สัมภาษณ์พิเศษ : ข้าราชการหัวใจ คือ ประชาชน  อุทิศตนในถิ่นทุรกันดาร “แผ่นดินดอยลอยฟ้า”  

สัมภาษณ์พิเศษ : นายฐากูร ดอนเปล่ง เจ้าหน้าที่พัฒนากรอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ข้าราชการมีหน้าที่สร้างรอยยิ้มให้ชาวบ้าน

หมายเหตุ : นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร และต้องการสื่อสารการทำงานของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยให้เข้าถึงประชาชน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงกำหนดความหมายของงานกระทรวงมหาดไทยไว้มีภารกิจชัดเจนว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสว่า “กระทรวงมหาดไทย คือ ผู้ดูแลประเทศชาติ ชาวไทย ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข”

ภารกิจในการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” สร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ประชาชน ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยได้นำสืบทอดจากรุ่นต่อรุ่น ซึ่งนับมาตั้งแต่ปี 2435 ตราบจนปัจจุบัน เป็นเวลาถึง 129 ปีมาแล้ว ที่คนของกระทรวงมหาดไทยได้ตระหนักในภาระหน้าที่และได้ร่วมปฏิบัติงาน อำนวยประโยชน์สุขให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อนำบ้านเมืองไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขดั่งปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ตามเจตนารมณ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

“อำเภออุ้มผาง” จังหวัดตากเป็นอำเภอหนึ่งที่เปรียบเสมือนเมืองลับแล “แผ่นดินดอยลอยฟ้า” ที่ถูกขนานนามว่าดินแดนไกลปืนเที่ยง ห่างไหลจากความเจริญ เป็นถิ่นทุรกันดาร  มีประชากรหลากหลายวัฒนธรรมอาศัยอยู่ทั้งคนท้องถิ่นดั้งเดิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงและคนไทยอพยพย้ายถิ่นจากภาคเหนือตอนล่าง มาตั้งรกรากอาศัยจับจองที่ดินทำมาหากินอยู่ที่นี่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมประเภทไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง ไร่กาแฟ

การเดินทางไปอำเภออุ้มผางของทีมงานในช่วงปลายฝนต้นหนาวค่อนข้างลำบาก เนื่องจากต้องผ่านเทือกเขาหลายลูกขึ้นเนินลงเขาถนนคดเคี้ยวเหมือนงูถึง 1219 โค้ง ช่วงที่เราลงพื้นที่ เห็นมีดินจากภูเขาสไลด์ตัดถนนไม่ต่ำกว่า 100 จุด บางจุดเป็นเหวลึก ถนนผ่านได้เลนเดียว ยิ่งเจอฝนตกถนนลื่นและอันตราย และอำเภออุ้มผางเพิ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี จึงเห็นร่องรอยของสะพาน บ้านเรือน และรีสอร์ทถูกน้ำท่วมอยู่ทั่วไป

 นายฐากูร ดอนเปล่ง หรือ “ไมค์ “ ตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในวัย 31 ปี ทำงานอยู่ในอำเภออุ้มผางได้ประมาณ 2 ปี เช่าบ้านอาศัยอยู่ร่วมกับสองสามีภรรยาที่เป็นอดีตนายตำรวจซึ่งอยู่ร่วมดูแลซึ่งกันและกันเสมือนพ่อแม่คนที่สอง

ไมค์พื้นเพเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ บอกกับเราว่าครั้งหนึ่งเคยคิดขอย้ายออกเพราะคิดถึงพ่อและแม่ ไม่อยากทำงานอยู่ในถิ่นทุรกันดารแบบนี้ แต่สุดท้ายหลังจากได้มีโอกาสพูดคุยกับปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ มีขวัญและกำลังใจขออยู่ต่อ ต่อจากนี้ไปเป็นบทสัมภาษณ์พิเศษของ  “นายฐากูร ดอนเปล่ง” หรือ ไมค์ ดังนี้

@  รู้สึกอย่างไรที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ทีมงานมาพูดคุยถึงอำเภออุ้มผาง

