“ยธ.”การันตี! โคกหนองนาสันติศึกษาโมเดล ยกระดับยุติธรรมชุมชนกินได้

หลักสูตรสันติศึกษา มจร ร่วมกับสำนักงานกิจการยุติธรรม ยธ. และศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร จัดกิจกรรมบริการวิชาการบริการสังคมในด้านมิติของยุติธรรรม หัวข้อ”ยุติธรรมสมานฉันท์ ยุติธรรมกินได้ “ผ่านออนไลน์ Zoom ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรมการันตีโคกหนองนาสันติศึกษาโมเดลยกระดับยุติธรรมชุมชนกินได้

เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา และเลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร จัดกิจกรรมบริการวิชาการบริการสังคมในด้านมิติของยุติธรรรม ผ่านออนไลน์ Zoom โดยมีผู้สนใจจำนวนมากที่เป็นเครือข่ายและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมรับฟังในเวลา ๑๙.๐๐-๒๑.๓๐ น.

โดยมีพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ศาสตราจารย์ ดร.ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร นำไหว้พระเจริญสติภาวนาและกล่าวเปิดความว่า ที่เรากิจกรรมในครั้งนี้เพราะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างมหาจุฬากับสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ถือว่าเป็น MOU ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านยุติธรรม โดยสถานการณ์ปัจจุบันสังคมมีความขัดแย้งหลากหลายมิติจึงต้องมีการอำนวยความยุติธรรมทางเลือกในภาคประชาชน เรามีการพัฒนาฝึกอบรมผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อออกไปทำงานในสังคม ถึงแม้ปัจจุบันสังคมเรากำลังเผชิญกับภาวะโควิดยิ่งทำให้คนในสังคมมีความขัดแย้ง เช่น ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง คนในครอบครัว คนในชุมชน ยิ่งในตอนนี้ต้องมีการเยียวยาทางด้านกายภาพและจิตตภาพ เหมือนผึ้งแตกรังต้องเดินทางกลับมาอยู่ต่างจังหวัด กลับมาหาพ่อแม่ในยามโควิด หลักสูตรสันติศึกษาจึงมีการพัฒนาสันติภาพลงดิน สันติภาพกินได้ มีการนำอาหารเป็นผลผลิตที่ปลอดสารพิษจากโคกหนองนาสันติโมเดลไปแจกให้กับคนในชุมชนที่เดินทางมาจากเมืองหลวง ทำให้สอดรับกับคำว่า ยุติธรรมกินได้ ซึ่งจะหัวข้อบรรยายในค่ำคืนนี้

พันตำรวจโท ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม บรรยายหัวข้อ “ยุติธรรมสมานฉันท์ ยุติธรรมกินได้” กล่าวประเด็นสำคัญว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือของความยุติธรรม ความอยุติธรรมเกิดขึ้นเมื่อคนที่เท่ากันได้รับการปฏิบัติอันไม่เท่าเทียมและเมื่อคนที่ไม่เท่าเทียมกันได้รับการปฏิบัติอันเท่าเทียม โดยความยุติธรรมในการแบบแบ่งสันปันส่วนและความยุติธรรมในการชดเชยหรือทดแทน ในมุมของสังคมอาจจะมองว่าไม่มีความยุติธรรม เพราะกฎหมายไม่ยุติธรรมจะต้องแก้กฎหมาย ในมาตรา ๗๗ จะต้องรับฟังเสียงของประชาชน สร้างสังคมเคารพกฎหมาย เป้าหมายของงานยุติธรรมคือให้เกิดความยุติธรรมในสังคม จึงมีผู้กระทำ กับ ผู้ถูกกระทำ เมื่อเกิดความขัดแย้ง รัฐจึงพยายามเป็นคนกลาง ถามว่าผู้ถูกระทำได้รับการเยียวยาหรือไม่ ผู้ถูกระทำไม่ได้รับการเยียวยา จึงต้องมีการชดเชยเยียวยา

จึงมีพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.๒๕๖๒ กว่าจะผ่านต้องใช้เวลายาวนาน โดยกระบวนยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เริ่มต้นจากชุมชน มีเจ้าโคตร มีพระสงฆ์ ไม่ได้เป็นทางการแต่เป็นที่ยอมรับ จึงพัฒนามาเป็นกฎหมาย จึงคลอด พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยขึ้น จึงมีศูนย์ยุติธรรมชุมชน มีศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ยุติธรรมกินได้คือการใช้กฎหมายให้คนอยู่ดีกินดี โคกหนองนาสันติศึกษาโมเดลจึงสามารถตอบโจทย์ โดยกระบวนการยุติธรรมแบบฟ้องร้องสร้างข้อจำกัดความเจ็บปวด แต่การไกล่เกลี่ยเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่ดีสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์และช่วยเหลือเยียวยาในมิติของความยุติธรรม เมื่อเกิดความขัดแย้งต้องมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์และช่วยเหลือเยียวยาในมิติของความยุติธรรม มีประเด็น ๔ มิติ ประกอบด้วย ๑) หลักการสำคัญและแนวปฏิบัติในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีการช่วยเหลือเยียวยาผู้เกี่ยวข้อง และได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ๒) กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ๓) งานยุติธรรมชุมชน ๔) งานยุติธรรมเด็กและเยาวชน จึงมีการเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมกระเเสหลัก (Conventional Criminal Justice) กับ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) ประกอบด้วย

