ปลัดมท.- ปธ.สภาสตรีแห่งชาติเปิดตัว “หนังสือดอนกอยโมเดล”  “ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” ในการพัฒนาต่อยอดผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน

วันที่ 7 ธ.ค. 64 วานนี้ เวลา 13:30 น. ที่ห้องประชุม 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางถวิล อุปรี ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย และนางจินตนา พิมพานิชย์ ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมง ร่วมแถลงข่าว เปิดตัว หนังสือดอนกอยโมเดล บทบันทึกองค์ความรู้ต้นแบบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร ฟื้นคืนภูมิปัญญาพื้นถิ่นให้มีความร่วมสมัยเพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน คุณรติรส ภู่วิภาดาวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไอริส 2005 จำกัด อาจารย์ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์  ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ อาจารย์ศิริชัย ทหรานนท์ ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบแบรนด์เธียร์เตอร์

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทรงมุ่งมั่นทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถรักษาอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของคนไทยให้อยู่คู่กับประเทศชาติของเราตราบชั่วกาลนาน โดยพระองค์ได้เสด็จพระดำเนินไปดูชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องคนไทยดังที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เคยปฏิบัติกรณียกิจในทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่ง “ดอนกอยโมเดล” เป็นพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสร้างคุณภาพชีวิต ยกระดับคุณภาพชีวิต บนพื้นฐานภูมิปัญญาชาวไทยให้ดีขึ้น โดยทรงนำพระปรีชาสามารถในเรื่องแฟร์ชั่น เรื่องผ้า ไปพระราชทานพระดำริให้กับประชาชน โดยมีวันประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ได้ทรงเสด็จทอดพระเนตรงานผ้าคราม ​ณ หมู่บ้านดอยกอย อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เพื่อต่อยอดพัฒนาผ้าครามให้เป็นที่รู้จักและเพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของชาวบ้านดียิ่งขึ้นต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในงาน OTOP City 2020 และทรงพระดำเนินไปพระราชทานกำลังใจให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ชาวบ้านต่อสู้กับชีวิต นอกจากนี้ ได้พระราชทานแบบผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี โดยได้พระราชทานแนวทางให้ใช้ลายดังกล่าวได้ทุกเทคนิคและทุกประเภทผ้า และทรงมีพระประสงค์อยากช่วยชาวบ้านที่ทอผ้าในชุมชน นับเป็นพระปณิธานที่แน่วแน่ที่ได้สะท้อนเบื้องลึกของพระองค์ท่านว่าทรงรักและห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ท่านทุกคน

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี มีลักษณะเป็นตัวอักษร S ในภาษาอังกฤษ คือ ตัวอักษรแรกของพระนาม  มีจำนวน 10 แถว หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และลายรูปหัวใจ หมายถึง ความรัก ความปรารถนาดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยพระองค์ได้พระราชทานแนวทางให้กับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทอผ้าทุกคน ซึ่งเป็นพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลว่า “การที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด งานหัตถศิลป์ งานหัตถกรรม เราต้องนึกถึงหัวอกของเด็กรุ่นใหม่ด้วย” โดยได้พระราชทานแนวคิดในการขับเคลื่อนรณรงค์ให้คนหันมาสนใจใส่ผ้าไทย ภายใต้ชื่อ “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งถือเป็นหลักการค้าและหลักการตลาดที่สำคัญ เป็นการยึดหลัก Demand และ Supply ในทางเศรษฐศาสตร์มาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน สิ่งที่พระองค์ท่านไปพัฒนาถือเป็น Supply ถ้าเราช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยทุกคน ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ทั้งหลายสนใจสวมใส่ผ้าไทย เพื่อให้เกิด Demand โดยต้องพัฒนาลวดลายเทคนิคผ้าให้โดนใจวัยรุ่น ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงมีพระดำริให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยเหลือประชาชนในชุมชนทอผ้า ทั้งยังทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่ทรงอยากให้ชาวบ้านใช้สิ่งที่เป็นธรรมชาติ เพื่อให้เกิดสิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิตของเรา คือ ธรรมชาติที่ไม่เป็นพืษเป็นภัยกับสังคม

