ปรากฎการณ์ : เมื่อพระไม่ทิ้งโยม..??

       ตั้งแต่บรรพกาลจวบจนปัจจุบัน พระภิกษุสงฆ์มีส่วนสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก ทั้งในฐานะศูนย์รวมจิตใจ ในฐานะนักคิดนักพัฒนา และในฐานะผู้เจริญเมตตาแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

       บทบาทเหล่านั้น เป็นไปตามคำสอนของ องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาแห่งพุทธศาสนา ที่ทรงตรัสไว้ในตอนหนึ่งของพระสุตตันตปิฎก

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ …

            นอกจากหน้าที่ตามพระธรรมวินัยแล้ว วิถีแห่งสงฆ์ย่อมเป็นหนึ่งเดียวกับการเกื้อกูลชุมชนอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้ เราจึงเห็นพระสงฆ์ยืนอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ทุกครั้งที่ประเทศชาติและชุมชนเผชิญมรสุม

         สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา เคยกล่าวไว้ว่า “เมื่อโยมไม่เคยทิ้งพระ พระก็ไม่ควรทิ้งโยม ถ้าพระไม่ทิ้งโยม โยมไม่ทิ้งพระ ศาสนาก็มั่นคง”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา วรวิหาร

ท่ามกลางความยากลำบากในสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดระลอกแรกๆ พระสงฆ์ได้มีบทบาทช่วยเหลือโยมอย่างเด่นชัด ตั้งแต่การจัดหาหน้ากากอนามัยจ่ายแจก การตั้งโรงทานค้ำจุนผู้ตกทุกข์ได้ยาก การตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ตลอดจนการบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตจากโรคร้ายชนิดนี้

        อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ เคยกล่าวเอาไว้ว่า การพัฒนานั้นจำเป็นต้องใช้ทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะฉะนั้นทางฝ่ายพระสงฆ์ก็ดี ทางฝ่ายบ้านเมืองก็ดี ต้องร่วมมือกันอย่างมาก

      “ ถ้าความร่วมมือเป็นไปด้วยดี ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพชีวิตนั้นมีความสำคัญกับทุกคน ถ้าทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข”

ที่จริงแล้ว ภาพความร่วมไม้ร่วมมือระหว่างทางโลกและทางธรรมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ปรากฏเป็นรูปธรรมระดับชาติก็คือการประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” (ธรรมนูญพระสงฆ์) ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ เมื่อปี ๒๕๖๐

ธรรมนูญฉบับนี้ คณะสงฆ์และฆราวาสร่วมกันจัดทำขึ้นมา เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์และชุมชนทั่วประเทศ โดยยึดหลักการ “ทางธรรมนำทางโลก” ตั้งเป้าหมายพระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข ในเวลา ๑๐ ปี

ภายใต้บทบัญญัติแห่งธรรมนูญพระสงฆ์ มีการพูดถึง “บวร” หรือ “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญในการสนับสนุนให้พระสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ตามหลักธรรมวินัย ไปพร้อมๆ กับการที่ชุมชนและสังคมสามารถวางแนวทางอุปัฏฐากพระสงฆ์ได้อย่างเหมาะควร และส่งเสริมบทบาทให้ “พระสงฆ์เป็นผู้นำด้านสุขภาวะ” ของชุมชนและสังคม

หลักการ “บวร” นี้เอง คือหลักใหญ่ใจความของแผนงาน “ธรรมนูญสงฆ์ รวมพลังบวร สู้วิกฤตโควิด 19” ซึ่งอยู่ภายใต้ปฏิบัติการ “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” ที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ชักชวนภาคียุทธศาสตร์ด้านสุขภาพและสังคม รวม ๒๖ องค์กร มาทำงานร่วมกัน

บนความคาดหวังที่จะเปลี่ยนประชาชนตื่นตระหนกไปเป็น “พลเมืองตื่นรู้” ที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทบาทสงฆ์ในวันที่โควิดกระจายสู่ชุมชน

อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในระลอกสี่ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงทะลุ ๒ หมื่นคนต่อวัน และจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่กำลังเดินหน้าสู่หลักล้านคนในอีกไม่ช้า ทำให้ความเดือดร้อนขยายตัวออกไปทุกหย่อมหญ้า

ข้อมูลจาก นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ได้แถลงต่อสาธารณชน เมื่อวันที่ ๕ ส.ค. ๒๕๖๔ ระบุว่า สถานการณ์เตียงทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีเตียงรวม ๑๕๖,๑๘๙ เตียง ใช้ไปแล้ว ๑๑๔,๗๘๖ เตียง หรือคิดเป็น ๗๓.๔๙%

นั่นหมายความว่า ขณะนั้นทั่วประเทศเหลือเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยรายใหม่เพียงแค่ ๔.๑ หมื่นเตียงเท่านั้น

