เรียนบาลีไปทำไม??

วันที่ 4 ตุลาคม 2567 พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ได้โพสต์เฟชบุ๊คส่วนตัวจำนวน 3 ตอน พร้อมกับตั้งคำถามว่า..เรียนบาลีทำไม?  ถามว่าเรียนภาษาของชาติอื่นไปทำไม? ทุกวันนี้ คนที่พูดภาษาชาติบ้านเมืองของตนอยู่เป็นปกติ แต่เรียนภาษาของชาติอื่นด้วย

ออกไปถึง-เพื่อใช้เป็นช่องทางหาความรู้ เช่นอ่านหนังสือ อ่านตำราที่เขียนเป็นภาษานั้น ๆ อ่านหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์เป็นภาษานั้น ๆ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ที่ออกอากาศเป็นภาษานั้น ๆ เสพข่าวสารบันเทิงจากช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ที่ใช้ภาษานั้น ๆ

นี่คือความมุ่งหมาย วัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายของการเรียนภาษาของชาติอื่น

ตัวอย่างเช่น เรียนภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้พูดกับฝรั่งรู้เรื่อง อ่านหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษรู้เรื่อง ดูหนังฟังเพลงที่เป็นภาษาอังกฤษรู้เรื่อง ถ้าไปเมืองฝรั่งก็พูดจาสื่อสารกับฝรั่งได้สบาย อย่างนี้เป็นต้น

เรียนภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเยอรมัน ภาษาฮินดี ภาษาอะไร ๆ อีกร้อยแปด ก็มีความมุ่งหมาย วัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายแบบเดียวกันนี้ คือเพราะโลกนี้มีชุมชน มีสังคม มีชนชาติที่พูดภาษานั้น ๆ เราจึงเรียนภาษานั้น ๆ เพื่อประโยชน์ในทางสื่อสารกับคนที่ใช้ภาษานั้น ๆ

แล้วหวนมาที่ภาษาบาลี เราเรียนภาษาบาลีไปทำไม?

โลกนี้ไม่มีชุมชน สังคม หรือชนชาติที่พูดภาษาบาลีในชีวิตประจำวัน เราจะเอาภาษาบาลีไปสื่อสารกับใคร

โลกนี้ไม่มีตำรากฎหมาย ตำราประวัติศาสตร์ ตำราวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ที่เขียนเป็นภาษาบาลี เราจะเอาภาษาบาลีไปอ่านตำราอะไร

โลกนี้ไม่มีหนังสือพิมพ์ที่ออกเป็นภาษาบาลี เราจะเอาภาษาบาลีไปอ่านหนังสือพิมพ์อะไร

โลกนี้ไม่มีวิทยุ ไม่มีโทรทัศน์ ที่ออกอากาศเป็นภาษาบาลี เราจะเอาภาษาบาลีไปฟังวิทยุ ไปดูโทรทัศน์ที่ไหน

ช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ที่แพร่หลายอยู่ในโลกไฮเทคทุกวันนี้ก็ไม่มีช่องทางไหนที่เผยแพร่เป็นภาษาบาลี เราจะเอาภาษาบาลีไปเสพข่าวสารบันเทิงจากที่ไหน

จึงสรุปเป็นคำถามสั้น ๆ ว่า เรียนบาลีไปทำไม?

ถ้าเปรียบการเรียนบาลีเป็นสินค้า เราผลิตสินค้าชนิดนี้ขึ้นมา มีตลาดอะไรรองรับ?

เป็นตลาดที่เอาสินค้าไปกินไปใช้จริง ๆ

ไม่ใช่ตลาดที่เอาสินค้าไปเก็บไว้เฉย ๆ ไม่กินไม่ใช่ ไม่ดู ไม่เอาไปทำอะไรทั้งสิ้น เก็บไว้เฉย ๆ ชั่วนิรันดร

จะมีใครตอบได้บ้าง-โดยเฉพาะนักเรียนบาลี   เรียนบาลีไปทำไม?

