เหลียวหลังแลหน้า “มหาจุฬาฯ” จาก “มหาวิทยาลัยเถื่อน” สู่ “มหาวิทยาลัยระดับโลก”

บทความนี้เขียนเอาไว้ เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีอายุครบ 134 ปี เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา  วันนี้มายำใหม่ เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่วันสถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนาระดับโลกแห่งนี้จะมีงานใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งคืองาน ประสาทปริญญาประจำปีพุทธศักราช 2564 ระหว่างวันที่ 8-12 ธันวาคมนี้ สำหรับรายละเอียดของงานโดยคร่าว ๆ  วันที่ 8 มีการสัมมนาทั้งวัน วันที่ 9 และ 10 มีการซ้อมรับปริญญา ต่อด้วยวันที่ 11-12 รับปริญญาภาคบ่าย คุณสมบัติผู้เข้ารับ หนึ่ง ต้องฉีดวัดซีนครบ 2 เข็มยี่ห้อใดก็ได้ สอง ต้องตรวจ ATK มาแล้วไม่เกิน 72 ชั่วโมง และ สาม มีผู้ติดตามได้เพียงท่านละ 2 รูป/คนเท่านั้น ส่วนอาหารการฉันมีเจ้าภาพเหมือนเดิมทั้งซุ้ม มูลนิธิร่วมกตัญญู,แม่ชีทศพรและจากมูลนิธิโพธิวรรณา ซุ้มถ่ายรูปส่วนกลางจัดไว้ 5 ซุ้ม ปีนี้อาจจะคึกคลื้นไม่เหมือนทุกปีที่ผ่านมา

แต่..แม้จะจัดได้แบบจำกัดและมีการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 อย่างเคร่งครัด งานรับปริญญาก็ควรค่าแก่การเขียนถึง

ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร  รุ่น 46 คณะสังคมศาสตร์ เอกบริหารรัฐกิจ ภูมิใจทุกครั้งที่ได้จบจากการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายที่สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5

 “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ในอดีตเคยถูกกีดกันสารพัด จากคนบางกลุ่ม จากผู้มีอำนาจบางคน จากพระผู้ใหญ่บางรูป ผ่านร้อนผ่านหนาวมาท่ามกลางพายุ “การเมือง” ท่ามกลางอารมณ์ “อิจฉาริษยา”

ด้วยความมุ่งมั่นและการเสียสละอุทิศตนเองอย่างแน่วแน่ของผู้บริหาร คณาจารย์ในอดีต  ปัจจุบันกลับกลายพัฒนาไปจนไม่มีใครคิดว่า มหาจุฬา ฯ มาได้ขนาดนี้ พระสงฆ์ไทยที่มีคนชอบดูถูกดูแคลนว่า ไม่ทันสังคม หัวไม่ทันสมัย มองไม่พ้นกำแพงวัด แต่วันนี้ มหาจุฬา ฯ ยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง บนศาสนจักรกว่า  300 ไร่  ณ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 

จนใคร ๆ  ก็อยากมาขอร่วมทำงานด้วย มาร่วมเป็นเครือข่ายด้วย หรือแม้กระทั้งมีบางช่วงบางเวลา มีข่าวลือว่ามีสถาบันการศึกษาบางแห่ง “อยากควบรวม อยากมาร่วมบริหาร” ด้วย

ใครจะคาดคิดว่ามหาวิทยาลัยที่ถูกมองว่าเป็น “มหาวิทยาลัยเถื่อน” เป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกกีดกันจากพระผู้ใหญ่บางรูป เป็นมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลไม่รับรองวุฒิการศึกษา และเป็นอดีตมหาวิทยาลัยที่อาจารย์สอนไม่มีเงินเดือน ไม่มีใครอยากเข้ามาทำงาน เพราะไม่มีเงินเดือน ไม่มีค่าประจำตำแหน่ง ซ้ำบางท่านสอนฟรีไม่พอ ยังต้องถวายน้ำปานะเลี้ยงนิสิตอีก

วันนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีนิสิตที่สำเร็จการศึกษามาแล้วจำนวน  66 รุ่น แยกเป็นระดับปริญญาตรี 60,563 รูป/คน ปริญญาโท 9,253 รูป/คนและปริญญาเอก 2,145 รูป/คน รวมทั้งสิ้น 71,961 รูป /คน เป็นมหาวิทยาลัยของประเทศไทยแห่งเดียวที่แก้ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล

เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้สร้างโอกาสทางการศึกษา ให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสก้าวสู่มหาวิทยาลัยทั่วไป รวมทั้งลูกที่ถูกทอดทิ้ง กำพร้า อนาถา ชาวเขา ก็สามารถเข้ามาศึกษาสถาบันระดับอุดมศึกษาแห่งนี้ได้ ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนไปแล้วทั่วประเทศและทั่วโลก โดยในต่างประเทศมีสถาบันสมทบ 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศฮังการี สิงคโปร์ ศรีลังกา เกาหลีใต้ และใต้หวัน หากไม่ติดสถานการณ์โควิด-19 อาจมีถึง 10 ประเทศ

ส่วนในประเทศไทยมีวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ หน่วยวิทยบริการและโครงการขยายห้องเรียน ครอบคลุมทุกภูมิภาคใน 45 จังหวัดทั่วประเทศ เปิดการเรียนการสอนมากถึง 227 หลักสูตร เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป มีนิสิตทั้งสิ้นประมาณ 20,000 รูป/คน มีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่มากกว่า 3,000 รูป/คน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ผลิตบุคลากรไม่เฉพาะเพื่อสนองงานคณะสงฆ์เท่านั้น แม้แต่ในฝ่ายบ้านเมืองก็มี “ศิษย์เก่า” สถาบันการศึกษาแห่งนี้ไม่ใช่น้อย

สมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ หากจำไม่ผิดจ่ายค่าเทอมเพียงเทอมละประมาณ 1,700 บาท พวกเราไม่มีโอกาสนั่งรถเมล์เหมือนคนทั่วไป เพราะธรรมชาติรถเมล์เวลาเจอพระไม่ค่อยรับและยิ่งรถเมล์ที่มีแอร์ยิ่งไม่อยากรับ พระนิสิตรุ่นผู้เขียนสมัยนั้นต้องนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปลงที่ท่ารถไฟข้าง ๆ โรงพยาบาลศิริราช มีรถเมล์เก่า ๆ สีเหลืองอยู่ 2 คัน จะมาค่อยรับส่งพระนิสิตที่ท่าเรือแห่งนี้ ไปเรียน ณ  “ศูนย์วัดศรีสุดาราม”  เมื่อถึงเวลาค่ำ ๆ ก็นั่งรถกระเป๊าะคันเล็ก ๆ กลับมายังท่าเรือแห่งนี้และอาศัย “เรือด่วนเจ้าพระยาฟรี” เพื่อกลับวัด

“วัดอรุณราชวราราม” เป็นวัดที่ผู้เขียนจำพรรษา ด้วยความที่ไม่มีเงินซื้อหนังสือดี ๆ หลังฉันเช้าเสร็จผู้เขียนมักจะเดินข้ามฟากมาจากท่าเตียนเพื่อมาอ่านหนังสือใหม่ๆ ตรงร้านหนังสือ “นายอินทร์ ท่าพระจันทร์” สมัยนั้นร้านนายอินทร์ชั้น 2 จะมีมุมนั่งให้อ่านหนังสือ เราก็ทำเป็นเลือกโน้นเลือกนี่แล้วก็หยิบหนังสือการเมือง หรือหนังสือประเภทวิเคราะห์เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่คิดว่าถูกกับจริตของเราหยิบไปอ่าน

เมื่อถึงเวลาใกล้ ๆ ฉันเพล ฉันข้าวที่เตรียมมาหรือไม่ก็ซื้ออาหารกล่องไปฉันตรงตึกมหาจุฬาฯ วัดมหาธาตุ แล้วก็ข้ามฟากไปนั่งรถต่อเพื่อเรียนยังศูนย์วัดศรีสุดาราม ตกช่วงเย็นๆ หากมีเวลาเหลือหรือบางวันอาจารย์สอนติดภารกิจไม่มาสอน ผู้เขียนจะไปห้องสมุด ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ชั้น 5 ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นประจำ

ยุคสมัยนั้น “หลักสูตรรัฐศาสตร์” ของ มจร ยังไม่ถูกรับรองจากรัฐบาล มักมีรุ่นพี่มาเล่าประสบการณ์ไปทะเลาะกับคนสำนักงาน ก.พ.ประจำ เพราะบางคนสึกออกไปแล้วไปสอบปลัดอำเภอบ้าง สอบเข้าราชการบ้าง “สาขารัฐศาสตร์” บางคนสอบติดแต่เวลาตรวจสอบวุฒิการศึกษาปรากฎว่า “หลักสูตร กพ.ไม่รับรอง” หน่อยงานรัฐก็ไม่สามารถรับเข้าทำงานได้ ถึงจะเก่งและมีความรู้ก็ตาม

หรือแม้กระทั้งพระอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของเราที่จบมาจาก ประเทศอินเดียหรือศรีลังกา ก็มักจะโดนดูถูกดูแคลนจากหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานว่า “ด้อยคุณภาพ” ไม่รับรองวุฒิให้ จะเข้าสมัครมหาวิทยาลัยที่พอมีเงินเดือนดีบ้างก็เปรียบเสมือนชีวิตพระภิกษุ-สามเณรจากต่างจังหวัดเมื่อ 30 – 40 ปีก่อน จะหาวัดอยู่เรียนหนังสือในกรุงเทพ “ห้องว่างแต่เจ้าอาวาสไม่ให้อยู่” ประมาณนั้น

