สัมภาษณ์พิเศษ: พระเทพเวที รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร : พระภิกษุกับสานต่อเจตนารมณ์ ‘พระพุทธเจ้า’ ในวิกฤตโควิด-19

“จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย ..ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย..

แม้ว่าจะข้ามผ่านกาลเวลามานานกว่า ๒,๕๐๐ ปี หากแต่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงได้รับการสืบสานเรื่อยมาในทุกยุคทุกสมัย เราจึงเห็น “พระภิกษุสงฆ์” เข้ามามีบทบาทสำคัญในวิกฤตการณ์ต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็นับเป็นอีกครั้งที่พระสงฆ์ได้เข้ามามีบทบาทนำ ในฐานะปลุก-ปลอบ โอบอุ้ม สร้างขวัญและกำลังใจให้ญาติโยม เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและที่พึ่งของชุมชน ควบคู่ไปกับการหนุนเสริมด้านการดูแลรักษาพยาบาล

ก่อกำเนิดเป็นโครงการและกิจกรรมเชิงรุกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพระนิสิตจิตอาสาชาวเมียนมาที่ได้เข้ามาช่วยสื่อสาร-ทำความเข้าใจแรงงานข้ามชาติ เมื่อครั้งเกิดการระบาดใหญ่ที่แพกุ้ง จ.สมุครสาคร หรือการเปิดโรงครัวแจกจ่ายอาหารให้กับประชาชน การจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อผู้ป่วยสีเขียวขึ้นในวัดที่มีศักยภาพ ตลอดจนการสนับสนุนระดมทรัพยากร ประสานความร่วมมือเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามโดยคณะสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์โควิด-19 ระลอกสี่ ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงทะลุ ๒ หมื่นคนต่อวัน และจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่กำลังเดินหน้าสู่หลักล้านคนในอีกไม่ช้า แน่นอนว่าทุกชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยง หลายคนหวาดวิตก รู้สึกสิ้นหวัง ซ้ำร้ายกว่านั้นมีไม่น้อยที่ต้องกลายมาเป็น “ผู้สูญเสีย” โดยไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ

เว็บไซร์ข่าวศาสนาthebuddh” ได้นำข้อมูลสัมภาษณ์จาก   “นิตยสารสานพลัง” ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งได้รับความเมตตาจาก พระเทพเวที (รศ.ดร.) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เจ้าคณะภาค ๖  อรรถาธิบายความอย่างลึกซึ้ง … อะไรคือบทบาทของ พระภิกษุสงฆ์” ในโมงยามนี้

 สานต่อเจตนารมณ์ ‘พระพุทธเจ้า’ ในวิกฤตโควิด-19 

พระเทพเวที อธิบายว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระสาวกเมื่อครั้งจะออกไปประกาศศาสนาว่า ให้เดินจาริกเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ยึดถือกันมาจนถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับคำสอนของพระองค์ที่ว่า “พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย” เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ประชาชนหมู่มาก และพระองค์ยังได้แบ่ง “โรค” ออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ โรคทางกาย หรือกายิกโรค และโรคทางใจ หรือเจตสิกโรค

อย่างไรก็ดี ในหลักของพระพุทธศาสนาจะเน้นไปที่ “เจตสิกโรค” เป็นสำคัญ นั่นคือการแก้ปัญหาความทุกข์ใจ ความกังวล ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์โดยตรงที่จะเข้าไปช่วยตรงนี้

“โดยบริบทพระพุทธศาสนา เราก็สอนหลักธรรม พรหมวิหาร ๔ ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุฑิตา และอุเบกขา เมื่อเห็นผู้อื่นตกทุกข์ได้ยาก พระสงฆ์ก็จะไม่ทิ้งให้เดียวดาย” พระเทพเวที ขยายความ

พระเทพเวที เล่าต่อไปว่า พระสงฆ์ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือญาติโยมทุกๆ ครั้งที่เผชิญกับวิกฤตหรือสถานการณ์ใหญ่ ตัวอย่างเช่น ภัยธรรมชาติอย่างสึนามิ เมื่อปี ๒๕๔๗ จนมีการตั้งกองทุน “วัดช่วยวัด” ขึ้น โดยขณะนั้นเริ่มต้นจากการช่วยพระ-เณรก่อน เพราะถือว่าพระ-เณร ก็เป็นส่วนหนึ่งของประชากรไทยและควรได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งความช่วยเหลือเดียวกันนี้ก็เผื่อแผ่ไปทางญาติโยมด้วยเช่นกัน

กองทุนดังกล่าวเป็นการระดมทุนภายในคณะสงฆ์ ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระจากทางภาครัฐ ไม่ว่าจะมีภัยอะไรเกิดขึ้น คณะสงฆ์ก็ยินดีพร้อมใจ รวบรวมปัจจัยที่ญาติโยมถวายมาตั้งเป็นกองทุน โดยในส่วนการระดมเฉพาะหน้าก็เป็นงานสาธารณสงเคราะห์ ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจ กฎหมายของคณะสงฆ์