       ตื่นเต้นมากครับ ช่วงแรกที่ท่านปลัดโทรมาก็มานอนคิดว่าทำไมท่านถึงเลือกเรา น่าจะเป็นเพราะว่าผมอยู่กับประชาชน ประชาชนเขาน่าจะรักผม ท่านก็น่าจะมองเห็นจุดนั้น     ตอนที่มาใหม่ ๆ  ต้องยอมรับก่อนว่าผมพึ่งบรรจุใหม่อายุราชการก็ 1 ปี  8 เดือน ยังไม่เข้าใจงานของกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เท่าไหร่ เท่าที่ทำครั้งแรกเหมือนกับทำงานตามฟังก์ชั่นนะครับ เขาสั่งอะไรมาก็ทำ ช่วงหลังเริ่มสัมผัสได้ว่างานที่ทำ มันเป็นงานสร้างรอยยิ้มให้ชาวบ้าน เหมือนงานบุญชนิดหนึ่ง เป็นเรื่องพัฒนาคุณภาพชีวิต เรื่องส่งเสริมอาชีพ ซึ่งผมคิดว่าก่อนที่เขาจะยิ้มได้  ชีวิตเขาต้องดี ต้องอิ่มมีความสุขก่อน ผมก็มองว่างาน พช.หลัก ๆ เลยก็คืองานพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนอยู่ดี มีสุข นั่นเอง

@  การสร้างรอยยิ้มให้คนมีความสุข คือหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชน มันก็สอดคล้องกับสโลแกนของกระทรวงมหาดไทย ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ตอนนี้งานของเรามันตอบโจทย์ตรงนี้ยังไงบ้าง

      จะขอพูดถึง โคกหนองนานะครับ ถ้ามองในบริบทของอำเภออุ้มผางนะ อุ้มผางพื้นที่ตรงนี้เมื่อก่อนเคยเป็นต้นน้ำ มีป่าเขาเยอะ ตอนหลังมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันมาก ทั้งข้าวโพดกับมันสำปะหลัง ภูเขาที่เคยมีต้นไม้ ป่าต้นน้ำ ก็ลดน้อยถอยลง  ซึ่งในอนาคตถ้ามีโครงการโคกหนองนากันมาก รัฐเข้ามาส่งเสริมอาชีพกันอย่างจริงจังให้มาก เราจะรักษาต้นน้ำไว้ได้ หมายความว่า จากที่ประชาชน ต้องล้มป่าถางป่าเพื่อที่จะเอามาปลูกพืชเชิงเดี่ยว เขาก็แบ่งที่ดินบางส่วนไปทำโคกหนองนา ป่ามันก็จะเพิ่มต้น ดินก็จะชุ่ม สัญญาณชัดปีนี้อุ้มผางน้ำท่วม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในรอบ 50 ปี หน้าดินตามภูเขาอุ้มน้ำไม่ไหว เพราะเขามันโล้น ดินโคลนถล่มหมู่บ้านบ้าน รีสอร์ท มิดหลังคาเลย ณ ปัจจุบันอุ้มผางไม่มีป่าไว้สำหรับซับน้ำแล้ว ก็เกิดเป็นภัยพิบัติใหญ่ขึ้น ตรงนี้หน่วยงานภาครัฐคงต้องมาทำกันอย่างจริงจัง

ตอนนี้หลังจากเราทำโคกหนองนา ให้คำแนะนำไป ชาวบ้านก็เริ่มมองเห็นความสำคัญของการปลูกป่า ทำเกษตรผสมผสาน อย่างพื้นที่ที่ผมไปช่วยเขาทำโคกหนองนา เป็นพื้นที่ที่เป็นจุดแพร่ระบาดของโควิด จังหวัดตากก็มีคำสั่งให้ปิดหมู่บ้านปิดหมดเลยทุกหลังคาเรือน ห้ามออกจากบ้านก็ไป ได้แค่ไปซื้อของมากิน แต่ทีนี้คนที่จะไปขายก็ไม่กล้าไป เขาก็ไม่มีอะไรกิน บางครอบครัวผมก็ติดต่อกับเขาก็ให้ข้อมูลว่าตอนนี้เขาไปกักตัวอยู่ในไร่ ซึ่งไร่เขาปลูกแต่ข้าวโพด ไม่มีอาหารกิน  มันต่างกับคนทำแปลงโคกหนองนา นะครับ มีหมด ทั้งผัก ทั้งปลา อยู่รอดสบาย เขาปลูกทุกอย่างที่เขาจะกิน โควิด หรืออะไรมา เขาก็ไม่มีอด

@ อำเภออุ้มผาง คนเป็นข้าราชการบางคนอยากมา เพราะเป็นถิ่นกันดาร น้อยใจหรือท้อไหมที่ต้องมาทำงานตรงนี้

