อำเภอนำร่อง “บัดบัดทุกข์ บำรุงสุข” ด้วยพลัง 3 ป. สู่ความพอเพียง

จังหวัดพิษณุโลกเดิมมีชื่อเรียกว่า “ เมืองสองแคว ” เนื่องจากเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำน่าน และ แม่น้ำแควน้อย หรือบริเวณที่ตั้งของวัดจุฬามณีในปัจจุบันเมื่อประมาณปี พ.ศ.1900 สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ ณ ตัวเมืองปัจจุบัน โดยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง สมัยอยุธยา เมืองพิษณุโลกทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นเมืองกึ่งกลางระหว่างกรุงศรีอยุธยาและอาณาจักรฝ่ายเหนือ “สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” ทรงปฏิรูปการปกครองและได้เสด็จมาประทับที่เมืองนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2006 จนสิ้นรัชกาลในปี พ.ศ. 2031 ช่วงนั้นพิษณุโลกเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยาถึง 25 ปี หลังรัชสมัยของพระองค์

พิษณุโลกมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงเป็นหน้าด่านสำคัญ ที่จะสกัดกั้นกองทัพพม่า เมื่อครั้งพระนเรศวรมหาราชดำรงฐานะพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก ระยะนั้นไทยตกเป็นเมืองขึ้นพม่า สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงรวบรวมชายฉกรรจ์ชาวพิษณุโลกกอบกู้อิสรภาพชาติไทยได้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงดำรงให้รื้อกำแพงเมืองพิษณุโลกเพื่อไม่ให้ข้าศึกใช้เป็นที่มั่น ครั้นถึงปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเมืองพิษณุโลกขึ้นเป็นมณฑล เรียกว่า มณฑลพิษณุโลก ต่อมาเมื่อยกเลิกการปกครองแบบมณฑลแล้ว พิษณุโลกจึงมีฐานะเป็นจังหวัดเรื่อยมาจนปัจจุบัน

จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันมีประชากรทั้งสิ้น 865,368 คน แบ่งออกเป็น ชาย 423,986 คน และ หญิง 411,382 คน แบ่งการปกครองออกเป็น  9 อําเภอ 93  ตําบล และ 1,048  หม่บ้าน  ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

“อำเภอเมืองพิษณุโลก” เป็น 1 ใน 10 อำเภอจากทั่วประเทศ ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นอำเภอนำร่องจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับอำเภออื่น ๆ อีก 878 อำเภอ ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างความสุขแบบอย่างยืนให้กับประชาชนโดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐาน ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความรู้รักสามัคคีภายในชุมชน

“ทีมข่าวพิเศษ” ได้ลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อขอสัมภาษณ์ “แกนนำ” ขับเคลื่อนอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”

“นิสิต สวัสดิเทพ” อดีตนายอำเภอเมืองพิษณุโลกปัจจุบันเป็นปลัดจังหวัดพิษณุโลก  “เจ้าของผลงาน” อำเภอนำร่อง บอกกับ “ทีมข่าวพิเศษ” ว่า  ปัญหาหลักของเมืองพิษณุโลกมี 3 เรื่อง คือ หนึ่ง ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ สอง ความยากจน และ สาม การขาดการมีส่วนร่วม เมื่อเรารู้ปัญหาเหล่านี้แล้ว เราจึงกำหนดกรอบหรือแผนงานที่จะขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เราตั้งชื่อว่า 3 ป สู่พอเพียง ชื่อเต็มคือ “โครงการปลุกพลังความคิด ปรับวิถีชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนเมืองพิษณุโลกสู่ความยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน”  ป.แรก คือ  “ปลุกพลังความคิด”  ป.ที่ 2  “ปรับวิถีชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง” และ ป.ที่ 3  คือ “เปลี่ยนเมืองพิษณุโลกสู่ความยั่งยืน” ซึ่งโครงการอำเภอนำร่องเมืองพิษณุโลกทำตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง เดือนพฤศจิกายน 2565 แต่โครงการหลัก ๆ คือ โครงการปลุกพลังความคิดที่มาของโครงการคิดว่าทุกอำเภอก็คงคิดเหมือนกันคือเมื่อไปเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเราก็อยากจะเข้าไปช่วยแก้ไข ประกอบกับกระทรวงมหาดไทยมีโครงการนี้ขึ้นมา “โครงการอบรมอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เมื่ออบรมเสร็จก็นำภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ฝ่ายไปเข้าร่วมอบรมด้วย เมื่อได้ฟังแล้วก็เกิดแรงบันดาลใจ และได้กลับมาคิดว่าจะแก้ไขปัญหาคนพิษณุโลกอย่างไร  ซึ่งบริบทเมืองพิษณุโลกค่อนข้างที่จะยากกว่าอำเภอรอบนอก เพราะเป็นสังคมเมืองเยอะ สังคมชนบทก็ยังพอมี ตรงนี้มันคือปมปัญหาหนึ่งวิธีแก้ก็คือ “นายอำเภอ” ที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย (สุทธิพงษ์ จุลเจริญ) ท่านบอกว่าเป็น “นายกรัฐมนตรี” ในพื้นที่ ต้องสร้างพลังบวกให้ตนเอง เดินเข้าหาประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายให้ได้

“เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ทำคือ คิดโจทย์ก่อน ป.ที่ 1 ปลุกพลังตรงนี้เน้นมากที่สุดเลย เริ่มตั้งแต่พลังในตัวเรา คนใกล้ชิดเรา ผมเน้นไปที่พลังของผู้นำก่อน เพราะเรามีความเชื่อว่าโครงการทั้งหมดของรัฐบาล ราชการนั้นต้องเริ่มต้นจากผู้นำ  ผู้นำต้องทำก่อน  ผู้นำต้องเข้าใจและมีใจ หากไม่เข้าใจตรงกันทิศทางจะไปแบบสะเปะสะปะ เราจะใช้ระบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเอามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ถ้าเราพูดเฉย ๆ ไม่ไปสร้างการรับรู้ให้พวกเขาเข้าใจว่าต้องทำอย่างไร คนก็จะไม่เข้าใจขบวนการทำงาน ซึ่งเรื่องปลุกพลังของคนนี้เป็นเรื่องที่ยากที่สุด ผู้นำก็มีหลายระดับ เริ่มจากนายอำเภอ ต่อมาก็หัวหน้าส่วนราชการที่ต้องเข้าใจเหมือนเรา จากนั้นก็กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ต้องให้เข้าใจเหมือนเรา ทุกภาคส่วนต้องเข้าใจตรงกัน เพราะมันจะต้องขับเคลื่อนไปทั้งอำเภอ ในความคิดของผมในขณะที่ดำรงตำแหน่งอยู่นั้นถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก.”

เมื่อทีมงานถามว่า วิธีการสื่อสารให้เขารับรู้ว่าเราต้องปลุกพลังความคิดด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ท่านใช้วิธีไหน???

อันดับแรก ทุกเวทีที่มีการประชุม ผมต้องทำหน้าที่ในการอธิบายให้เข้าใจถึงเป้าหมายที่ต้องการทำ สอง ผมลงไปทุกพื้นที่ของอำเภอเมืองพิษณุโลกซึ่งมีผมมีโครงการ “เมืองสร้างสุข บำบัดทุกข์สัญจร” และพาปลัดอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการลงไปในพื้นที่ทุกเย็น ไปพูดถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีประโยชน์อย่างไร พออธิบายเสร็จก็ต้องลงมือทำ ที่มีกิจกรรมรองรับก็คือ ป. ที่ 2 ลงมือทำมีทั้งหมด 6 กิจกรรม ผมได้น้อมนำพระราชดำริของกรมสมเด็จพระเทพฯตาม “โครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” ทุกหมู่บ้านนำร่อง หมู่บ้านต้นแบบต้องปลูกผักและสมุนไพรต่าง ๆ อย่างน้อย 15 ชนิด นอกจากที่บ้านแล้ว วัดก็ต้องปลูก โรงเรียน ทุกถนนเส้นทางที่เป็นสาธารณะประโยชน์ทุกหมู่จะต้องปลูกผักที่กินได้ ทุกวันนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้ว คนเฒ่าคนแก่ดีใจกันมากเลย ทุกวันนี้เวลาผมลงพื้นที่ จะรู้สึกภาคภูมิใจมาก ที่มีชาวบ้านพูดว่า “โครงการของนายอำเภอดีมากเลย ช่วยประหยัดเงินไปได้เยอะ ตอนเย็น ๆ ก็เดินไปเก็บสะเดาบ้าง ชะอมบ้าง ดอกแคบ้าง มะเขือ โดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อ” และ ป. สุดท้าย “เปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืน” เราต้องการที่จะรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมดเริ่มจาก ป.ที่หนึ่งเมื่อเราปลุกพลังและมีส่วนร่วมไปกับเราแล้ว และเราได้ลงมือทำใน ป. ที่สอง แต่องค์ความรู้เหล่านี้ถ้าเราไม่มีการรวบรวมและส่งต่อไว้ มันจะหายไปเลย ในอำเภอเมืองนี้จะมีอยู่หมู่บ้านหนึ่งที่ หมู่บ้านวังส้มซ่า ตำบลท่าโพธิ์ ที่เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แต่มีอัตลักษณ์ในเรื่องของหมู่บ้านท่องเที่ยวมีคนรู้จักเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ถอดบทเรียนให้จังหวัดอื่น ๆ ได้ดูบ้านวังส้มซ่า ใช้วิธีว่า มีคนเข้ามาเที่ยว เข้ามาดูงานที่บ้านวังส้มซ่าเยอะ ทั้งภาคเอกชน มหาวิทยาลัย ก็ต้องเอาข้อมูลของอำเภอนำร่องบ้านเราที่ทำมาว่า เมื่อคณะไหนมาดูงาน ต้องนำวิทยากรไปบรรยายเรื่องที่มาของ 3 ป. สู่ความพอเพียง เราน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแก้ปัญหาในพื้นที่ของเรา

