“รองอธิการบดี มศว” ชี้สอนออนไลน์ยังไม่ตอบโจทย์ แนะอาจารย์ปรับตัวสร้างกิจกรรมร่วมมากขึ้น

อธิการบดีมหาจุฬาฯ เปิดปฐมนิเทศอาจารย์ประจำปี ๒๕๖๔ แนะยกระดับเป็นโค้ชและFa สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน “รองอธิการบดี มศว” ชี้ปัจจุบันสอนออนไลน์ยังไม่ตอบโจทย์ ประสิทธิภาพผู้เรียนลดลง แนะอาจารย์ต้องปรับตัว สร้างกิจกรรมร่วมมากขึ้น

เข้าร่วมพิธีปฐมนิเทศอาจารย์ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๔ (ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในวันศุกร์ที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ ภาคเช้า เวลา ๐๘.๓๐ น. ผ่าน โปรแกรม Zoom Video Conferencing ในนามอาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เริ่มต้นจากการชมวีดีทัศน์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ความเป็นมาและผลงานตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยภายใต้ธรรมาภิบาล สอดรับกับกระทรวง อว. และยุทธศาสตร์ของประเทศ ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว เป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาระดับโลก

วันศุกร์ที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ น. พระเทพวัชรบัณฑิต ศาสตราจารย์ ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานในเปิดพิธีเปิดปฐมนิเทศอาจารย์ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๔ (ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผ่านโปรแกรม Zoom Video Conferencing พร้อมปาฐกถาเรื่อง การสอนเพื่อเสริมสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์มหาจุฬาฯ

พระเทพวัชรบัณฑิต กล่าวว่า ครูบาจารย์ของมหาจุฬาฯจะต้องยกระดับการเป็นโค้ช และ Facilitator ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีการออกแบบทำกิจกรรมให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยการศึกษาจึงต้องมีปริยัติคือ ศึกษาเล่าเรียน สอนให้รู้ดี มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ปฏิบัติศึกษาอบรม ทำให้ดูสามารถทำได้ ปฏิเวธสัมฤทธิผลเป็นการอยู่ให้เห็นสามารถใช้เป็น ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ต้องสามารถนำตนเองให้รอดและปลอดภัย โดยมหาจุฬาฯ มีประวัติมายาวนานโดยรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๐ – ๒๕๖๔ รวม ๑๓๔ ปี ถึงแม้เราจะไม่ได้เจอหน้ากันแต่เราใช้เครื่องมือสื่อสารทางออนไลน์ แม้สถานการณ์ไม่ปกติเราจะทำให้เป็นปกติอย่างไร

ต่อจากนั้นเป็นการเสวนาเรื่อง เทคนิคการสอนออนไลน์เพื่อความเป็นศิษย์อาจารย์ที่แนบแน่นและวิชาการครบถ้วน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ๒ รูป-คนคือ พระเทพปวรเมธี รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร และรศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม มศว ศิษย์เก่า มจร รุ่น 36 และดำเนินรายการโดย รศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มจร ซึ่งกล่าวว่า การสอนออนไลน์วิชาการจะต้องมีความครบถ้วน โดยคนจำนวนมากมาเรียนปริญญาเอกที่มหาจุฬาฯ จะต้องมีความแนบแน่นศิษย์กับอาจารย์และความแน่นทางวิชาการ

พระเทพปวรเมธี กล่าวประเด็นสำคัญ ๕ คือ ๑) สืบสานราชปณิธาน ตามตามแนวทางล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ โดยศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงคือศาสตร์สมัยใหม่ เราจะบูรณาการอย่างไรให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ

๒) พัฒนาการเรียนการสอน เน้นครูบาอาจารย์เป็นสำคัญ โดยมีกัลยาณมิตรเป็นฐาน คุณธรรมของครูอาจารย์ จะต้องมีความรู้พื้นฐานในพระพุทธศาสนา ยกระดับมาตรฐานการสอนสู่ออนไลน์ อาจารย์ต้องสอนตามเนื้อหาที่มีการบูรณาการสอดคล้องกับผู้เรียนโดยให้ผู้เรียนได้ร่วมปฏิบัติ ครูอาจารย์ต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ ต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการวิจัย โดยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ พัฒนาตนเองเชิงวิชาการ สิ่งสำคัญจะต้องวางตนให้มีความเหมาะสม รักษาภาพลักษณ์ของครูอาจารย์ สอนให้ดู อยู่ในเห็น เย็นให้สัมผัส จะต้องเป็นทูตทางศีลธรรม