    ช่วงต้นๆ ที่บรรจุ คิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ เพราะว่าแต่เดิมทำงานอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่  ไม่ไกลจากบ้านมาก จากบ้านไปก็ประมาณ 2 ชั่วโมง ตอนแรกสอบเป็นข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ผมคิดว่าผมไม่ได้มาไกลบ้านมาก เพราะสอบจังหวัดตากก็ใกล้บ้านเดินทางก็น่าจะสะดวก  แต่ทีนี้รุ่นที่บรรจุมีทั้งหมดอยู่ 9 คนส่วนมากเป็นผู้หญิง ก็มีผู้ชายบ้างบางส่วน  ตอนสัมภาษณ์ทางจังหวัดถามความสมัครใจว่าผมจะขึ้นมาทำงานอำเภออุ้มผางไหม ตอนนั้นบรรจุใหม่ ๆ  ผมว่ามันมาถึงขั้นนี้แล้ว กว่าจะสอบได้ กว่าจะมาถึงตรงนี้ผมก็ไปหมดครับ ให้มาอุ้มผางก็มาครับ แต่ว่าผู้ใหญ่สัญญาตอนนั้นว่าขอให้มาอยู่อำเภออุ้มผางสัก 4-5เดือน แล้วจะโยกย้ายให้ ตอนนั้นก็สบายใจ ตอนหลังไม่ได้เป็นไปตามนั้น ก็ท้อและเครียด แต่หลังจากปลัดกระทรวงท่านโทรมาพูดคุยก็มีกำลังใจ จึงขออยู่ต่อ

@ เคยเขียนหนังสือทำเรื่องขอย้ายออกจากพื้นที่

     ตอนนั้นมีแรงกดดันจากการทำโคกหนองนา เรามาใหม่รับงานมาจากคนเก่า มาแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย กดดันและเครียดมาก จึงทำหนังสือขอย้าย  ตอนหลังคิดอีกทีงานโคกหนองนา เป็นงานใหม่ของกรมการพัฒนาชุมชน ท้าทาย เป็นงานที่เหมือนทำบุญ เป็นงานที่สร้างรอยยิ้มให้ชาวบ้านได้ จึงคิดต่อว่า อยากมองเห็นความสำเร็จ ดูรอยยิ้มความสุขของชาวบ้าน มองดูความสำเร็จที่มันเกิดกับชาวบ้านจริงๆ ตอนหลังก็ไม่ได้ขอย้ายแล้วครับ ให้อยู่ที่ไหนก็ทำ  เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วงานที่ทำของกรมการพัฒนาชุมชน มันก็คืองานที่ต้องอยู่กับชาวบ้าน เป็นงานที่ต้องถึงชาวบ้าน อยู่ที่ไหนมันก็คงไม่แตกต่างกันมาก

@ ความสุขของเราที่ได้มาทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านคืออะไร

    ของผมยอมรับเลยครับว่าจริง ๆ แล้วความสุขของผมก็คือ ผมสามารถไปอยู่ในหัวใจของชาวบ้านได้  เพราะว่าเวลาผมไปหมู่บ้านนี้ ผมไม่เคยที่จะอดเลยครับ ท้องอิ่มตลอด เข้าบ้านนี้เขาก็ชวนกินข้าว ออกบ้านนี้เขาก็มีผลหมากรากไม้มาฝาก ทุกวันนี้อาหารที่ผมทำตอนเย็น ส่วนมากจะได้มาจากของฝากที่ชาวบ้านเอาให้ ผักบ้าง ผลไม้บ้าง เราทำงานแบบเข้าใจ เข้าถึง จริง ๆ โคกหนองนานี่ ทำงานแทบไม่มีวันหยุดเบย ตอนนี้ผมคิดว่า ไม่เฉพาะผมเท่านั้นที่อยู่ในหัวใจชาวบ้าน กรมพัฒนาชุมชนก็น่าจะได้อยู่ในใจชาวบ้านแล้วเช่นกัน

@ ระดับนโยบาย การขับเคลื่อนโคกหนองนา คิดว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรคบ้าง ที่ต้องแก้ไข

