเขาบริการจัดการอย่างไร ทั้งเรื่อง ทุน คน และงบประมาณ  เวลาเปิดสาขาวิชาหนึ่ง ๆ จะต้องทำอย่างไร จะต้องมีกฎเกณฑ์อะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้เราได้ความรู้จากอาจารย์ เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าอธิบายไม่ถูก
           พระปุบผะทิ้งท้ายก่อนจากกันว่า หลังจากจบจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแล้ว ท่านจะกลับไปพัฒนาคณะสงฆ์รามัญนิกาย โดยอาศัยความรู้ตรงนี้ไปพัฒนาระบบการปกครอง การบริหารและการศึกษาให้กับคณะสงฆ์รามัญนิกาย และสอง หากมีโอกาสจะหาทางเชื่อมโยงระหว่างคณะสงฆ์รามัญนิกายกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพราะอาตมาคิดว่า มหาจุฬา ฯ ที่พึ่งของคณะสงฆ์รามัญนิกาย คือลมหายใจของเรา  อาตมาคิดแบบนี้
            อาตมาเชื่อว่า คณะสงฆ์รามัญนิกายจะก้าวหน้าได้ จะพัฒนาได้ต้องได้รับการช่วยเหลือจากมหาจุฬาฯ จะก้าวไปอยู่บนเวทีนานาชาติ มหาจุฬา ฯ คือ ที่พึ่งของคณะสงฆ์รามัญนิกาย อาตมาจึงหวังว่า เมื่อกลับไปนอกจากอาตมาต้องไปพัฒนาพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ในรัฐมอญแล้ว คงต้องขอความช่วยเหลือจากครูบาอาจารย์และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อปรับปรุง ฟื้นฟู คณะสงฆ์รามัญนิกายต่อไป..

 

Leave a Reply