วันอังคารที่ 7 กันยายน 2564 นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต พระนักเทศน์ของวัดสร้อยทอง ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ถือเป็นการดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาฟังการเทศน์ในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เข้าถึงพระพุทธศาสนาได้ง่ายมากขึ้น ไม่มีส่วนใดในการไลฟ์ที่ผิดพระธรรมวินัย พร้อมมองว่า
1.การหัวเราะที่ถูกมองว่าไม่สำรวมนั้น มองว่าการหัวเราะไม่ใช่เรื่องผิดบาป และการไม่สำรวมในความหมายตามพระพุทธศาสนา คือ ทำผิดโลกวัชชะ ทำในสิ่งที่ทางโลกติเตียน ไม่ได้หมายความว่าห้ามหัวเราะหรือห้ามพูดด้วยศัพท์ของวัยรุ่น
2.พระทั้งสองรูปยังคงปฏิบัติรักษาศีล 227 ข้อ และในศีล 227 ข้อไม่มีข้อใดที่ห้ามไม่ให้พระหัวเราะ ทั้งยังอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง ดังนั้นการหัวเราะของพระทั้งสองรูป ไม่ใช่สิ่งที่ผิดในทางพระพุทธศาสนา
3. การไลฟ์เทศนาธรรมแบบใหม่ของพระทั้งสองรูป ถือเป็น “จริต”ในทางศาสนาพุทธในสมัยพุทธกาล โดยจริตหมายความว่า เคยเป็นแบบไหนก็เป็นแบบนั้น ซึ่งในพระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า มีพระที่ยังไม่บรรลุพระอรหันต์ กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า “ไม่สำรวม” ในการเดิน คือกระโดดข้ามคลองเล็กๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่า มันเป็น “จริต” ของท่าน เพราะในชาติภพก่อนพระสารีบุตรเคยเกิดเป็นวานร มาชาตินี้บางครั้งจึงมีจริตเดิมได้ ไม่ถือว่าไม่สำรวม ในปัจจุบันหมายถึง เคยเป็นแบบใดก็เป็นแบบนั้น
ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กำลังขอมติออกหนังสือนิมนต์พระสงฆ์ทั้ง 2 รูปเข้ามาชี้แจงนั้น มองว่า กมธ.ศาสนาฯ ไม่มีสิทธิเรียกพระสงฆ์เข้ามาชี้แจงหรือวินิจฉัยว่าใครผิดถูก ไม่มีอำนาจสอบสวนพระ เพราะคณะสงฆ์มีองค์กรปกครองคณะสงฆ์อยู่ ทั้งมหาเถรสมาคม เจ้าคณะ หรือเจ้าอาวาส สิ่งที่ กมธ.ทำได้คือนิมนต์พระสงฆ์ทั้ง 2 รูปเล่าให้ฟังว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไรเท่านั้น
“ไม่มีเครื่องวัดว่าหัวเราะแบบไหนสำรวมหรือไม่สำรวม ถ้าจะให้เทศน์ธรรมะแบบโบราณจริงๆ คนรุ่นนี้ไม่ฟังหรอกครับ ใส่ตลกขบขันบ้างเพื่อให้คนสนใจ อาจจะดูหวือหวาบ้างเพราะเป็นถ่ายทอดสด แต่การไลฟ์ก็ไม่มีพระธรรมวินัยข้อใดห้ามไว้ กลับดีเสียอีกที่ในยุค New normal คนไม่ต้องเดินทางไปวัด ก็รับธรรมะที่บ้านได้ เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อีกทางหนึ่ง” นายนิยมกล่าว
Leave a Reply