ตอนที่แล้วตั้งคำถามว่า เรียนบาลีไปทำไม?  ตอนนี้ผมจะตั้งตัวเป็นนักเรียนบาลีรุ่นปัจจุบันวันนี้ตอบคำถาม  คำตอบที่เด่นที่สุดของนักเรียนบาลีปัจจุบันนี้ก็คือ เรียนบาลีเพื่อเอาวุฒิ

การสอบได้เป็นเหตุให้ได้วุฒิ วุฒิเป็นเหตุให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์  นักเรียนบาลีปัจจุบันนี้เรียนบาลีจึงมุ่งไปที่สอบได้  มีผู้บอกไว้ชัดเจนว่า ลองประกาศยกเลิกวุฒิบาลีดูสิ

หมายความว่าสอบได้ประโยคไหนก็ไม่นับเป็นวุฒิ ม.ต้น ม.ปลาย หรือปริญญาตรีใด ๆ ทั้งสิ้น เรียนบาลีเพื่อสืบพระอายุพระศาสนา เรียนบาลีเอาบุญ เอาความรู้ล้วน ๆ ไม่มีวุฒิให้เอาไปทำอะไรทั้งนั้น

นักเรียนบาลีจะหายวับไปกับตา จะหาคนเรียนบาลีได้ยากที่สุด

อีกเสียงหนึ่งที่ดังอยู่เรื่อย ๆ และดังขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ เรียนบาลีของคณะสงฆ์ไทยนักเรียนสอบตกมากกว่าสอบได้ แบบนี้ผิดหลักการศึกษา ควรจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ต้องเรียนเพื่อให้นักเรียนสอบได้มากกว่าสอบตกหรือไม่มีสอบตก ไม่มีซ้ำชั้น-แบบเดียวกับระบบของทางโลกจึงจะถูกต้อง ไม่เกิดการสูญเปล่าทางการศึกษาอย่างที่กำลังเป็นอยู่

เป็นการยืนยันว่า เรียนบาลีเพื่อสอบได้-เพื่อวุฒิ เพื่อศักดิ์และสิทธิ์ เป็นเป้าหมายของนักเรียนบาลีปัจจุบัน

พูดอย่างนี้ ผมรู้ดีว่าจะโดนหมัดสวนทันที – มีหน้าไหนมั่งล่ะที่เรียนบาลีไม่เอาวุฒิ ไอ้คนพูดนั่นแหละตอนมันเรียนมันก็มุ่งเอาวุฒิ ตอนนี้ทำมาพูดดีนัก ไอ้เวร …

หมัดนี้ผมเคยตอบมาแล้วว่า ถูกต้อง วุฒิต้องเอา ศักดิ์และสิทธิ์ต้องได้ เรียนบาลีต้องคว้าให้ได้ไปให้ถึง …  แต่ไม่ใช่จบแค่นั้น

ถนนสายบาลีไม่ได้สิ้นสุดแค่นั้น    ถนนสายบาลียังมีต่อไปอีกยาว

แต่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการเรียนบาลีของเรากลับบอกกันว่า สอบ ป.ธ.๙ ได้คือจบบาลีแล้ว

นอกจากจะไม่สนับสนุนความจริงว่าถนนสายบาลียังมีต่อไปอีกยาวแล้ว ยังช่วยกันก่ออิฐปิดทางปักป้าย “ทางตัน” เสียอีกด้วย บอกให้เข้าใจผิดว่าถนนสายบาลีสิ้นสุดลงแค่สอบ ป.ธ.๙ ได้ แค่นี้จบบริบูรณ์แล้ว

สอบ ป.ธ.๓ ได้ คือจบ ม.ปลาย

สอบ ป.ธ.๙ ได้ คือจบ ป.ตรี

เท่านี้พอแล้ว เอาวุฒิไปใช้ประโยชน์ได้ตามที่ต้องการ    เรียนบาลีได้เท่านี้พอแล้ว

เอาเป็นว่ายอมแพ้ครับ เรียนบาลีเพื่อเอาวุฒิถูกต้อง  แต่ขอถามต่อไปว่า เราเคยคิดบ้างไหมว่า ที่ผู้บริหารการศึกษากำหนดให้เรียนบาลีได้วุฒิชั้นนั้นชั้นนี้ เขามีเหตุผลอะไร เขามองตรงไหนจึงยอมให้การเรียนบาลีได้วุฒิ?