    กรมการพัฒนาชุมชนหรือ พช. จริง ๆ แล้ว ต้องเป็นนักประสานที่ดี ที่ผมคิดนะครับ คือว่าอย่างโครงการโคกหนองนา ที่ลงมาในบริบทของพช. มาในความไม่พร้อมด้วยบุคลากร  ซึ่งเราก็ไม่มีบุคลากรที่ชำนาญทั้งด้านช่าง ทั้งด้านการเบิกจ่ายอันนี้ก็ยอมรับ อำเภออุ้มผางมีแปลงทั้งหมด 24 แปลง  แต่เรามีคนทำงานแค่ 3 คน โชคดีของเรามีพัฒนากรคนหนึ่งเป็นวิศวกรที่ช่วยได้ ตั้งแต่เขียนแบบไปจนถึงวางผัง คุมงานเราคุมเองหมดเลย และก็มี นพต.หรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอีก 10 คน มาคอยช่วยเราประสานกับเจ้าของพื้นที่ด้วย ทำงานร่วมกับเราได้อย่างดี ทั้งเป็นล่ามให้ เพราะเจ้าของแปลงบางแปลงเป็นคนท้องถิ่นสื่อสารลำบาก นพต.ช่วยได้ วัดพื้นที่ นพต. ก็ช่วย งานเอกสาร นตพ.ก็ช่วย  คือ เงินเดือนเขา 9 พันบาทนี้ เขาทำงานให้เราหนักมาก ตรงนี้หากมองงบประมาณแผ่นดินจ้างคนในท้องถิ่นได้งานแบบนี้คุ้มสุดคุ้ม  ยิ่งการทำโคกหนองนา  เสาร์อาทิตย์ไม่เคยหยุดเหมือนกับเรา  มันต้องลงไปพบปะกับชาวบ้าน ให้เขาอุ่นใจว่า “เราไม่ทอดทิ้งเขา”

ปัญหาอีกประการหนึ่งในช่วงแรกคือ การสื่อสารกับชาวบ้านและเรื่องการขออนุญาตการใช้ที่ดินจากกรมป่าไม้ และ สปก. ที่ล่าช้า เวลาเข้าฤดูฝนชาวบ้าน ชาวบ้านเขารอเราไม่ได้ จึงปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่เขาเคยทำกันอยู่แล้ว  พอโครงการอนุมัติมาแล้ว เราก็ต้องไปขับเคลื่อน ต้องไปขุดสระ ต้องไปปรับพื้นที่ แต่ทีนี้ชาวบ้านเขาปลูกไปแล้ว เขาก็ไม่อยากจะถอนทิ้ง ก็มีถอดใจบ้างครับ บางรายสามีจะทำภรรยาไม่ให้ทำ เพราะไม่อยากทำลายผลผลิตที่ปลูกไว้ เคยมีบางพื้นที่พอรถแมคโครจะเข้าไปขุด สามี ภรรยา ทะเลาะกัน ขวางรถเลยก็มี จนเราต้องถอย อันนี้เราก็ต้องขอโทษขอโพยชาวบ้านเขา เพราะงานราชการบางทีมันติดขัด มันช้า เรื่องเอกสาร เรื่องการประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ

@  สุดท้ายเราคิดว่าเราจะอยู่แบบอีกนานไหม

     ผมภูมิใจในอาชีพราชการ ครอบครัวผม ผมเป็นข้าราชการคนแรก หากได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านแบบนี้ เห็นรอยยิ้มชาวบ้านแบบนี้ คิดว่าคงอยู่อีกนาน เพราะว่างานพัฒนาชุมชนเป็นงานที่ได้สัมผัสกับทุกข์สุขของประชาชน มันก็มีบ้างที่มันจะเกิดปัญหาแต่ทีนี้ถ้าเราแก้ปัญหาไปในแต่ละวันแล้วชาวบ้านเขาได้รับผลประโยชน์ผมว่ามันก็อยู่ได้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ไม่มีท้องถิ่นไหนที่ท่านไม่เคยเข้าไปถึง ท่านเข้าถึงทุกที่ ลำบากแค่ไหนท่านก็เสด็จไป งานพัฒนาสร้างอาชีพ สร้างความสุขให้ชาวบ้าน เปรียบเสมือนการทำบุญ ทำแล้วส่งผลต่อ พี่น้อง ประชาชน ทำน้อย ได้น้อย ทำมาก สุขใจมาก และสุดท้ายความภูมิใจอีกประการหนึ่งคือระดับผู้บริหารกระทรวงเป็นห่วงเป็นใยในตัวเรา ทำให้เราอยากอยู่ต่อ แม้จะเป็นถิ่นทุรกันดารเดินทางลำบากก็ตามที

หลังสัมภาษณ์เสร็จทางทีมงานได้ต่อโทรศัพท์สายตรงถึง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ได้พูดคุยกับนายฐากูร ดอนเปล่ง ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ตามที่ท่านได้สั่งเอาไว้ว่า ไปลงพื้นที่ไหนให้พี่ได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านและข้าราชการในพื้นที่นั้น ๆ บ้าง!!

       

       

Leave a Reply