จนเมื่อปี พ.ศ.2540 มหาวิทยาลัยได้รับการรับรองและมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นของตนเอง ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลและเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และนับตั้งแต่นั้นมา “มหาวิทยาลัยสงฆ์” แห่งนี้ก็เหมือน “พยัคฆ์ติดปีก” มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เกิดสถาบันภาษา, วิทยาลัยพระธรรมทูต, ศูนย์อาเซียนศึกษา, สถาบันวิปัสสนา, วิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติและอีกหลายหลายองค์กรที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ยุคหลังปี 2540 มีพระสงฆ์นิกายต่าง ๆ รวมทั้งฆราวาสเดินทางมาเรียน ณ สถาบันแห่งนี้จากทุกมุมโลกมากกว่า 1,200 รูป/คน จาก 28 ประเทศ จึงนับเป็น “ศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาโลก” อย่างแท้จริง  ดีไม่ดีมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้นี่แหละที่มีต่างชาติมาเรียนมากที่สุดในประเทศไทย

มีพระธรรมทูตที่เป็นผลผลิตจากสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ออกเผยแผ่พุทธศาสนากระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทั้งในยุโรป อเมริกา แอฟริกา ออสเตรเลีย พูดง่าย ๆ ไม่มีพระธรรมทูตคนไหน ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมจาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เว้น “คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย” และที่สำคัญปัจจุบันพระนิสิตที่จบจากสถาบันแห่งนี้ มีทุกระดับชั้นไม่เว้นแม้กระทั้ง  “กรรมการมหาเถรสมาคม”

ทั้งปัจจุบันภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมี “วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ” ตั้งเด่นสง่างามอยู่ภายในมหาจุฬา ฯ ไว้รองรับพระภิกษุจำพรรษาและปฎิบัติศาสนากิจ รวมทั้งพระอาคันตุกะจากนานาชาติ บนเนื้อที่ 63 ไร่ มีหอพักนิสิตนานาชาติ มีหอพักของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ครบครัน

สถาบันการศึกษาอันทรงเกียรตินี้ผ่านการอุทิศและการเสียสละของพระเถระผู้ใหญ่มาแล้วรุ่นต่อรุ่น รวมทั้งคณาจารย์ยุคที่ไม่มีเงินเดือน บางท่านไม่มีเงินเดือนไม่พอ ยังต้องหาเงินจากภายนอกมาช่วยสนับสนุนด้วย  ตอนนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้ว 134 ปี แกร่งขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น และถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ผู้เขียนในฐานะศิษย์เก่าขอแสดงความยินดีและขอขอบคุณผู้บริหารทุกท่านที่ “ผลิตพวกเราออกมา” จนกล้าประกาศเลยว่า “พวกเรามีดีและมีองค์ความรู้ไม่แพ้สถาบันใด ๆ ” ในประเทศนี้ รวมทั้งขอแสดงความยินดีกับศิษย์รุ่นน้องที่จะเข้ารับปริญญาในวันที่ 11 -12 ธันวาคมนี้ทุกรูป ทุกท่าน ส่วนหลังจบแล้วจะรับใช้พระพุทธศาสนาหรือจะลาสิกขาก็ไม่มีใครว่า  เพราะในโลกข้างนอก “ความรู้และคุณธรรม” ที่เราได้รับมาจากสถาบันแห่งนี้ “คุ้มกะลาหัว” ได้เป็นอย่างดี

งานรับปริญญายุคผู้เขียน..พวกเราไปรับปริญญากันที่ หอประชุมพุทธมณฑล โดยมี “สมเด็จพระสังฆราช” ไปมอบให้ ซึ่งโดยปกติงานมอบปริญญาแบบนี้ “สังฆบิดร” ต้องให้ความสำคัญ เพราะแสดงถึงความใกล้ชิดและการผูกมิตรซึ่งกันและกัน เหมือนกับ “สมเด็จพระสังฆราช” องค์ก่อน ๆ ปีหนึ่งมีหนเดียว

เสียดายว่าปีนี้ มีโรคโควิด-19 ระบาด “สมเด็จพระสังฆราช” จึงมอบให้ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” มาปฎิบัติหน้าที่แทน

และอีกทั้งน่าเสียดายว่าการจัดงานที่เคยคึกคลื้น การประชันกันจัด ซุ้มของวิทยาเขต,ซุ้มของคณะต่าง ๆ  รวมทั้งซุ้มของนิสิตนานาชาติ การแสดงการละเล่นของไทใหญ่,ของชนชาติต่าง ๆ ปีนี้งดหมด เพราะฝ่ายบ้านเมืองกลัวการระบาดของโควิด -19

ส่วนเรื่องล่าสุดที่เป็นประเด็นว่า กระทรวง อว.ไม่จัด  “มจร -มมร.” เข้ากลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมตามหลักศาสนา ไม่มีอะไรในกอไผ่ เพราะกลุ่มนี้เพิ่งเกิดขึ้นตอนที่คณะรัฐมนตรี อว. ไปรับฟังความคิดเห็นจาก มมร. ปีหน้าถูกจัดเข้ากลุ่มแน่

วันนี้จึงเขียนเป็นเรื่องเล่างานประสาทปริญญาด้วยความภูมิใจไม่ได้ว่า…มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย…จากที่เคยถูกตีหน้าว่า “มหาวิทยาลัยเถื่อน” ด้วยความมุ่งมั่นและเอาใจใส่ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทั้งในอดีตและปัจจุบัน จนสามารถพัฒนาไปสู่ “มหาวิทยาลัยระดับโลก” ได้

 

 

 

 

Leave a Reply