เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า ถือนิมิตหมายและมงคลที่ดีในวันพระ จาริกธรรมไปพบกับเครือข่ายโคกหนองนาในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำโคกหนองนา และการเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน รวมถึงกระบวนการในการจัดเก็บน้ำตามหลักการของธนาคารน้ำ เพื่อใช้หล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตรตลอดทั้งปี
ญาติธรรมทั้งสาม คือ ลุงบุญมีปลูกไฝ่กิมซุง และไฝ่ซางหม่น ร่วม 3 ไร่ ในขณะที่โยมสมพงศ์ปลูกฝรั่งกิมจู และฝรั่งหลากชนิด รวมถึงมะนาวและสวนป่านานาพันธุ์ ส่วนโยมธนศิลป์ ได้ทำโคกหนองนาเต็มรูปแบบ ปลูกเกษตรผสมผสานหลายชนิด โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ปีที่แล้วเพื่อหลบพิษโควิด 19
จะพบว่าโรคภัยโควิด 19 ได้ทำให้ผู้คนจำนวนมากหันมาทำเกษตรผสมผสาน และทุกคนพูดเหมือนกันว่า อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่ให้คำนึงถึงการพอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น จนก้าวไปสู่การพอแบ่งปันและพอจำหน่าย ความสุขคือการมีสติอยู่กับสวนตั้งแต่เช้ายันกลางคืน
โควิดอาจจะนำวิกฤติมาสู่คนบางกลุ่ม แต่คนที่ไม่กลุ้มคือกลุ่มคนที่อยู่ตามเรือกสวนไร่นา ค้นหาสติ สมาธิ และความสุขอยู่ในพื้นที่โคกหนองนากับครอบครัว โควิดจึงเป็นโอกาสให้คนเหล่านี้ได้อยู่กับธรรมชาติ ได้ตรึกรู้คุณค่าแท้ของชีวิตในรูปแบบที่ตัวเองเลือก ให้ธรรมชาติได้เยียวยาร่างกายและจิตใจด้วยความร่มเย็นเป็นสุข
ก่อนหน้านี้พระมหาหรรษา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว”Hansa Dhammahaso” ความว่า
#สันติภาพลงดินสันติภาพกินได้
#โคกหนองนาและเกษตรผสมผสาน
#เพื่อความมั่นคงทางอาหารในยุคโควิด
นำชาวบ้านและชุมชนที่สนใจโครงการพัฒนาโคกหนองนา และธนาคารน้ำ เข้ารับการศึกษาและดูงาน ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ โดยมี #หลวงพ่อสังคม ธนปัญโญ ทำหน้าที่ถอดบทเรียน และสรุปแนวทางในการเข้าสู่โครงการโคกหนองนาและธนาคารน้ำ
เป็นที่น่าสนใจว่า ชาวบ้านจำนวนมากแจ้งความประสงค์ที่จะเข้าสู่โครงการดังกล่าว โดยจัดเตรียมที่นาตั้ง 1 ไร่ ถึง 20 ไร่ สำหรับรองรับการออกแบบ และขุดพื้นที่ปรับให้เป็นโคกสำหรับปลูกต้นไม้และพืชผัก หนองน้ำสำหรับเลี้ยงปลา และนาสำหรับปลูกข้าวอินทรีย์
สิ่งที่ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายการทำงานอย่างมากคือ ทุนทรัพย์สำหรับการขุดและปรับพื้นที่โคกหนองนาและธนาคารน้ำ สำหรับคนที่เข้าสู่โครงการที่รัฐสนับสนุนอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่สำหรับคนทั่วไปที่สนใจ อาจจะต้องคิดหนักเรื่องทุน ซึ่งขณะนี้ กำลังปรึกษากับทีมงานเพื่อหาทางออกดังกล่าว
ทำแบบคนจนจะไม่มีวันจน ถ้าคนจนทำแบบคนรวยจะยิ่งจนเป็นหนี้เป็นต่อไป จึงต้องเริ่มแบบการขุดมือทีละเล็กน้อย โดยเริ่มจากการขุดคลองใส่ไก้ก่อน แล้วค่อยๆ เอามื้อหรือลงแขกขุดสระ หรือจะใช้วิธีขุดสระเพื่อแลกดิน อันเป็นการทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ขั้นสุดท้ายอาจจะต้องหาแหล่งทุนเข้ามาสนับสนุนการขุดหรืออาจจะลงมือหาเอกชนเข้ามาสนับสนุน
สิ่งที่จะได้ตามมาคือ การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ ตามพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการได้ผืนป่า ที่เกิดจากการปลูกในพื้นที่โคกหนองนาแบบหลุมพอเพียงโดยมีต้นกล้วยเป็นแม่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงให้ต้นไม้ที่ปลูกรอบต้นกล้วยได้เจริญเติบโต เป็นปอดสร้าง Oxygen แก่ชุมชนและสังคมต่อไป
Leave a Reply