 

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า หนังสือดอนกอยโมเดล เล่มนี้ ได้รวบรวมพระกรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์ท่านที่ทอผ้าในชุมชน เพื่อแสดงให้รู้ว่า พระองค์รักทุกคน แนวทางและวิธีการพระราชทาน ทำให้สามารถพัฒนากลุ่มพี่น้องชาวดอนกอยให้สามารถพัฒนารายได้จาก 300 บาทต่อเดือนเป็น 7,000 บาทต่อเดือน และยังสามารถที่จะขยายผลไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป นอกจากนี้ ทุกท่านสามารถดาวน์โหลดหนังสือดอนกอยโมเดลในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ได้อีกด้วย

“ที่สำคัญที่สุด คือ เราต้องช่วยกันระดมคนที่มีความรู้และมีหัวใจช่วยเหลือประชาชนเหมือนพระองค์ท่าน มาช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ ลวดลาย สี ทำเรื่องราวโบราณให้เป็นของสมัยใหม่ หรือร่วมสมัย เช่น การพัฒนาผ้าคราม หรือวัฒนธรรมผ้าย้อมคราม ที่มีอยู่ทั่วโลก ให้มีมูลค่า ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือพี่น้องคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี คู่กับการรักษาศิลปวัฒนธรรม รักษางานหัตถศิลป์ และภูมิปัญญาของพี่น้องคนไทยให้อยู่ได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการถวายพระกำลังใจให้พระองค์ท่าน ได้ทรงช่วยชาวบ้านให้มากขึ้นในทุก ๆ ปีตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ขับเคลื่อนสืบสานพระปณิธานในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ่านการขับเคลื่อน โครงการ “ตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน” และโครงการ “สืบสานอนุรักษ์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน”  ทำให้เกิด Story Telling Packaging New Design ในผืนผ้าไทยแบบดั้งเดิมให้เกิดความร่วมสมัย ทำให้แบรนด์ผ้าบ้านดอนกอยไม่แพ้แบรนด์ใดในโลก อันจะทำให้ชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น ซึ่งทุกคนต่างหลอมรวมใจเดียวกัน คือ “รักพระองค์หญิง” ดอนกอยโมเดล ในพระดำริ เป็นการ Change for Good ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

ด้าน นางถวิล อุปรี ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ได้ถ่ายทอดความรู้สึกเมื่อครั้งได้รับเสด็จฯ อย่างใกล้ชิด ว่า ตนรู้สึกซาบซึ้งดีใจและสำนึกในพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ จากในอดีตพวกเราทอผ้าแบบโบราณ ตามวิถีชีวิตชาวบ้านโบราณดั้งเดิม ทอเฉพาะใช้ ใช้ทุกอย่างที่ทำ พระองค์ท่านมาพระราชทานเสริมให้ลายผ้ามีความหลากหลาย เพื่อให้ชุมชนเรามีรายได้ มีเงินไปดูแลครอบครัว ดูแลเด็กและเยาวชนในชุมชน พระองค์ทรงตรัสว่า “แม่ ๆ หนูมานี่มาให้กำลังใจแม่ ๆ นะ แม่ ๆ อย่าขี้คร้านนะ” ทำให้พวกตนมีความซาบซึ้งในน้ำพระทัยของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงใช้พระหัตถ์จับเครื่องมือเครื่องทอต่าง ๆ ก็ได้แต่ทูลว่าเป็นห่วงพระองค์ กระทั่งทรงตรัสตอบว่า “แม่ไม่ต้องห่วง หนูทำได้ หนูเคยตามเสด็จสมเด็จย่าบ่อย ๆ” ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเหมือนความฝันที่กลายเป็นความจริงเกิดขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่พวกเราทำไม่ได้ พระองค์ทรงโปรดให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญลงมาช่วยให้แง่คิด ให้ข้อชี้แนะ ให้องค์ความรู้พวกตนด้วย