มากไปกว่านั้น หากพิจารณาตัวเลขประชาชนที่เดินทางออกจาก กทม. เพื่อกลับไปรักษาตัวตามภูมิลำเนา ระหว่างวันที่ ๑ ก.ค. – ๔ ส.ค. ๒๕๖๔ จะพบว่ามีผู้ที่เข้าสู่ระบบการดูแลรักษา ๙๔,๖๖๔ คน นั่นหมายถึงผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกือบ ๑ แสนราย ได้กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว

ในฐานะผู้กุมบังเหียนองค์กรสานพลัง และมีประสบการณ์ตรงในการทำงานระดับพื้นที่ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขมวดประเด็นว่า เป้าหมายและกลยุทธ์ในการรับมือโควิด-19 ระลอกสี่จะอยู่ที่ “ตำบล” และ “ชุมชน”

โดยจะมีการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) และศูนย์พักรักษาที่ชุมชน (Community Isolation : CI) ที่จัดการโดยประชาชนในพื้นที่เป็นระบบบริการหลัก รวมทั้งมีพระและวัดเป็นที่พึ่งด้านจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิต

แน่นอนว่า เมื่อ “ตำบล-ชุมชน” คือยุทธศาสตร์ สถาบันที่หล่อหลอมความสมัครสมานและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน จึงหนีไม่พ้นสถาบันสงฆ์

“วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนคู่กับสังคมไทยมานับแต่โบราณ ตราบจนถึงวันนี้ วัดไม่เพียงแต่เป็นที่พำนักของพระภิกษุสามเณร แต่ยังเป็นสถานสาธารณสงเคราะห์ของชุมชนด้วย จึงสมควรที่จะให้วัดที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะอนุเคราะห์ประชาชนผู้ประสบความยากลำบากดำเนินภารกิจตามบทบาทหน้าที่ที่ดำรงอยู่นับแต่อดีตกาล” พระดำริของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระประสงค์ให้สุขภาวะดีเกิดขึ้นแก่ภิกษุสามเณร และประชาชนทุกคน

        นอกเหนือจากพระดำริของสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระประสงค์ให้วัดที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะอนุเคราะห์ประชาชนผู้ประสบความยากลำบากแล้ว พระองค์ยังได้ให้แนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมแก่องค์กรสงฆ์ด้วย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการกำหนด “บทบาทพระภิกษุสงฆ์ในสถานการณ์โควิด-19”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดหลายแห่งในประเทศไทยมีอาคาร สถานที่ โรงครัว อุปกรณ์ บุคลากร หรือปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาจช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการบรรเทาความเดือดร้อนในด้านต่างๆ เช่น การจัดเตรียมอาหาร การตั้งโรงพยาบาลสนาม การบริจาควัตถุปัจจัย หรือการเอื้อเฟื้อพื้นที่สำหรับบริหารจัดการด้านต่างๆ ได้

“จึงขอให้คณะสงฆ์และวัดที่มีศักยภาพ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตามที่ได้รับการร้องขอ ตามที่ได้ประสานความเข้าใจร่วมกันกับชุมชนแล้ว และตามกำลังความสามารถ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลด้านสาธารณสงเคราะห์ อันเป็นหนึ่งในบทบาทหน้าที่สำคัญของ คณะสงฆ์ต่อไป”

จากพระดำริข้างต้น ก่อกำเนิดเป็นโครงการและกิจกรรมที่หลากหลาย ผศ.ดร.ปฏิธรรม สำเนียง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่าว่า จากประกาศสำนักงานเลขานุการพระสังฆราชที่ประทานพระดำริให้วัดที่มีศักยภาพร่วมมือกับทางราชการในการช่วยเหลือประชาชนนั้น พบว่าขณะนี้หลายวัดได้แสดงบทบาทที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการใช้พื้นที่วัดตั้งเป็น CI ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด

ตัวอย่างเช่น วัดสะพาน เขตคลองเตย กทม. วัดอินทรวิหาร เขตพระนคร กทม. วัดสุทธิวราราม เขตสาทร กทม. หรือในพื้นที่ต่างจัดหวัด อาทิ วัดโพธาราม จ.ร้อยเอ็ด หรือแม้แต่สถาบันการศึกษาของสงฆ์ก็มีการดำเนินการเรื่องนี้หลายแห่ง เช่น มจร.วังน้อย มจร.นครสวรรค์ มจร.ศรีษะเกษ ฯลฯ

“ก่อนที่วัดจะมีการจัดตั้ง CI ขึ้น ก็ได้ดำเนินการช่วยเหลือญาติโยมมาก่อนแล้ว อย่างวัดอินทวิหาร เริ่มต้นจากการช่วยประสานงานหาเตียงโรงพยาบาลสนามให้แก่ญาติโยม แต่ก็หาไม่ได้ จึงคิดว่าจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือคนในชุมชน ทางวัดจึงประสานงานกับสำนักงานเขต กทม. และโรงพยาบาลที่สนับสนุนวัด เปิดเป็น CI ในท้ายที่สุด ถัดจากนั้นมีการขยายเพื่อรองรับพระภิกษุ-สามเณร ที่อาพาธด้วย” ผศ.ดร.ปฏิธรรม เล่า

