เจ้าคุณสุทิตย์ เขียนถึง “ผู้ว่าชัชชาติกับศาสนา”

วันที่ 6 กันยายน 65  พระสุธีรัตนบัณฑิต,รศ.ดร.ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เขียนถึง นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังมีกระแสโจมตีเรื่องแต่งกายต่างศาสนาว่า

ข้าพเจ้าอาจจะได้พบปะกับอาจารย์ชัชชาติหลายครั้ง หารือกันหลายเรื่องเพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครและสังคมไทย

ท่านอาจารย์มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมของทุกคนให้ดีขึ้น โดยไม่มองว่า คนๆ นั้นเป็นคนที่ไหน ทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพหรือต่างจังหวัด เป็นคนไทยหรือต่างชาติ นับถือศาสนาอะไร มองว่า ทุกคนคือมนุษย์ ที่มีสิทธิและความเท่าเทียมในการที่จะดำรงอยู่อย่างมีความสุข การทำงานของอาจารย์จึงทำเพื่อทุกคน ยิ่งในฐานะผู้ว่ากรุงเทพมหานคร แล้วยิ่งต้องดูแลทุกคน ทุกเชื่อชาติและศาสนา รวยจนเท่ากัน ซึ่งเรามองผ่านนโยบายท่านอาจารย์ก็จะมีแนวปฏิบัติตามนั้น

วันสองวันที่ผ่านได้ยินข่าวพระและประชาชนกลุ่มหนึ่ง ไปเรียกร้องท่าน ประมาณว่า ไม่สบายใจที่ท่านแต่งกายร่วมงานของต่างประเทศที่นับถืออื่น

คำถาม ? การแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ประเทศ คือ ความผิด หรือ ? นักท่องเที่ยวหลายคนไปญี่ปุ่นก็ชอบที่จะใส่เสื้อผ้าญี่ปุ่น ไปประเทศไหน ๆ ก็คล้ายกัน เวลามีนักท่องเที่ยวมาใส่ชุดไทย เราก็ภูมิใจ ซึ่งเป็นการให้เกียรติทางวัฒนธรรมและความร่วมมือ

ในมิติการนับถือศาสนาทุกคน ทุกท่านมีสิทธิ์ในการนับถือศาสนา ตราบใดที่เรายังไม่เอาหลักการของศาสนาตนเองไปประหัตประหารทำร้ายผู้อื่น ยิ่งท่านผู้ว่ามาจากคะแนนเสียงของประชาชนทุกศาสนา ดังนั้น ท่านจึงต้องดูแลทุกคน เพื่อพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ มีสันติสุข

ในคราวหนึ่งข้าพเจ้าไปร่วมงานของวาติกัน และ สหประชาชาติ  ที่อิตาลี ซึ่งมีการประชุมว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมโลกโดยมีการนิมนต์และเชิญผู้นำจากศาสนานานาชาติมาร่วมประชุม ผู้นำของแต่ละศาสนาก็นำเสนอบทบาทและผลงานของตนเองในการช่วยเหลือคนยากจน ผู้ป่วย ผู้อพยพทั่วโลกให้พ้นจากความยากลำบากในการดำเนินชีวิต

ในตอนนั้นข้าพเจ้าได้ฟังผู้แทนของสหประชาชาติคนหนึ่งกล่าวว่า ยอมรับในการนับถือศาสนาทุกๆศาสนาไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์ อิสลาม ฮินดู และพระพุทธศาสนาขอให้ทุกท่านได้ยึดมั่นในหลักการศาสนาของตนเอง   และกล่าวว่าสิ่งที่ผู้นำและสหประชาชาติสนใจที่สุดคือการนำหลักการทางศาสนามาพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงเป็นหลักการสำคัญในการพัฒนา มิใช่การนำความเชื่อของตนเองมาใส่ร้าย ทำร้าย หรือประหัตประหารผู้อื่น

การนับถือศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลและเมื่อเราได้รับความสุขหรือแนวทางการดำเนินชีวิตที่มาจากศาสนา  เราก็ต้องยอมรับในหลักการความเชื่อของศาสนาอื่นซึ่งคนที่นับถือศาสนานั้นเขาก็ได้รับความสุขและแนวปฏิบัติที่ดีจากความเชื่อของเขาเช่นกัน

อย่านำหลักการทางศาสนามาเป็นเครื่องประหัตประหารทำร้ายผู้อื่นควรนำหลักการทางศาสนามาพัฒนาจิตใจของตนเองและสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่

Leave a Reply