คำถามนี้อาจยังไม่ตรงประเด็นนัก เพราะฉะนั้น ขอชี้ชัดลงไปเลยเพื่อให้เห็นประเด็นชัด ๆ –

นั่นก็คือ ปัจจุบันนี้กระทรวงกลาโหมมีตำแหน่ง “อนุศาสนาจารย์” ทั้ง ๓ เหล่าทัพ รับสมัครผู้จบปริญญาตรีของคณะสงฆ์ คือ ป.ธ.๙ และ พธ.บ. จากมหาจุฬาฯ ศน.บ. จากมหามกุฏฯ

ว่าเฉพาะ ป.ธ.๙ อันมาจากการเรียนบาลีโดยตรง

ถามว่า กระทรวงกลาโหมเอาผู้จบ ป.ธ.๙ ไปเป็นอนุศาสนาจารย์ เพื่อให้ทำงานอะไร?

ตอบว่า ให้ทำงานสอนและอบรมศีลธรรม เผยแพร่วิชาการทางพระพุทธศาสนา ปฏิบัติการเรื่องศาสนพิธี เป็นที่ปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับขวัญและกำลังใจของกำลังพลในกองทัพ

นี่คืองานของอนุศาสนาจารย์ รายละเอียดยังมีอีกมาก แต่หลัก ๆ เป็นดังที่กล่าวมานี้

และที่สำคัญที่สุด อนุศาสนาจารย์ต้องมีจรรยาบรรณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องดำรงตนอยู่ในเบญจศีลอย่างเคร่งครัด

ถ้าอนุศาสนาจารย์บกพร่องทางศีลธรรม กระทรวงกลาโหมจะใช้มาตรการ “ให้ออกจากสายวิทยาการ” คือไม่ให้ทำหน้าที่อนุศาสนาจารย์อีกต่อไป

ข่าวร้อนในช่วงเวลาที่ผ่านมา คือพระมหา ป.ธ.๙ รูปหนึ่ง บกพร่องทางศีลธรรมเกี่ยวกับการเงิน เป็นเรื่องฉาวโฉ่มาก

ถ้าผู้จบทางบาลีบกพร่องทางศีลธรรมกันทั่วไปแบบนี้ จบ ๑๐๐ บกพร่องทางศีลธรรม ๘๐-๙๐ หรือบกพร่องหมดทั้ง ๑๐๐

ถามว่า กระทรวงกลาโหมจะรับผู้จบ ป.ธ.๙ เข้าเป็นอนุศาสนาจารย์หรือไม่?

หน่วยงานอื่น ๆ ที่รับผู้จบบาลีเข้าทำงานหรือเข้าศึกษาต่อ จะรับหรือไม่?

ผู้มีอำนาจหน้าที่ทางการศึกษาจะกำหนดให้ผู้จบบาลีมีวุฒิชั้นนั้นชั้นนี้หรือไม่?

จะเห็นได้ว่า ที่ว่าเรียนบาลีเพื่อเอาวุฒินั้น เนื้อตัวหรือหัวใจจริง ๆ ของการเรียนบาลีไม่ได้อยู่ที่วุฒิ

หากแต่อยู่ที่ความไม่บกพร่องทางศีลธรรม

หมายความว่า เป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนบาลีคือความเป็นผู้บริบูรณ์ทางศีลธรรมและทางวิชาการ   แง่ต่อไปที่ควรคิดก็คือ ถ้าต้องการเพียงแค่วุฒิ ทำไมจะต้องเรียนบาลี?

เรียนอย่างอื่นก็สามารถได้วุฒิเหมือนกัน แล้วทำไมจะต้องเรียนบาลี?