อาจารย์ปฏิธรรม บอกอีกว่า เท่าที่ได้คุยกับพระสงฆ์หลายรูป ท่านก็ได้ให้ข้อคิดว่าในขณะที่ยังไม่มีวิกฤต พุทธศาสนิกชนก็อุปถัมภ์คำชูพุทธศาสนา ดังนั้นเมื่อมีวิกฤต พระสงฆ์ก็จะต้องไม่ทอดทิ้งประชาชน

Temple Isolation

การจัดตั้ง CI ในวัด หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Temple Isolation ปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง หนึ่งในนั้นคือ “วัดสุทธิวราราม” ย่านเจริญกรุง กทม. ซึ่งมีการจัดการที่เป็นระบบ-ระเบียบ เหมาะสมที่จะเป็นต้นแบบในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างยิ่ง

สิ่งที่วัดสุทธิวรารามได้ดำเนินการ คือการปรับศูนย์การเรียนรู้พระพุทธศาสนาและการพัฒนาสังคม ซึ่งเป็นอาคาร ๓ ชั้น จัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาตามระบบของ สธ. โดยจะมีพระนักพัฒนาการสาธารณสงเคราะห์ กลุ่ม “พระไม่ทิ้งโยม” มากกว่า ๒๐ รูป พร้อมทีมแพทย์ พยาบาลอาสาสมัครคอยดูแลผู้ป่วย

พระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม

พระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร) เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม ในฐานะผู้จัดการโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า วัดสุทธิวรารามได้ระบบที่มีความพร้อมใน ๕ ด้าน ได้แก่

๑. สถานที่ โดยวัดสามารถรองรับผู้ป่วยได้ ๑๒๐ เตียง

๒. การดูแลรักษาพยาบาล ที่จะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลสงฆ์ และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดทีมแพทย์-พยาบาล เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยในศูนย์พักคอยตลอด ๒๔ ชั่วโมง

๓. อาหาร วัดรับบริจาควัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบอาหารให้แก่ผู้ป่วย และรับบริจาคอาหารแห้ง อาหารกล่อง น้ำดื่ม เพื่อนำไปแบ่งปันให้ผู้ป่วย รวมถึงกลุ่มคนเปราะบางในชุมชน

. การค้นหาผู้ป่วย กลุ่ม “พระไม่ทิ้งโยม” ร่วมลงพื้นที่เชิงรุกในชุมชนรอบข้างค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาเร็วที่สุด

๕. การสื่อสาร มีการพัฒนาสื่อรูปแบบอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่ายกระจายสู่คนในพื้นที่ โดยจะขยายการผลิตสื่อชุดความรู้ในรูปแบบคลิปวิดีโอ เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจให้สังคมไทยสู้กับสถานการณ์โควิด-19

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการ สสส. ระบุว่า ระบบ Temple Isolation ของวัดสุทธิวราราม ถือเป็นต้นแบบดูแลผู้ป่วยในวัดหรือสถานศึกษาสงฆ์ให้แก่พื้นที่อื่นๆ ได้ พร้อมกันนี้ สสส. จะทำงานร่วมกับเครือข่ายธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ เตรียมเสนอ มส. ผลักดันแนวคิด Temple Isolation ให้เกิดขึ้นอย่างน้อย ๑ วัด ๑ ตำบล ทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดภาระปัญหาผู้ป่วยล้น โรงพยาบาล

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบทางสังคมเป็นอย่างมาก พระสงฆ์และประชาชนตระหนักในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น วัดมีการจัดระบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ประชาชนห่วงใยใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งของชีวิตนอกเหนือจากการประกอบสัมมาชีพ

แน่นอนว่า ความกรุณาครั้งแล้วครั้งเล่าที่โยมได้รับจากพระสงฆ์ ย่อมนำมาสู่ความปีติชนิดที่สิ้นข้อสงสัย แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดรุนแรง นั่นหมายความว่าทั้งพระสงฆ์และโยมยังตกอยู่ในความเสี่ยงไม่ต่างกัน

  ดังนั้น มากไปกว่าการรับความช่วยเหลือ ฆราวาสจำเป็นต้องลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลพระสงฆ์ควบคู่ไปกับการวางแนวทางการทำงานร่วมกัน และนั่นก็คือภารกิจหลักของ สช. ในฐานะองค์กรสานพลัง ที่จะเชื่อมร้อยทุกภาคส่วนเข้ามาเกื้อกูลและหนุนเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้อย่างปลอดภัย

 

ขอบคุณข้อมูล:“นิตยสารสานพลัง” ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

Leave a Reply