ผลประเมินประกันคุณภาพ สันติศึกษา”มจร”ป.เอก 4.40 ผู้ทรงคุณวุฒิแนะหายุทธวิธีเพิ่มนักศึกษา ชื่นชมโคกหนองนาสันติโมเดล ทำให้สังคมพออยู่พอร่มเย็นยุคโควิด-19
ระหว่างวันที่ 26 – 27 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญประกันคุณภาพจากภายนอกตรวจประเมินคุณภาพหลักสูตรสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) แบบออนไลน์และออฟไลน์ นำโดย พระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย, ผศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประธานกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายในหลักสูตรสันติศึกษา โดยเป็นการตรวจประเมินคุณภาพอย่างเข้มข้นโดยกรรมการจากภายนอก ได้มีการประเมินผลตามตัวบ่งชี้ ตามองค์ประกอบที่ 1 การกำกับมาตรฐาน ตามองค์ประกอบที่ 2 บัณฑิต ตามองค์ประกอบที่ 3 นิสิต ตามองค์ประกอบที่ 4 อาจารย์ ตามองค์ประกอบที่ 5 หลักสูตรการเรียนการสอนและการประเมินผู้เรียน ตามองค์ประกอบที่ 6 สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ ถือว่าเป็นการตรวจประเมินคุณภาพหลักสูตรอย่างละเอียดโดยสอบถามผู้บริหารหลักสูตร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ รวมถึงมีการสัมภาษณ์ศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันของหลักสูตรสันติศึกษาเพื่อการประเมินคุณภาพในเชิงมิติของการพัฒนาต่อไป
รศ.ดร.วิไล ตั้งจิตสมคิด อดีตรองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กรรมการ ตั้งขอคำถามว่า ทำไมและอย่างไรหลักสูตรสันติศึกษา มจร จึงมีผู้สนใจเข้าสมัครเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมากแม้จะอยู่ในภาวะของโควิด ซึ่งผู้คนต่างได้รับผลกระทบมากในมิติต่างๆ ในชีวิตและการทำงาน ซึ่งปัจจุบันกำลังรับสมัครนิสิตปริญญาโทรุ่น 9 และระดับปริญญาเอกรุ่น 6 ตอนนี้จำนวนผู้สมัครจำนวน 60 รูป/คน คำถามอะไรคือจุดแข็งของหลักสูตรสันติศึกษา มจร
เมื่อคณะกรรมการได้รับฟังจากหลักสูตรทำให้เข้าใจเป็นอย่างประจักษ์แจ้ง ถึงผลงานของหลักสูตรสันติศึกษา โดยหลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้มีการร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันพระปกเกล้าและสำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ในการพัฒนาวิศวกรสันติภาพในการพัฒนาสันติภายในสู่การออกไปพัฒนาสันติภายนอกคือ บุคคล สังคม โดยเน้น 4 ภาพ คือ 1) ด้านกายภาพ เน้นการพัฒนาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โคกหนองนาสันติโมเดล เน้นพออยู่พอร่มเย็น 2) ด้านพฤติภาพ เน้นให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ หาวิธีการในการเจรจาไกล่เกลี่ยเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น พัฒนาการเรียนการสอนที่โรงเรียนในการพัฒนาสติดิจิทัลให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด 3) ด้านจิตตภาพ เน้นการพัฒนาจิตใจของเด็กเยาวชนให้มีภูมิคุ้มกันหมู่ในด้านสติสมาธิให้เกิดขึ้นในเด็กเยาวชน การเรียนรู้ที่มีสติและสมาธิเป็นฐาน 6) ด้านปัญญาภาพ เน้นปัญญาเพื่อออกแบบสันตินวัตกรรมให้ชุมชนเข้าใจ ออกแบบเครื่องมือให้เหมาะสมกับชุมชน รวมถึงศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน การพัฒนาเป็นผู้ประนีประนอมในศาลยุติธรรม
รศ.ดร.กันต์ฤทัย คลังพหล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการและเลขานุการ กล่าวชื่นชมหลักสูตรสันติศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นซึ่งตอบโจทย์สังคม เช่น หลักสูตรไกล่เกลี่ข้อพิพาท หลักสูตรวิทยาต้นแบบสันติภาพ หลักสูตรทูตสันติภาพ หลักสูตรโค้ชสติ หลักสูตรที่บริการสังคมในมิติเสริมสร้างสังคมสันติสุข ซึ่งอนาคตจะมีหลักสูตรโคกหนองนาสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและจิตใจ จึงทำให้มองเห็นศักยภาพของคณาจารย์ของหลักสูตรสันติศึกษาและขอชื่นชมผลงานของหลักสูตรสันติศึกษาทุกมิติ พร้อมเสนอแนะที่ต้องพัฒนาต่อไป
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ศาสตราจารย์ ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษา มจร จึงกล่าวขอบคุณคณะกรรมการ ด้วยการย้ำว่า คำว่า วิศวกรสันติภาพเป็นจุดเริ่มของพระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. ซึ่งเรามีวิศวกรสร้างตึกอาคารมากมายแต่เรายังไม่มีวิศวกรสันติภาพ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาวิศวกรสันติภาพ โดยเราร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้าซึ่งมีเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง รวมถึงสำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ทำให้เราเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร และพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทรุ่นที่ 1-4 โดยมีคณาจารย์ของหลักสูตรสันติศึกษาซึ่งแต่ละท่านมีบทบาทเพื่อพัฒนาหลักสูตรสันติศึกษา ขอบคุณอย่างยิ่ง