“คณะสงฆ์มีบทบาทในการช่วยสังคมตลอดเวลา มีการตั้งคณะกรรมการประจำจังหวัดที่เรียกว่าคณะกรรมการสาธารณสงเคราะห์ประจำจังหวัด เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็จะมีการสื่อสารและช่วยเหลือประชาชนทันที” พระเทพเวที ระบุ

ในส่วนของสถานการณ์โควิด-19 คณะสงฆ์มีการปรึกษาหารือกันอยู่ตลอดเวลา โดยจะมีคณะกรรมการสาธารณสงเคราะห์ฯ ที่จะคอยช่วยเหลือในเชิงประจักษ์ เช่น ช่วยเหลือด้านสิ่งของ เปิดโรงครัว จนไปถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งคณะสงฆ์ก็จะทำงานเพิ่มศักยภาพมากขึ้น

สำหรับการแพร่ระบาดระลอก ๒-๓ นั้น ปรากฏว่าการแพร่ระบาดขนาดใหญ่เป็นวงกว้าง ฉะนั้นคณะสงฆ์ก็ต้องขยายการทำงาน ปรับตัว และเพิ่มศักยภาพมากขึ้นเป็นกรณีพิเศษ โดยบทบาทของคณะสงฆ์นั้นก็จะเป็นไปตามสถานการณ์ความรุนแรงของโรค โดยองค์กรสูงสุดคือพระมหาเถรสมาคม (มส.) ก็ได้มีมติมาออกมาเป็นระยะว่าให้คณะสงฆ์ให้ร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ซึ่งพระสงฆ์ก็ทำเป็นองคาพยพใหญ่ทั่วประเทศ

นั่นจึงเกิดการขยายจัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 (Community isolation) หรือโรงพยาบาลสนามในวัดที่มีศักยภาพ ซึ่งทางวัดก็ยินดีที่จะช่วยฝ่ายภาครัฐ มากไปกว่านั้นพระสงฆ์ยังรับหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อสื่อสาร ทำความเข้าใจกับชุมชน จนทำให้เกิดการขยายโรงพยาบาลสนามขึ้นในวัดหลายแห่งในขณะนี้

“พระสงฆ์มีนโยบายเชิงปกครอง เมื่อญาติโยมเกิดปัญหาพระสงฆ์ก็ต้องให้ความร่วมมือ ฉะนั้นเมื่อทางราชการมาขอความร่วมมือ วัดทั้งหลายจึงยินดีพร้อมใจที่จะให้ความร่วมมือ เริ่มตั้งแต่รับศพผู้ป่วยโควิดมาฌาปนกิจ แม้ในช่วงแรกบางวัดอาจจะยังปฏิเสธ แต่ในด้านปกครองก็ขอความร่วมมือไปตอนนี้ทุกวัดก็ยินดี” พระเทพเวที ระบุ

หมอรักษาใจกับความจริงของธรรมชาติ

พระเทพเวที เล่าต่อว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยราชจุฬาฯ ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อเข้ามาช่วยให้ความรู้ โดยจะมุ่งไปที่ความรู้ด้านกายเป็นหลัก

ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาในโรคทางใจ ทางคณะสงฆ์ก็ยังทำเคียงคู่กันไป เมื่อย้อนกลับไปช่วงคลัสเตอร์ จ.สมุทรสาคร และเป็นสถานที่ทำงานพี่น้องชาวพม่า นิสิตต่างชาติจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬา โดยเฉพาะนิสิตพม่าก็ได้เข้าไปเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือด้านการบรรเทาทุกข์ทางใจ เพื่อเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือด้านการบรรเทาทุกข์ทางใจ ให้ธรรมะผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้คลายความวิตกกังวลความทุกข์ความคับแค้นใจได้เยอะ

“คณะสงฆ์ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ญาติโยมมีความทุกข์ร้อนคณะสงฆ์ก็ทิ้งไม่ได้ ยามประชาชนมีความสุข ญาติโยมอุปถัมภ์ค้ำชูพุทธศาสนา ใส่บาตร ตอนนี้เมื่อญาติโยมเกิดโรคภัย คณะสงฆ์ก็ต้องช่วยเหลือภายใต้หน้าที่ มีการรายงานถึงสถานการณ์ให้ทราบโดยตลอด โดยไม่ทอดทิ้งประชาชน” พระเทพเวที กล่าว

 อย่างที่เห็นมานักต่อนักแล้วว่า โควิด-19 ได้สร้างบาดแผลฉกรรจ์ในจิตใจของครอบครัวผู้สูญเสีย ทั้งจากการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวโดยที่ญาติไม่มีโอกาสได้ดูใจ การประกอบพิธีศพและการฌาปนกิจที่ต้องรวบรัดกระบวนความ