มาถึงตรงนี้ชักจะเห็นได้แล้วว่า เรียนบาลีบาลีทำไม มีตัวแปรมากกว่า-เรียนเพื่อเอาวุฒิ คือต้องตามไปดูอีกว่าทำไมต้องเอาวุฒิ

การศึกษาของเรานั้น เดิมแท้คือการอบรมสั่งสอนให้มีความรู้ดีควบคู่ไปกับความประพฤติดี หลักข้อนี้อาจจะมีที่มาจากแนวคำสอนในพระพุทธศาสนา

สรุปว่า หลักการศึกษาเดิมแท้ของเรานั้น อบรมสั่งสอนเรื่องความรู้ด้วย อบรมสั่งสอนเรื่องความประพฤติด้วย

หลักข้อนี้จะเห็นได้ชัดในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ว่าด้วยการจัดการศึกษา ความตอนหนึ่งว่า

… เรื่องการศึกษานี้ขอให้ทรงช่วยคิดให้มาก ๆ จนถึงรากเหง้าของการศึกษาในเมืองไทย อย่าตัดช่องไปแต่การข้างวัด อิกประการหนึ่ง การสอนศาสนาในโรงเรียนทั้งในกรุงแลหัวเมือง จะต้องให้มีขึ้น ให้มีความวิตกไปว่าเด็กชั้นหลังจะห่างเหินจากศาสนาจนเลยเปนคนไม่มีธรรมในใจมากขึ้น เมื่อเปนเช่นนั้นจะถือว่าเหมือนอย่างทุกวันนี้ คนที่ไม่รู้อะไรก็มีมาก ต่อไปภายน่าถ้าเปนคนที่ได้เล่าเรียน คงจะประพฤติตัวดีกว่าคนที่ไม่ได้เล่าเรียนนั้นหาถูกไม่ คนที่ไม่มีธรรมเปนเครื่องดำเนินตาม คงจะหันไปทางทุจริตโดยมาก ถ้ารู้น้อยก็โกงไม่ใคร่คล่องฤๅโกงไม่สนิท ถ้ารู้มากก็โกงคล่องขึ้นแลโกงพิศดารมากขึ้น การที่หัดให้รู้อ่านอักขรวิธี ไม่เปนเครื่องฝึกหัดให้คนดีแลคนชั่ว เปนแต่ได้วิธีสำหรับจะเรียนความดีความชั่วได้คล่องขึ้น จึงเห็นว่าถ้ามีหนังสืออ่านสำหรับโรงเรียน ที่บังคับให้โรงเรียนต้องสอนกัน แต่ให้เปนอย่างใหม่ ๆ ที่คนจะเข้าใจง่าย ๆ แลเปนความประพฤติของคฤหัสถ์ชั้นต่ำ ๆ ขึ้นได้จะเปนคุณเปนประโยชน์มาก …

ที่มา: หนังสือ “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีไปมากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์พระราชทานแจก เนื่องในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณ ในวันตรงกับวันเสด็จสวรรคต ที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒

ผมเชื่อว่า อัปปสุตสูตรและสีลวีมังสชาดกที่ผมยกมาข้างต้นนั้น นักเรียนบาลีบ้านเราไม่เคยศึกษาไปถึงต้นฉบับบาลีและอรรถกถา

และหนังสือ “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีไปมากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” ที่ผมคัดข้อความมานี้ นักเรียนบาลีบ้านเราก็ไม่เคยอ่านและไม่เคยเห็น

บอกเลยนะครับว่า นี่คือตั้งใจพูดให้กระทบใจ  กระทบใจแล้วจะได้โกรธ-ว่าแบบนี้มันดูถูกกันนี่หว่า

โกรธแล้วจะได้ฮึดสู้ ลุกขึ้นมาศึกษา ลุกขึ้นมาช่วยกันศึกษา  ศึกษาแล้วจะได้ก้าวข้ามค่านิยม-เรียนบาลีเพื่อเอาวุฒิ

Leave a Reply