เมื่อทีมงานถามต่อว่า วิธีคิด “3 ป สู่ความพอเพียง” เกิดขึ้นหลังจากไปอบรมมาแล้วใช่หรือไม่

ใช่ครับ เราใช้เวลาร่วมกับภาคีทั้ง 7 ภาคส่วน ร่วมกันถอดบทเรียนและนำเสนอโครงการให้กระทรวงมหาดไทย จากเดิมอำเภอของเราเป็นหนึ่งใน 18 อำเภอก่อนเป็นตัวแทนจังหวัด พอรอบที่สองเราก็ติดอันดับ 1 ใน 10 สุดท้ายก็ประกาศให้ได้ “ยอดเยี่ยม”

สุดท้ายเมื่อทีมข่าวถามว่า ท่านคาดหวังอะไรจากอำเภอกนำร่อง???

“นิสิต สวัสดิเทพ” ปลัดจังหวัดพิษณุโลก ตอบว่า โดยส่วนมองว่าโครงการนี้ดีมาก ดีตรงที่ว่าสมัยก่อนเราก็ทำงานแหละแต่จะทำงานแบบต่างคนต่างทำแต่ว่าตอนนี้ท่านปลัดกระทรวง (สุทธิพงษ์ จุลเจริญ) ท่านได้พูดว่า “นายอำเภอคือนายกรัฐมนตรีของอำเภอนั้นๆ คุณไปบูรณาการ ช่วยกันแก้ปัญหา ผมว่าจุดนี้ทำให้ทุกคนตื่นตูมขึ้นมา เพราะทำให้ต้องคิดว่าปัญหาของอำเภอเรามีอะไร ปลุกพลังเชิงรุก ทั้งภาคเอกชน ภาคศาสนาทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน เมื่อช่วยกันแบบนี้แล้ว ผมเชื่อว่าทุกอำเภออย่างน้อยที่สุด 70% ต้องมีการพัฒนาขึ้น เพราะมีแรงกระตุ้นให้ทำ เหมือนสร้างพลังให้กับนายอำเภอทั่วประเทศ..”

หากมองในรายละเอียดเนื้อแท้ในการขับเคลื่อนโครงการ 3 ป.สู่ความพอเพียงของอำเภอเมืองพิษณุโลก เป็นการดำเนินการตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้น ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์รัชกาลที่ 9 นั่นเอง คือ ชั้นพื้นฐาน 4 พ.คือ พอกิน พอใช้ พอยู่ พอร่มเย็น อาทิ กิจกรรมบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง ทำบุญทำทาน สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว และนำไปสู่การสร้างเครือข่าย มีศูนย์เรียนรู้ระดับชุมชนและตำบล เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนตามเป้าหมายของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข

“โคก หนอง นา”  ซึ่งเป็นโครงการ ป.ที่ 2 ในการขับเคลื่อนอำเภอนำร่องบัดบัดทุกข์ บำรุงสุข ของอำเภอเมืองพิษณุโลก ตอนนี้มีทั้งหมด 28 แปลง  “ทีมข่าวพิเศษ” ลงพื้นที่ไปสำรวจดูความสำเร็จในการทำโคก หนอง นา ขนาด 3 ไร่ ของ “ วานิช มีเมือง” หมู่ 1 ต.บ้านป่า อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งในตอนที่เรากำลังไปถึงนั้นมีชาวบ้านกำลังมาเก็บผักกันหลายคน ถามได้ความว่า จะเก็บผักไปช่วยงานบวชในหมู่บ้าน

วานิช มีเมือง” ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านด้วย หลังจากพาเราเดินสำรวจรอบแปลงผักโคกหนอง นา ซึ่งปลูกแบบผสมผสาน มีทั้งเลี้ยงกบและปลาหลากหลายชนิด ที่เขาบอกว่า น้ำตรงนี้อยู่ทั้งปี ภายในแปลงมีผักหลากหลายชนิด รวมทั้งดอกดาวเรืองที่สร้างรายได้ให้เขาอย่างงาม บอกกับเราว่า สนใจเดินตามรอยศาสตร์พระราชามานานแล้วตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ชอบปลูกผัก สามามรถดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสบายๆ ลงโคก หนอง นาไว้ในพื้นที่ 3 ไร่ ทำมาได้ประมาณ 3 เดือน ขุดสระลึก 8 เมตรขุดเจอตาน้ำ ตั้งใจทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกป่า และทำแหล่งท่องเที่ยวไปในตัว หลัก ๆ เน้นให้เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้

“ตอนนี้ผัก และพันธุ์ไม้ ดอกดาวเรืองที่สามารถนำขายได้แล้ว รายได้พออยู่ได้ ทำหลายอย่างไม่เฉพาะที่นี่ที่เดียว มีทั้งพืชผัก ขายกล้าพันธุ์ ทำน้ำตาลสด แถวนี้เป็นแหล่งต้นตาลเก่า และปลูกใหม่ ต้นตาลนี้ต้องใช้ระยะเวลา 9-10ปี กว่าจะได้ ปลูกห่างกันระยะ 2-3เมตร ใบตาลนำมาทำหลังคาได้ ที่พิษณุโลกนี้ที่ดัง ๆจะมีขนมเปียกปูนจากใบตาลเผา มีความอร่อยมาก  ต้นเอามาทำบ้านเป็นไม้เนื้อแข็ง สวย ต่างจากมะพร้าวมาก ลูกตาลก็ใช้ทำเป็นอาหารและขนม ทำกระแช่ได้ ประโยชน์ของตาลเรียกได้ว่าครบวงจร คอตาลก็นำมาทำแกง เมื่อต้นแก่นานมากก็ตัดไปทำเฟอร์นิเจอร์ ถ้าทำนำตาลต้องใช้วิธีนวดตั้งแต่ต้นยังเล็ก ๆ นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงกบด้วย สำหรับแปลงโคก หนอง นา ของตนมีคนมาดูงานต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นศูนย์เรียนรู้ มีทั้งจากโรงเรียน ภายในตำบล และคนสนใจมาดูงานเป็นประจำ ตอนนี้คนสนใจอยากทำโคก หนอง นา กันมา แต่ภาครัฐไม่มีงบประมาณให้เหมือนแต่ก่อน  สำหรับนายอำเภอที่เป็นปลัดจังหวัดคนปัจจุบันนี้ ได้เดินทางมาเยี่ยมชมและส่งเสริมหลายครั้ง ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านตื่น กิจกรรมปลูกผักตามถนน ตามวัด ตามโรงเรียน หรือแม้กระทั้งในครัวเรือนท่านก็ส่งเสริม  ในฐานะชาวบ้านอยากให้นายอำเภอคนต่อ ๆไป ได้สานต่อนโยบายของศาสตร์พระราชาไปเรื่อย ๆ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร อย่างน้อยลดรายจ่าย และมีผักปลอดสารพิษได้กินกัน..”

อำเภอ“บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เป็นความตั้งใจของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนไปสู่การปฎิบัติในระดับพื้นที่โดยร่วมทำงานกับ 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคผู้นำวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชนภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับการเป็นอยู่ของประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้จักพอกิน พออยู่ พอใช้ รู้จักประมาณตนแบบชุมชนพึ่งตนเอง และทั้งเพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยเพราะหนี้ครัวเรือนไทยอันเป็นภัยร้ายแรงที่คุกคามอยู่ ณ ปัจจุบันได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง..

Leave a Reply