บทบาท “สมเด็จพระสังฆราช” ในปรากฏการณ์ “ธรรมนาวาวัง”

วันที่ 4 ตุลาคม 2567 พระมหานรินทร์ นรินฺโท ป.ธ. 9 อดีตแอดมินเพจ alittlebuddha เจ้าอาวาสวัดไทยลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พูดถึง บทบาทสมเด็จพระสังฆราช ในห้วงเวลาการเกิดปรากฎการณ์ “ธรรมนาวาวัง” ว่า   วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2567 เวลาบ่าย สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จออก ณ พระตำหนักอรุณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประทานพระวโรกาสให้ พระทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ พร้อมด้วยพระภิกษุอีก 4 รูป เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ โดยไม่ประทานพระอนุญาตให้บันทึกภาพ

เมื่อเสด็จออก พระทวีวัฒน์ ถวายสักการะ ถวายชุดหนังสือ ธรรมนาวา “วัง” และเครื่องไทยธรรม แล้วกราบทูลขอประทานพระดำริเกี่ยวกับการเผยแพร่หลักธรรมนาวา “วัง”

เป็นบันทึกของสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เกี่ยวกับการเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ของพระต้น-ทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ และคณะ ซึ่งมีจุดสำคัญอยู่ 3 แห่ง คือ

1. เป็นการเข้าเฝ้าส่วนพระองค์ คือไม่เป็นทางการ

2. ไม่อนุญาตให้มีการบันทึกภาพ (แต่ทางสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้บันทึกเสียงเก็บไว้เพื่อถวายงานในโอกาสต่อไป)

3. มีการนำเอาหนังสือธรรมนาวา “วัง” ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระสังฆราช

ทั้ง 3 จุดนี้ เชื่อมต่อเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ สมเด็จพระสังฆราช ไม่โปรดให้การเข้าเฝ้าของพระต้น “เป็นทางการ” จึงมีพระบัญชาให้เป็น “ส่วนพระองค์” คือมากราบสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น สิ่งอื่นใดนอกเหนือจากนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นทางการไปด้วย จึงทรงโปรดห้ามมิให้มีการบันทึกภาพใดๆ อย่างเด็ดขาด

จุดสำคัญก็คือ การนำเอาหนังสือธรรมนาวา “วัง” ขึ้นทูลถวาย โดยพระต้นเอง และต่อเชื่อมไปยังการห้ามบันทึกภาพด้วย

เพราะถ้ามีการบันทึกภาพการถวายหนังสือธรรมนาวา “วัง” แด่องค์สมเด็จพระสังฆราช แล้วเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชน ผู้คนก็จะเข้าใจว่า “สมเด็จพระสังฆราช ทรงโปรดรับหนังสือธรรมนาวาวังไว้อย่างเป็นทางการแล้ว” ทั้งนี้ก็เพราะมีภาพเป็นหลักฐานนั่นเอง

สถานการณ์หลังจากนั้นก็คือว่า เมื่อพระต้น ไม่ได้ภาพจากการเข้าเฝ้าในครั้งนี้ จึงไปนำเอาภาพการเข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 มาใช้แทน โดยนำมาประกอบกับการเล่าเหตุการณ์เข้าเฝ้าในวันที่ 12 กันยายน 2567 ซึ่งต่างกรรมต่างวาระกัน นี่คือความฉลาดแกมโกงของนักบวชต้น

เดชะบุญที่องค์สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระบารมีสูงส่ง จึงทรงสามารถยับยั้งอันตรายที่แฝงเข้าไปถึงในพระตำหนักในครั้งนั้น จึงทรงโปรด “ห้าม” มิให้มีการบันทึกภาพของพระต้น ในเวลาเข้าเฝ้า รวมทั้งการถวายหนังสือธรรมนาวาวังด้วย

ก็เลยไม่มีภาพของพระต้นถวายหนังสือธรรมนาวาวังแด่สมเด็จพระสังฆราช และไม่มีภาพสมเด็จพระสังฆราชทรงรับหนังสือธรรมนาวาวังจากพระต้น

สมเด็จพระสังฆราช ทรงพ้นจากข้อครหาของพุทธศาสนิกชนว่า ทรงโปรดรับหนังสือธรรมนาวาวังของพระต้นไว้แล้ว

ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่บรรดาพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ต่างจ้องมองดูว่า สมเด็จพระสังฆราช องค์พระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย ทรงมีทีท่าอย่างไรต่อโครงการธรรมนาวาวัง ซึ่งก็ดังที่ได้รับทราบ คือทรงโปรดให้พระต้นเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์เท่านั้น แต่ไม่ทรงโปรดให้มีการเข้าเฝ้าอย่างเป็นทางการ การเข้าเฝ้าของพระต้นจึงไม่สามารถจะนำไปกล่าวอ้างว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงยอมรับโครงการธรรมนาวาวัง ไม่ว่าด้วยประการใดๆ

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับบทบาทของสมเด็จพระสังฆราช ต่อโครงการธรรมนาวาวังนั้น ก็สอดคล้องกับความปริวิตกของพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งประเทศ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงโปรดรับโครงการธรรมนาวาวัง อันมีคำสอนของพระต้นเป็นแกนภายใน ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้มีการสั่งการผ่านคณะองคมนตรีให้เป็นผู้แทนพระองค์ เปิดโครงการธรรมนาวาวังและนำเอาหนังสือธรรมนาวาวัง ไปถวายพระราชาคณะ พระสังฆาธิการ และพระภิกษุสามเณร ทั่วประเทศ ทำนองเป็นโครงการหลวง ซึ่งยากต่อการปฏิเสธพระราชอำนาจได้

เป็นการนำเอาพระราชสำนักอันเป็นสถาบันสูงสุดของชาติ ไปสนับสนุนลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ซึ่งยังไม่ผ่านการรับรองจากมหาเถรสมาคม อันเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ไทย มีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประมุข

จึงเป็นจุดสุ่มเสี่ยง ที่จะเกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพรักของประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า

เสียงท้วงติงนั้น เห็นว่า การที่ราชสำนักสนับสนุนโครงการธรรมนาวาวังอย่างเป็นทางการนั้น อันตราย หากโครงการนี้มีความเสียหายใดๆ ก็ย่อมจะกระทบถึงราชสำนักไปด้วย

แต่ถ้าหากว่าทรงมีพระราชศรัทธา และโปรดพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์เป็นการส่วนพระองค์ เหมือนอดีตบูรพพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ ที่ทรงมีพระราชศรัทธาในพระสงฆ์เถรานุเถระรูปใดรูปหนึ่ง ก็ทรงโปรดถวายพระบรมราชูปถัมภ์ในรูปแบบต่างๆ กัน ซึ่งเป็นพระราชประเพณีที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยก็สรรเสริญในพระบารมี

ณ วันนี้ บทบาทของสมเด็จพระสังฆราช ทั้งในการเปิดโอกาสให้พระต้นเข้าเฝ้า “เป็นการส่วนพระองค์” ก็ดี ทรงมีพระโอวาทในโอกาสต่างๆ มุ่งเน้นให้พระภิกษุสามเณร ศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และแนวทางของบูรพาจารย์ ซึ่งสืบนำพระพุทธศาสนาผ่านมาอย่างยาวนานถึง 2567 ปี ชี้ให้เห็นว่า สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงพระองค์อย่างไร้มลทิน และทรงมีพระปฏิปทาในการดำรงรักษาพระธรรมวินัยของพระบรมศาสดาอย่างชัดเจน

สมกับทรงดำรงตำแหน่ง “สังฆบิดร” แห่งคณะสงฆ์ไทย

Leave a Reply