ในประเด็นนี้ พระเทพเวที บอกว่า หน้าที่สำคัญของพระคือต้องเป็นหมอรักษารักษาโรคทางใจ ส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับหลักธรรมที่นำไปแนะนำ และภูมิสติปัญญาของผู้รับ บางคนเข้าใจหลักความจริงของธรรมชาติว่ามีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป บางคนยังอาจจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีผู้เสียชีวิต ทางครอบครัว-ญาติก็ต้องอาลัยอาวรณ์ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกอย่างจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ครอบครัว-ญาติ จะทำใจไม่ได้ โดยเฉพาะการเผาศพทันทีตามบริบท New normal

“การทำพิธีศพเป็นรูปแบบวัฒนธรรม ความจริงของชีวิตก็คือ มีตาย จะเร็วจะช้าก็ต้องเผา เพียงแต่มีพิธีตามรูปแบบวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สาระจริงๆ เมื่อตายแล้วก็ต้องเป็นไปตามระบบธรรมชาติ ถ้าเข้าใจหลักธรรมชาติก็จะพยายามปรับตัวได้” พระเทพเวที กล่าว

 บูรณาการพันธกิจควบคู่ ‘ธรรมนูญสุขภาพสงฆ์ฯ

    ที่จริงแล้ว คณะสงฆ์มีแผนปฏิรูปกิจการพุทธศาสนา หรือมีพันธกิจ ๖ ด้าน ประกอบด้วย ด้านการปกครอง ด้านการศาสนศึกษา ด้านการเผยแผ่ ด้านการสาธารณูปการ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ และด้านการสาธารณสงเคราะห์ ซึ่งจะนำมารวมกันเป็นแผนปฏิบัติการในระยะ ๕ ปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเหตุการณ์โควิด-19 เข้ามา พระสงฆ์ก็จะบูรณาการสถานการณ์ให้เข้าแผนที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยให้ทำงานได้ง่าย มีประสิทธิภาพ และมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน

เมื่อปี ๒๕๖๐ ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” เป็นครั้งแรก โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ควบคู่ไปกับองค์กรภาครัฐ

นั่นทำให้มีการนำพันธกิจสงฆ์ในด้านสาธารณสงเคราะห์ผนวกเข้าไป และได้ดำเนินการตามกรอบของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ฉบับนี้ เช่น สุขภาพวะทางกาย สุขภาวะทางสังคม และด้านจิต ปัญญา ฉะนั้นเมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา คณะสงฆ์และภาคีเครือข่ายก็ทำงานบนฐานธรรมนูญฯ อย่างสบายใจ และเห็นผลชัดเจน ซึ่งเป็นความร่วมมือทั้งคณะสงฆ์และภาคีเครือข่ายจากภาครัฐ

“ความเชื่อมโยงก็อยู่ในแผนการทำงานคณะสงฆ์ เราเรียกว่าโครงการร่วมมือภาคีเครือข่าย ภาคีเครือข่ายก็คือหน่วยงานราชการ รวมไปถึงหน่วยงานพี่น้องตระกูล ส. ทั้งหลาย ก็เข้ามาตรงกับแผนปฏิบัติการคณะสงฆ์ เพื่อร่วมมือกันทำ และรายงานต่อพระมหาเถรสมาคม แต่ในความจริงแล้วถึงไม่มีโรคเราก็ทำงานเป็นระบบอยู่แล้ว” พระเทพเวที ระบุ

นอกจากนี้ ภายใต้การขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ก็ยังมีการดำเนินโครงการพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (พระคิลานุปัฏฐาก) หรือ อสว. โดยพระสงฆ์จะออกเยี่ยมเยียนญาติโยมที่ป่วยติดเตียง หรือเสียชีวิต เพื่อให้ธรรมโอสถกับญาติโยมที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถช่วยญาติโยมที่มีปัญหาได้เป็นจำนวนมาก ส่วนนี้การทำงานก็เป็นไปตามระบบที่วางไว้ และขณะนี้ก็มีมดงานอยู่ทั่วประเทศ

“จะเห็นว่าทุกจังหวัดทุกพื้นที่จะมุ่งเน้นไปโควิดเป็นหลัก ซึ่งตรงนี้พระสงฆ์ก็จะทำงานร่วมกับภาครัฐควบคู่กัน เช่น ถ้าทางรัฐมีนโยบายการทำศูนย์พักคอยคณะสงฆ์ก็ตอบรับ ถ้าภาครัฐมีอะไรที่จะขอความช่วยเหลือคณะสงฆ์ก็พร้อมเต็มที่” พระเทพเวที ยืนยันความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ

พระเทพเวที ย้ำด้วยว่า ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นคณะสงฆ์ก็จะทำงานในหน้าที่ของตนเอง คือการสงเคราะห์ชาวโลกตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ ซึ่งก็คือการเดินจาริกเพื่อให้สงเคราะห์แก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาด้านจิตใจ

การทำงานก็มีแผนการรองรับเตรียมไว้ มีการติดตาม ประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา โดยจะประสานกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในฐานะที่เป็นพระก็มีความพร้อมที่จะทำอยู่แล้วบนฐานความเมตตา กรุณาตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันเมื่อมีความต้องการจากหน่วยงานภาครัฐ คณะสงฆ์ก็พร้อมช่วยเหลือ..

Leave a Reply