ปลัดมหาดไทยสั่งด่วน!! เตรียมรับมือฝนทิ้งช่วง

ปลัดมหาดไทย สั่งการผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เตรียมมาตรการรับมือฝนทิ้งช่วง โดยประสานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเน้นย้ำ มุ่งมั่นพัฒนาผังภูมิสังคม (Geo-Social Map) เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืน

วันนี้ (26 ก.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติ ภายใต้แนวคิด “ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ เสริมสร้างหุ้นส่วนการจัดการจากภัย เพื่อสังคมไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 1 นี้ขึ้น เพื่อต้องการจะระดมสมองของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการจัดบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางการบริหารจัดการน้ำไว้ให้ประชาชนคนไทย เริ่มตั้งแต่ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” ผ่านทฤษฎีใหม่ซึ่งมีรายละเอียดต่าง ๆ มากมาย ที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

“ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำทุกหน่วยงาน หรือมีหน้าที่ในการดูแลพี่น้องประชาชนโดยตรง ได้มาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระดมความคิด และหาแนวทางในการที่จะช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติที่จะส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชน ตลอดจนถึงแนวทางการเตรียมการรับมือเมื่อเกิดวิกฤติการน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็ได้รับความกรุณาจาก พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาร่วมมอบนโยบายในพิธีเปิดงานสมัชชาฯ ครั้งนี้ และวันนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่มีความรู้ จากองค์กรภาครัฐและองค์กรมหาชน อาทิ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้วย ซึ่งได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน รวมถึงความสำคัญของการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย ทำให้ผู้ที่มีความรับผิดชอบในการดูแลพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะหน่วยงานและองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำ ให้เล็งเห็นถึงความสำคัญและได้มาช่วยกันทำงาน โดยยึดถึงหลักการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน นอกเหนือจากการรับมือและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเกิดเหตุสาธารณภัย แม้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า แนวทางที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน ตามแนวโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำให้สภาพดินฟ้าอากาศมีความชุ่มชื้น การเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่สวนไร่นาของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโครงการแก้มลิง หลุมขนมครก ฝายชะลอน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงการค้นหาที่ตั้งของแหล่งน้ำเก่าตามธรรมชาติที่เคยมีในอดีต แต่ถูกทำให้เปลี่ยนสภาพทั้งการถมที่ดิน ปรับสภาพดินต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเส้นทางน้ำไหล ทำให้ทิศทางของน้ำเสียไป เพื่อค้นหาและแก้ไขในสิ่งที่ผิดให้กลับมาถูกเพื่อความยั่งยืนระยะยาว ตามวัตถุประสงค์ในการจัดงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติในครั้งนี้ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการนำไปสู่การเตรียมการรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้าของฤดูฝนในปีนี้ ตามที่นักวิชาการหลายท่านได้เตือนถึงปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลกระทบทำให้มีฝนน้อย หรือฝนทิ้งช่วง ทำให้มีน้ำในการอุปโภคบริโภคน้อย

“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้สั่งการแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดวางแผนเตรียมความพร้อม ซักซ้อมตามมาตรการช่วยเหลือ และประชาสัมพันธ์รณรงค์ เพื่อกระตุ้นให้พี่น้องประชาชนได้ช่วยกันเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง โดยการกักเก็บน้ำฝนในหน้าฝนให้เพียงพอ ได้มีมาตรการให้นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักใช้น้ำอย่างประหยัด และกักเก็บน้ำไว้ที่ใช้ในยามจำเป็น ซึ่งในทุกบ้านมีภาชนะประจำบ้านอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของการทำการเกษตรกรรมได้ให้ความสำคัญกับพืชที่ใช้น้ำน้อย อย่างไรก็ตามขอเน้นย้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งประสานบูรณาการความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อลงพื้นที่ไปสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนมีความตระหนักและพร้อมที่จะปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตการณ์เอลนีโญได้” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กำลังเร่งดำเนินการขุดลอกคูคลองเพื่อกักเก็บผักตบชวาที่ขวางทางน้ำ โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาล โดยดำเนินการผ่านโครงการผังภูมิสังคม (Geo-Social Map) เพื่อค้นหาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้เราได้รวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว จำนวนกว่า 80,000 โครงการ ซึ่งจะทำให้เรามั่นใจว่าเราจะมีแหล่งน้ำขนาดเล็กตามธรรมชาติ ที่จะได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้สามารถกักเก็บน้ำได้ ไม่กระทบทางน้ำเดินตามร่องน้ำธรรมชาติเดิม ทำให้น้ำไหลผ่านได้สะดวกมากขึ้นเกิดแหล่งน้ำสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งที่การดำเนินการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนและการสนธิกำลังจากภาคีเครือข่าย ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ประกอบกับ กระทรวงมหาดไทย ได้รับการอำนวยการจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ อาทิ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อเตรียมมาตรการจัดหาแหล่งน้ำบาดาล แหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

Leave a Reply