พระมหาหรรษา กล่าวเน้นย้ำว่า ขอบคุณ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมาช่วยมอง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผนึกกำลังผู้ทรงคุณวุฒิประเมินหลักสูตรสันติศึกษา โดยท่านอาจารย์พระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย,ผศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะประธานกรรมการตรวจประเมิน พร้อมด้วย รศ.ดร.วิไล ตั้งจิตสมคิด และ รศ.ดร.กันต์ฤทัย คลังพหล ได้กรุณาทำหน้าที่เป็น “ผู้ให้” แก่หลักสูตรสันติศึกษา มจร ประกอบด้วย
1) ให้กำลังใจ ในทุกก้าวย่างของการเดินทางไปสู่การทำงานเพื่อตอบโจทย์อะไรสักอย่างนั้น ย่อมมีความลำบากและยุ่งยากในการบริหารจัดการเสมอ ถึงกระนั้น สิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การจดจำ คือ “มิตรในยามยาก” ที่คอยทำหน้าที่ชี้แนะแนวทางที่ทรงค่าประกอบการก้าวเดิน
2) ให้แนวทางปฏิบัติที่ดี ในแต่ละช่วงเวลาของการทำงานนั้น เรามักจะได้รับข้อเสนอแนะเป็นแนวทางปฏิบัติอยู่เสมอ แต่จะมีสักกี่แนวปฏิบัติที่ย้ำเตือนจิตใจจนเราตระหนักรู้ว่า “นี่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี” และควรค่าแก่การนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อให้การทำงานเติบโตแบบก้าวกระโดดมากยิ่งขึ้น
ทั้ง 2 ให้ดังกล่าวข้างต้นนั้น สะท้อนผ่านหัวใจที่เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาที่บริสุทธิ์ ผนวกกับปัญญาที่สะสมผ่านประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ย่อมเป็นการให้ที่นับได้ว่ามีคุณูปการอย่างมหาศาลต่อการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง และมั่นใจต่อทิศทางที่กำลังเดินต่อไปว่า ถูกทาง และถูกสันติธรรม ในส่วนของท่านอาจารย์มหาฉัตรชัยนั้น ย่อมถือว่า มีบทบาทต่อการทำหน้าที่ #มมร ช่วยเหลือ มจร อย่างมีนัยสำคัญ ในฐานะที่ท่านได้เชื่อมสมานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งสองให้มีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นต่อการทำหน้าที่ครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้ฟังแนวทางการประเมิน และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แล้ว ทำให้ทราบได้ว่า มมร ได้จัดวางบุคลากรที่มีความสามารถ และเหมาะสมอย่างยิ่ง ในการเข้ามารับภาระสำคัญต่อการทำงานในตำแหน่ง “รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และพัฒนาคุณภาพ” เชื่อมั่นว่า ท่านในฐานะที่เป็นพระรุ่นใหม่ จักเป็นกำลังสำคัญของ มมร ในการขับเคลื่อนงานวิชาการ และพัฒนาคุณภาพองคาพยพต่างๆ ของ มมร ให้เจริญก้าวหน้า และเจริญเติบโต เพื่อนำพระพุทธศาสนาไปตอบโจทย์สังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในขณะนี้
พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร เลขาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ฝ่ายสื่อสารองค์กรหลักสูตรสันติศึกษา มจร ระบุว่า ในนามหลักสูตรสันติศึกษา มจร จึงขอขอบคุณคณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิในการตรวจประเมินทุกท่านในการชี้ขุมทรัพย์เพื่อการพัฒนาให้หลักสูตรมีคุณภาพต่อไป เพราะคุณภาพของหลักสูตรคือคุณภาพของนิสิตคุณภาพของสถาบันที่ชื่อว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยซึ่งสถาบันมหาจุฬาโดยรัชกาลที่ 5 จากนั้น พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ศาสตราจารย์ ดร. ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้ขอบคุณคณาจารย์และเจ้าหน้าที่หลักสูตรสันติศึกษา มจร ซึ่งรับผิดชอบการประกันคุณภาพหลักสูตรโดย อาจารย์ ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา และเลขาหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต มจร ร่วมกับพระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ ผศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต รวมถึงคณาจารย์เจ้าหน้าที่ของหลักสูตรทุกรูป/ท่าน พร้อมศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันของหลักสูตรสันติศึกษาทุกท่าน
ดังนั้น การที่คณะกรรมการตั้งคำถามว่า ทำไมและอย่างไรถถึงมีผู้สมัครหลักสูตรสันติศึกษาเป็นจำนวนมาก กรรมการได้คำตอบเป็นที่เรียบร้อยจากคุณภาพของหลักสูตรที่ปรากฎ ด้วยการยกระดับเป็นหลักสูตรคุณภาพแห่งปีการศึกษา 2563 ทำให้ผลประกันคุณภาพหลักสูตรสันติศึกษาจากผู้ประเมินภายนอกระดับสถาบันและTQR ผลประเมินระดับปริญญาโทอยู่ที่ 4.34 ถือว่ามากกว่าปีที่ผ่านมา และผลประเมินระดับปริญญาเอก อยู่ที่ 4.40 ถือว่ามากกว่าปีที่ผ่านมา แสดงถึงการพัฒนาขึ้นในมิติของการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก
Leave a Reply