“โคก หนอง นา พช.” เดินหน้า สร้างความมั่นคง วิถีชุมชน คนอยู่ร่วมกับป่า

 

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นางสาวญาดาภา หอมหวล พัฒนาการอำเภอสิรินธร พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และครัวเรือนต้นแบบ จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ระดับครัวเรือน (Household Lab Model for quality of Life : HLM) พื้นที่ 3 ไร่ แปลง นางสาวปัถยา จาเศรษฐ์ บ้านหินสูง ตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร

โดยกิจกรรมประกอบด้วย 1)กิจกรรมเคารพธงชาติ สวดมนต์ไหว้พระ กล่าวคำปฏิญาณ 2)ปลูกไม้ 5 ระดับ ปลูกพืชสมุนไพร กล้วยน้ำหว้า ห่มดินห่มฟาง 3)กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้แก่ การปลูกพืชสมุนไพร การเลี้ยงดินโดยปลูกถั่วพร้าบำรุงดิน โดย นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

 

โอกาสนี้ นางสาวปัถยา จาเศรษฐ์ ตัวแทนครัวเรือน ได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณผู้มาร่วมกิจกรรมฯ ว่า “สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ครัวเรือน ปลูกป่า 5 ระดับ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงปลา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน”

ขณะที่ นางสาวญาดาภา หอมหวล พัฒนาการอำเภอสิรินธร ได้กล่าวว่า “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” อำเภอสิรินธร มีการดำเนินการแยกเป็นแปลงขนาด 1 ไร่ 114 แปลง ขนาด 3 ไร่ 185 แปลง ขนาด 15 ไร่ 1 แปลง รวม 300 แปลง และกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน “เอามื้อสามัคคี โคก หนอง นา พช.” เพื่อร่วมกันพัฒนาแปลง ถือเป็นกิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันในสังคม และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ร่วมเรียนรู้สร้างทักษะผ่านการลงมือปฏิบัติตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ อีกทั้งเป็นการปลูกฝังหลักความรู้คู่คุณธรรม ตามวิถีแห่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการร่วมแรงร่วมใจ แบ่งปัน เอื้อเฟื้อ เสียสละ มีความเพียร และเป็นการทำงานที่ได้หลัก 3 อย่าง คือ “ทำงานได้งาน ทำงานได้เพื่อน ทำงานได้พัฒนาตนเอง” จึงขอให้ครัวเรือนต้นแบบได้ใช้เวทีนี้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ให้สามารถนำไปขยายผลสู่ชุมชนเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายในหมู่บ้านตำบล และร่วมสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ป่าให้อุดมสมบูรณ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน”

นอกจากนั้น พัฒนาการอำเภอสิรินธร ยังได้ร่วมกับหน่วยทหารและเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานครัวเรือนต้นแบบ (HLM) จำนวน 3 ครัวเรือน ได้แก่ แปลง นายทองแดง ยุบลงวัฒน์  ขนาด 1 ไร่, แปลง นางสำเนียง พรมสวัสดิ์ ขนาด 1 ไร่ และแปลงนายสุทธิพงษ์ ชุมชัย ขนาด 1 ไร่ โดยทั้ง 3 แปลง มีการปลูกไม้ 5 ระดับ พืชสมุนไพร เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ทำให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในพื้นที่บ้านหินสูง มีครัวเรือนเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 13 ครัวเรือน ซึ่งบ้านหินสูงเป็นหมู่บ้านความมั่นคงแนวชายแดนเขตป่าสงวนแห่งชาติ และได้รับการจัดที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์แต่เป็นการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐในลักษณะแปลงรวม ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสิรินธร จึงได้มีการตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และผู้นำชุมชนก่อนดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ  จากสภาพพื้นที่ราบมีการทำนาที่ล้อมรอบด้วยแนวเขาจะประสบปัญหาน้ำหลากเป็นประจำ และครัวเรือนไม่มีสระน้ำเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เมื่อทราบว่ามีโครงการฯ ผู้ใหญ่บ้านได้ประชาสัมพันธ์ให้ครัวเรือนทราบและเข้าร่วมโครงการซึ่งได้มีการขุดบ่อน้ำทำให้สามารถเก็บน้ำได้เต็มบ่อที่เพียงพอสำหรับการทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์น้ำได้ทั้งปี อีกทั้งได้มีการปลูกไม้ยืนต้นเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ป่ากับการใช้ประโยชน์ให้เกิดความยั่งยืน ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ต่อไปในระยะยาวต่อไป

Leave a Reply