 นางจินตนา พิมพานิชย์ ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมง กล่าวว่า แนวทางพระราชทานทำให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น รายได้เพิ่มมากขึ้น ลักษณะลายผ้าเฉดสีมีมากขึ้น ทั้งครามน้ำหนึ่ง ครามน้ำสอง ครามน้ำกลาง และผสมผสานหลากหลาย นอกจากนี้ ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชนทำให้สามารถพัฒนากลุ่ม ทำให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น และในอนาคตจะทำให้ผลิตภัณฑ์พัฒนาให้ดีกว่านี้ และจะให้ลูกหลานสืบสานต่อไปด้วย

 นายสมคิด  จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ผลสำเร็จของชุมชนบ้านดอนกอย ที่ได้สะท้อนให้เห็นผลลัพธ์ของดอนกอยโมเดลในวันนี้ ด้วยการสะท้อนผ่านดวงใจที่มีความสุขและแววตาที่มีความสุข ทำให้เกิดการเรียนรู้ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานรากก็เข้มแข็ง  เป็นผลลัพธ์ที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานคำแนะนำต่าง ๆ จนกระทั่งประมวลมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ให้เห็นคำว่า “ครบวงจร” โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตจนถึงการตลาด โดยในปี 2565 กรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวทางตามพระดำริ ไปขยายผลพัฒนากลุ่มที่มีศักยภาพและมีความพร้อม  รวมทั้งมีเอกลักษณ์อัตลักษณ์ของผ้า เช่น ภาคใต้ ผ้าเกาะยอ จ.สงขลา ภาคกลาง ผ้าทอลาวครั่ง จ.อุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ้าขิดบ้านโนนกอก จ.อุดรธานี และภาคเหนือ ผ้ายกดอก จ.ลำพูน

 “กรมการพัฒนาชุมชนมุ่งเน้นให้คนในชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไทยเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ช่วง โดยในด้านกลไกการตลาด เราจะใช้กลไกข้าราชการรณรงค์ให้การใช้ผ้าไทยมีความหลากหลายมากขึ้นอย่างยั่งยืน และจะพัฒนาช่องทางการตลาดสู่สากล” นายสมคิด กล่าวตอนท้าย

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการสืบสานโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของพระองค์ท่าน สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จึงได้จัดโครงการ “คาราวานสินค้าชุมชน” สัญจรไปจำหน่ายผ้าไทยและสินค้าชุมชน ทั้งที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการรณรงค์ให้เพิ่มวันสวมใส่ผ้าไทย  ถ้าเราช่วยกันอุดหนุนผ้าไทย ก็จะเป็นการช่วยเหลือชุมชนช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก เราทุกคนต้องช่วยกัน

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่สุด นอกจากจะทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลแล้ว พระองค์ยังทรงคำนึงถึงความยั่งยืน เช่น การพระราชทานคำแนะนำให้ใช้สีธรรมชาติ การรักษาภูมิปัญญาความเป็นไทย งานหัตถศิลป์ หัตถกรรม  โดยได้พระราชทานแนวทางที่บ้านดอนกอย เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาขยายผล ได้แก่ การให้โรงเรียนทุกแห่งเอาภูมิปัญญาของท้องถิ่นของชุมชนตนเอง มาให้เด็กได้ใช้ได้เรียนรู้ และเข้ามามีส่วนร่วมมาเรียนรู้การปฏิบัติตามหลัก Learning by Doing ทุกขั้นตอน อันเป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักคุณค่าของในชุมชน และยังได้พระราชทานแนวความคิดให้กลุ่มมีพัฒนาสู่ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผ้าย้อมคราม เพื่อที่จะให้เป็นทั้งศูนย์เรียนรู้และเป็นที่ทำงาน ซึ่งความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการสืบสานและต่อยอดของคนรุ่นใหม่ดังที่พระองค์ท่านได้ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวทางพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยสิ่งเหล่านี้จะถูกนำมาถอดบทเรียนและขับเคลื่อนไปสู่พื้นที่อื่น ๆ อันเป็นการ Change for Good สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างยั่งยืน

 

 

 

Leave a Reply