เอาแล้ว!! สคบ. จ่อออกกฎหมายคุมการโฆษณา “เครื่องราง ของขลัง” ใช้ข้อความที่ยากต่อการพิสูจน์ อวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริง

เครื่องราง ของขลัง พระเครื่อง นับเป็นหนึ่งในสิ่งของแทนความอุ่นใจที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมานาน โดยเฉพาะการเป็นตัวแทนที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือการเสริมโชค วาสนา ค้าขาย อย่างกรณีของ ครูกายแก้ว ซึ่งมีผู้ศรัทธาเดินทางมากราบไหว้ขอให้ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน และการค้าขาย ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเครื่องราง ของขลังที่กำลังได้เป็นกระแสร้อนแรงอยู่ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันเมื่อมองมุมธุรกิจของ “เครื่องราง ของขลัง” ยังถือว่ามีแนวโน้ตเติบโตที่สดใส และมักถูกหยิบยกมาใช้เป็นอีกหนึ่ง Soft Power ของไทยเช่นเดียวกัน โดยที่ผ่านมา “ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เคยประเมินมูลค่าของ ธุรกิจจากความเชื่อและความศรัทธา ซึ่งสร้างรายได้ปีละเป็นหมื่นล้านบาท

ด้วยกระแสความสนใจดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ส่งผลให้การโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง หรือให้บริการ ผ่านสื่อต่าง ๆ มีความแพร่หลายมากขึ้น และส่วนใหญ่มักพบเห็นการใช้ข้อความที่ยากต่อการพิสูจน์ อวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริง เช่น เสริมโชคลาภบารมี หรือทำให้หายจากการเจ็บปวด ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและได้รับความเสียหายหรืออันตรายจากการใช้สินค้าหรือบริการดังกล่าว

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันหรือระงับยับยั้งไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบหรืออาจเกิดอันตรายกับผู้บริโภค ที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการจากการโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง หรือให้บริการ เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงเตรียมออกร่างกฎมายเข้ามาควบคุมการโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง อย่างจริงจัง

โดยจัดทำเป็น ร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความโฆษณาเครื่องราง ของขลัง หรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม พ.ศ. …. ล่าสุด ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการ สคบ. เป็นประธานเปิด รับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความโฆษณาเครื่องราง ของขลัง

โดย สคบ. แจ้งว่า ในขั้นตอนต่อจากนี้ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา จะนำความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปพิจารณา ปรับปรุง และแก้ไขให้ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเกิดความเหมาะสมต่อไป

ทางด้าน นักวิชาการพุทธศาสนา  ระบุว่า เรื่องนี้คณะสงฆ์และภาครัฐ ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ปัจจุบัน “วัตถุมงคล” กลายเป็น “พุทธพาณิชย์” มีการ “ตลาดนำ” ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ถูกหลอกลวงง่าย วัตถุมงคลบางชิ้นใช้วัดดัง ใช้พระเกจิ เป็น “เครื่องจูงใจ” ในการสร้างความน่าเชื่อถือ และใช้ “สื่อ” เป็นตัวโฆษณา ทำให้ชนชั้นกลางที่อยากรวย อยากมี หลง กับสิ่งเหล่านี้ จนทำให้หลักธรรมะในพุทธศาสนาคนไม่เชื่อ ทั้งเรื่องทำดี ได้ดี หรือหลักการพึ่งพาตนเอง

“เบื้องต้น เราจะไม่พูดว่าดีหรือไม่ดี แต่หากภาครัฐ  สคบ.มาคุมจริง ๆ  ต้องแก้ที่ต้นตอ คือ ผู้ผลิตวัตถุมงคล ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือบริษัทรับผลิต พระที่ร่วมปลูกเสก การขออนุญาตสร้างวัตถุมงคล การตั้งราคา รวมทั้งประมาณในการสร้าง ต้องเอาให้ชัด  ให้ครบวงจร ไม่อย่างนั่น ปรากฎการณ์กระแสลิทธิดลบันดาล มันก็จะอยู่แบบนี้และมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ไม่พึ่งศาสนา ไม่พึ่งหลักที่ควรจะเป็น..”

Leave a Reply