๑) กระบวนยุติธรรมกระแสหลัก หรือ กระบวนการยุติธรรมแบบฟ้องร้อง : Litigation ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อไต่สวนชี้ขาดข้อพิพาท กระทำผิดละเมิดต่อรัฐ มีการละเมิดกฎหมาย มีการลงโทษผู้กระทำผิดตามหลักกฎหมาย มุ่งแก้แค้นทดแทน สร้างความข่มขู่ยับยั้ง และตัดโอกาสไม่ให้กระทำผิดอีก รูปแบบการของรัฐ ด้วยการล้างแค้น มุ่งล้างแค้น กักขัง จำคุก ประหารชีวิต ละเลยทางด้านจิตใจ ถือว่าเป็นแนวทางอำนวยความยุติธรรมดั้งเดิมตามคติว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ใช้เวลานาน มีผู้ตั้งคำถามว่ากระบวนการยุติธรรมกระแสหลักให้ความสำคัญกับคนน้อยเกินไป แต่อำนาจรัฐควบคุมเพื่อมิให้มีการกระทำความผิด สามารถควบคุมอาชญากรรมได้

๒) กระบวนยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือ ยุติธรรมทางเลือก การกระทำผิดอาญาเป็นการทำลายสัมพันธภาพที่ดีระหว่างบุคคลและความสมานฉันท์ในสังคม การกระทำผิดอาญาก่อให้เกิดผลกระทบความเสียหายจึงจำเป็นต้องมีการเยียวยา หรือ ฟื้นฟู: Restore ความเสียหายหรือผลกระทบจากการกระทำความผิดให้ทุกฝ่ายที่ได้รับผลร้าย ซึ่งรวมถึงผู้เสียหาย หรือ เหยื่ออาชญากรรม ผู้กระทำผิดและชุมชนเพื่อให้มีการชดใช้: Restitution การแก้ไขฟื้นฟู: Rehabilitation และการกลับเข้าสู่สังคม:Reintegration มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมมากกว่าอดีต ผู้กระทำผิดไม่ถูกตีตราจากสังคม ลดปริมาณคดี กระบวนการยุติธรรมทางเลือก: Alternative Dispute Justice เริ่มจากทุกฝ่ายตกลงใจที่จะเข้าสู่กระบวนการ ประกอบด้วย ๑) การเจรจา:Negotiation เป็นการคุยกันเอง ๒) การไกล่เกลี่ย: Mediation มีคนกลางไกล่เกลี่ย ๓) อนุญาโตตุลาการ : Arbitration มีคนชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.๒๕๖๒ ใน ๖ หมวด ๗๒ มาตรา กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มุ่งการฟื้นฟู ผู้ถูกกระทำ หรือ ผู้เสียหาย คืนสู่สภาพปกติ ด้วยการให้โอกาสผู้กระทำ ได้สำนึก ขอโทษ พร้อมชดใช้เยียวยาค่าเสียหาย มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล เหยื่อไม่ถูกกีดกันออกจากกระบวนการยุติธรรม

จึงมีการเกิดของยุติธรรมชุมชน เป็นกระบวนการที่กระทำในชุมชนระดับรากหญ้า ชุมชนต้องมีส่วนร่วมหรือเป็นหุ้นส่วน ทำให้สะท้อนถึง การเยียวยา: Remedy การเยียวยาอย่างเป็นผล การชดเชยกลับคืนสู่สภาพเดิม สินไหมทดแทน บำบัดฟื้นฟูสภาพ การทำให้พอใจ และประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ความขัดแย้งจึงนำไปสู่ข้อจำกัดความเจ็บปวด ทำให้คิดวิธีการล้างแค้นเชิงสร้างสรรค์โดยใช้กระบวนการของรัฐเป็นเครื่องมือ ด้วยการใช้กระบวนการยุติธรรมแบบหลักแบบฟ้องร้อง แต่กระบวนการไกล่เกลี่ยนับว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่ดี เพราะฟื้นฟูความสัมพันธ์ช่วยเหลือเยียวยาในมิติของความยุติธรรม

ดังนั้น ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมจึงย้ำว่าโคกหนองนาสันติศึกษาโมเดลยกระดับยุติธรรมกินได้ ถือว่าเป็นแนวทางการเยียวยาทางด้านกายภาพและจิตตภาพยามโควิด ซึ่งเป้าหมายของงานยุติธรรมคือทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคมมากที่สุด

Leave a Reply