วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2563 ตามที่เกิดระบาดไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก ส่งผลกระทบทุกภาคส่วนรวมถึงคณะสงฆ์จำเป็นต้องปรับตัวต้องมีการบริหารจัดการทั้ง 6 ศาสนกิจผ่านสื่อออนไลน์ อย่างเช่นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ในฐานะหน่วยงานหนึ่งของรัฐ จึงออกประกาศมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐ มหาเถรสมาคม และ กระทรวงสาธารณสุข พระเทพปวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร ในฐานะประธานศูนย์ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด (ศปค.19) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ระบุว่า ทางศูนย์ ฯ ได้ออกมาตการ 5 มาตรการในการป้องกันและยับยั้งไวรัสโควิด – 19 ดังต่อไปนี้
1. มาตรการด้านการปฏิบัติงานของบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้บุคลากรของทุกส่วนงานสามารถปฏิบัติงานจากบ้าน (work from home) และจัดวาระการสลับวันเข้าปฏิบัติงานของบุคลากรที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสำนักงาน ลดความแออัดและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งการประชุมสัมมนาโดยระบบออนไลน์ โดยได้สื่อสารให้ทุกส่วนงาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งกำชับให้บุคลากรของ มจร ต้องดูแลรักษาสุขภาพตนเองอย่างเข้มงวด
2. มาตรการด้านการจัดการศึกษา มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้จัดการเรียน การสอนและการสอบวัดผลประเมินผลแบบออนไลน์ทุกรายวิชาและทุกระดับชั้นของการจัดการศึกษา พร้อมกันนี้ยังมีมาตรการในการช่วยเหลือนิสิตในการปรับลดค่าธรรมเนียมการศึกษา มอบทุนการศึกษาและมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เพื่อลดภาระของนิสิตในการดำรงชีวิต ส่วนการรับสมัครเข้าศึกษาและการจัดการเรียนการสอนเน้นระบบออนไลน์เช่นเดียวกัน สำหรับคณาจารย์ให้เตรียมการสอนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ รองรับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่อาจยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน
3. มาตรการดูแลบุคลากรและนิสิตที่พักอยู่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 400 รูป /คน ส่วนมากเป็นนิสิตจากต่างประเทศที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศตนเองได้ มหาวิทยาลัยออกมาตรการกำกับดูแลอย่างเข้มข้น โดยไม่อนุญาตให้นิสิตออกนอกพื้นที่อย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดการด้านสุขอนามัย จัดเครื่องมือทางการแพทย์ เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ตรวจไข้และวัดอุณภูมิร่างกาย พ่นยาฆ่าเชื้อทุกพื้นที่และให้นิสิตเว้นระยะห่างกัน การฉันภัตตาหารใช้ภาชนะส่วนตน แยกกันนั่งฉัน นอกจากนี้ยังวางมาตรการป้องกันการเข้า-ออกทั้งบุคลากรและบุคลภายนอกอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ทางเข้า-ออก ขึ้นและลงอาคารหอพักนิสิต
4. มาตรการด้านการสื่อสารต่อสาธารณชน ในฐานะที่ มจร เป็นสถาบันอุดมศึกษาและเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ จึงได้ดำเนินการสื่อสารแนวคิดยึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้นำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิต ในทุกระบบการสื่อสาร โดยมีศูนย์ควบคุมและป้องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ของมหาวิทยาลัย เป็นแกนกลางในนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาออกเผยแผ่ทางสื่อสารมวลชนทุกแขนงตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน
5.มาตรการการบริหารจัดการภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 (ศปค.19 ) ได้กำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด อย่างเข้มงวด ได้ดำเนินการจัดทำบิ๊กคลีนนิ่งและพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณพื้นที่ทั้งหมด พร้อมกำหนดให้มีการคัดกรองบุคลากร นิสิต และบุคคลทั่วไปที่จะเข้าไปภายในบริเวณมหาวิทยาลัยต้องผ่านการวัดอุณภูมิร่างกายทุกคน และหากเป็นบุคคลภายนอกต้องมีการซักประวัติการเดินทางและบันทึกประวัติอย่างละเอียด หากมีอุณภมิร่างกายสูงผิดปกติจะไม่อนุญาตให้เข้าภายใน นโยบายและมาตรการนี้ให้วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียนและหน่วยวิทยบริการทั่วประเทศนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน
ขณะที่คณะสงฆ์ทั่วไปก็มีการปรับตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 ที่ผ่านมาพระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต (พระอารามหลวง) เป็นประธานการประชุม เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอและพระเลขานุการฯ ผ่านระบบออนไลน์ (VDO Conference) ครั้งที่ 1/2563 เรื่อง ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ของคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี โดยมีศูนย์กลางถ่ายทอดการประชุมออนไลน์จากห้องประชุมสำนักงานคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี วัดเขียนเขต (พระอรามหลวง) ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
ทางด้านคณะสงฆ์และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดประชุมพระสังฆาธิการของจังหวัด ระดับเจ้าคณะอำเภอ -รองเจ้าคณะอำเภอและและพระเลขานุการ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (VDO Conference) เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องตามสถานการณ์ปัจจุบัน
การประชุมประจำเดือนด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ถือว่าเป็นการประชุมครั้งแรกของคณะสงฆ์จังหวัดอยุธยาที่ปรับตัวและรูปแบบนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการประชุม เพื่อป้องกันและหยุดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด -19
โดยวัที่ประชุมวันนี้ได้มีวาระพิเศษเรื่องการเตรียมความพร้อมของวัดสำหรับรองรับมาตรการแก้ไขการแพร่ระบาดของ covid-19 พร้อมกับให้พระสังฆาธิการกำชับพระภิกษุ – สามเณร สนองนโยบายของรัฐ มหาเถรสมาคม และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
และที่ประชุมได้เน้นย้ำการดูแลประชาชนรอบวัด โดยเฉพาะให้วัดที่มีกำลังทรัพย์สนองพระดำริสมเด็จพระสังฆราชตั้งโรงทานพระดำริ เพื่อตอบสนองให้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ตามยุทธศาสตร์การปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาอยางแท้จริง โดยใช้เวลาในการประชุมวันนี้ 2 ชั่วโมง
ต่อมาวันที่ 8 เม.ย.นี้ เพจสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้แชร์เพจ “ข่าวสาร คณะสงฆ์อยุธยา” ที่เผยแพร่การประชุมดังกล่าวพร้อมข้อความว่า “การใช้เทคโนโลยีในวิกฤตแบบนี้เป็นทางออกที่ดี และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ลดการแพร่ระบาด ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาในการประชุม”
Leave a Reply