๓) ปฏิบัติทุกขั้นตอนพันธกิจ มีพันธกิจ ๕ ด้าน ผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม การบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล ครูอาจารย์จะต้องทำพันธกิจให้ครบ ๕ ด้าน เราจะต้องปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ครูอาจารย์มี ๓ งาน คือ งานหลัก งานรอง งานพิเศษ งานสอนคืองานหลักของครูอาจารย์ ทำงานหลักให้มีคถณภาพ ส่วนงานรองเป็นงานที่ทำร่วมกับคนอื่นไปช่วยบุคคลอื่น ส่วนงานพิเศษ เช่น งานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย งานรับปริญญา จะต้องมีจิตอาสามาร่วมงาน เราจึงต้องสร้างเครือข่ายจากภายนอก

๔) ผลิตบัณฑิตพึงประสงค์ เรามีนวลักษณ์ของนิสิตมหาจุฬาฯ ปัจจุบันจึงปรับตรีลักษณ์ ประกอบด้วย ความรู้ดี มีคุณธรรม นำสังคมสู่สันติสุข มุ่งให้นิสิตเป็นคนเก่ง วิชาการและทักษะ ผลิตบัณฑิตเป็นคนดี มีความสุข จะต้องพัฒนาครูอาจารย์เป็นที่พึงประสงค์ เมื่อพัฒนาความเก่งความดีแล้วจะต้องผลิตบัณฑิตให้มีจิตวิญญาณมีความเป็นมนุษย์ เพื่อนำสังคมสู่สันติสุข

๕) มุ่งตรงสู่สังคมสันติสุข โดยมุ่งประโยชน์ตนและประโยชน์สังคมให้เกิดสังคมสันติสุข ถือว่าเป็นความหวังของสังคมไทย

รศ.ดร.ชลวิทย์ กล่าวว่า จะต้องสร้างบรรยากาศในการสอนออนไลน์ จะต้องปรับตัวให้มีกิจกรรมร่วมกันทางออนไลน์สม่ำเสมอ เสนองานกลุ่ม เริ่มสนทนามุมมองเรื่องลูกศิษย์ที่อยากจะเล่า มีข้อตกลงร่วมกัน ให้ความสำคัญในการสนทนาแบบมีส่วนร่วม วิชาการครบถ้วนโดยสอนตามเนื้อหาสาระที่เตรียมหลักสูตร มีตัวอย่าง คลิปวีดีโอ ภาพ ประเมินนิสิตในหลายด้านเช่น ฟัง พูด อ่าน เขียน ปัจจุบันประสิทธิภาพของผู้เรียนลดลงแสดงว่าออนไลน์ยังไม่ตอบโจทย์ อาจารย์ต้องปรับตัว ในยุคปัจจุบันจะต้องปรับตัวเท่านั้นในสถานการณ์ปัจจุบัน ก่อนและหลังเข้าสู่บทเรียนจะต้องสร้างมนุษยสัมพันธ์ มีเทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน ควรเตรียมการสอนก่อนเข้าห้องออนไลน์ก่อน ๓๐ นาที

จากนั้นมีการแลกเปลี่ยนซึ่งการสอนออนไลน์จะต้องสอนและทดสอบ โดยมีส่วนร่วม มีความรู้สึก มีการสร้างบรรยากาศ รู้ว่ามาเรียนได้ประโยชน์ ครูอาจารย์จะต้องเตรียมการ เตรียมความพร้อมเทคนิคการใช้งาน ทำเองและอาศัยคนอื่นทำให้ได้ เตรียมการสอนของครูอาจารย์ และเตรียมการของผู้เรียน ปฏิบัติการ เตรียมระบบให้มีความพร้อมให้มีความไหลลื่น สร้างบรรยากาศให้มีส่วนร่วม สร้างข้อตกลงร่วมกัน #สิทธิการ สอนให้มีความประสบความสำเร็จ ยกระดับคุณภาพของครูอาจารย์ โดยใช้กรอบ USAC Model U : Understanding S : Skill A : Access C : Creative โดยคณาจารย์จะต้องมีความแนบแน่นให้มากขึ้น

Leave a Reply