วันที่ 15 มิ.ย.2563 เพจทีวีแม็ค เวทีสาธารณะเพื่อการศึกษา ได้โพสต์ข้อความว่า รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 6/2563 ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรมควบคุมโรคในการป้องกันและแก้ไขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสถานศึกษา
โดย สพฐ.ได้เชิญผู้แทนจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มาให้ความรู้ความเข้าใจถึงมาตรการในการเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค.2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยให้โรงเรียนมีคณะกรรมการระดับโรงเรียนที่มาจากครู ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการร้านอาหารในโรงเรียน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
ทั้งนี้ จากข้อมูลถึงแม้นักเรียนในวัยระดับประถมฯ และมัธยมฯ จะมีโอกาสติดเชื้อเพียง 0.2% แต่ที่ห่วงคือ หากนักเรียนติดเชื้อแล้วจะเป็นพาหะนำไปสู่ผู้ปกครองและชุมชน ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะว่า เมื่อเปิดภาพเรียนแล้ว หากพบว่ามีนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 ก็ให้โรงเรียนส่งนักเรียนไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้เลย ไม่ควรปล่อยให้เด็กกลับบ้าน เพราะอาจจะเกิดการระบาดที่ควบคุมได้ยาก หรือหากผู้ปกครองพบว่านักเรียนติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถพาไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น ผู้ปกครองจึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายตรงนี้
“ในวันนี้ที่ห่วงมากคือ สถานศึกษาจะเปิดก่อนสถานบันเทิง ดังนั้น เราจะต้องมีมาตรการในการป้องกันให้ชัดเจนขึ้น เรามองว่านักเรียนโดยเฉพาะระดับชั้นอนุบาล ที่มีการนอนกลางวันในบางโรงเรียน ถ้าผู้ปกครองสามารถมารับกลับไปนอนที่บ้านได้ ก็จะเป็นวิธีที่ดี จะทำให้จำนวนนักเรียนที่นอนในโรงเรียนลดลง แต่หากผู้ปกครอง พ่อแม่ไม่สะดวกอยากให้มารับตอนเลิกเรียนได้ ส่วนโรงเรียนที่ราบสูง หรือโรงเรียนในเกาะ แก่ง ที่มีหอพักนอนเนื่องจากเด็กไม่สามาารถเดินทางกลับบ้านได้นั้น ที่ประชุมมีความกังวลเรื่องหอพักนอนที่เด็กอาจจะนอนจำนวนมาก จึงมีการเสนอว่า น่าจะเปิดให้เด็กเหล่านั้นได้นอนในห้องเรียนแทนเรือนพักนอนที่แออัด และจากที่เคยนอเรือนพักนอนห้องละ 20 คน ก็ให้ลดเหลือห้องละ 10 คน ที่เหลือก็ให้กระจายไปนอนตามห้องเรียนที่ปรับป็นห้องนอนได้ เพราะเด็กต่างจังหวัดบางคนกลับบ้านไม่ได้ ซึ่งก็เป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันโรคได้
ขณะนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่แออัดสามารถเปิดเรียนได้เลย หรือหากโรงเรียนมีความพร้อมก็ทดลองเปิดก่อน 1 ก.ค.ได้ แต่ 1 ก.ค.เปิดเรียนเป็นทางการ เนื่องจากขณะนี้ข้อมูลการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม และจากสถิติผู้ติดเชื้อก็อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้น เราจึงไม่กังวลมาก แต่ห่วงกรณีหากมีเด็กรับเชื้อแล้วจะเป็นพาหะไปบ้านและชุมชน และที่กังวลคือโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่ สพฐ.ก็กำหนดแนวทางปฏิบัติในการป้องกันให้แล้ว เช่น การเหลื่อมเวลาเรียนในแต่ละระดับชั้น และลดจำนวนนักเรียนต่อห้องลง เพื่อลดความอแออัดภายในโรงเรียน แต่ต้องเรียนให้ครบตามหลักสูตร ซึ่ง ผอ.โรงเรียน ก็ต้องมีความเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการ รวมถึงครูก็ต้องปรับตัวในการเรียนการสอนหากมีการเรียนด้วยระบบไลน์มาผสมผสานและให้ครูดูความสามารถของนักเรียนอย่างไกลชิด” รศ.เอกชัย กล่าว
ประธาน กพฐ.กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้รายงานผลการสอบคัดเลือกนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2563 และการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4) ปีการศึกษา 2563 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยการสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และ สพฐ.ได้กำหนดให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการหาที่เรียนให้กับนักเรียนที่ผิดหวังจากการสอบให้ได้มีที่เรียนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 – 21 มิ.ย.นี้
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวมีพระพรหมบัณฑิต (ป.ธ.9,ศ.,ดร.,ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, อัคคมหาบัณฑิต) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ไทย ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ร่วมด้วย
Leave a Reply