รู้ไว้ใช่ว่า..กฎหมายชารีอะห์ของอิสลามคืออะไร มีอิทธิพลมากแค่ไหนต่อการปกครองแบบ “ตาลีบัน”

วันที่ 20 สิงหาคม 2564  กลุ่มตาลีบันประกาศกร้าวหลังเข้ายึดครองประเทศอัฟกานิสถานได้อีกครั้งว่า จะทำการปกครองภายใต้หลักกฎหมายอิสลามหรือ “ชารีอะห์” เท่านั้น

แม้ตาลีบันเคยบอกว่าจะยอมเคารพสิทธิมนุษยชนแบบสากล รวมทั้งมอบสิทธิสตรีให้แก่ผู้หญิงอัฟกันมากขึ้น เพื่อให้ประชาคมนานาชาติยอมรับ แต่ก็ยังคงยืนกรานว่าสิทธิเหล่านั้นจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายชารีอะห์

ถ้อยแถลงดังกล่าวไม่มีการชี้แจงรายละเอียดว่า ขอบเขตของกฎหมายอิสลามที่จะนำมาใช้นั้นอยู่ในระดับไหน ทำให้ประชาชนชาวอัฟกานิสถานเกิดความหวาดกลัว เพราะก่อนหน้านี้ตาลีบันเคยใช้บทลงโทษรุนแรงที่มาจากการตีความกฎหมายชารีอะห์มาแล้ว เช่นการลงโทษประหารชีวิตฆาตกรกลางที่สาธารณะ หรือประหารหญิงที่คบชู้ด้วยการขว้างหินใส่จนตาย

ชารีอะห์คืออะไร ?

ชารีอะห์ (Sharia / Shariah) คือระบบยุติธรรมของศาสนาอิสลาม ซึ่งอิงกับคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอ่าน รวมทั้งเนื้อหาของซุนนะห์ (Sunnah) และฮะดีษ (Hadith) ซึ่งเป็นบันทึกคำพูดและการกระทำของศาสดามูฮัมหมัด

ชารีอะห์มีความหมายตรงตามตัวอักษรว่า “หนทางไปสู่แหล่งน้ำที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งมีผู้คนมากมายเดินย่ำไป” กฎหมายชารีอะห์ทำหน้าที่เป็นกรอบกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิต ซึ่งมุสลิมทั้งหลายจะต้องปฏิบัติตามเพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า โดยสิ่งเหล่านี้รวมถึงกฎเกณฑ์ในการละหมาด การถือศีลอด และการบริจาคทานให้คนยากไร้

หากไม่สามารถหาคำตอบในการตัดสินคดีความต่าง ๆ จากคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และบันทึกทางศาสนาโดยตรงได้ ผู้รู้ชาวมุสลิมอาจมีคำวินิจฉัยหรือฟัตวา (Fatwa) ออกมา เพื่อเป็นแนวทางสำหรับกรณีหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะ

ชารีอะห์เมื่อนำไปปฏิบัติจริง

กฎหมายชารีอะห์ถูกใช้เป็นหลักอ้างอิงในการดำเนินชีวิตประจำวันของมุสลิมทุกแง่มุม เช่นเมื่อเพื่อนร่วมงานชวนมุสลิมผู้หนึ่งไปหย่อนใจกันที่ผับหลังเลิกงาน เขาสามารถขอคำปรึกษาจากผู้รู้ทางศาสนาที่เชี่ยวชาญกฎหมายชารีอะห์ได้ เพื่อให้ทราบว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรให้เหมาะสมและอยู่ภายในขอบเขตคำสอนของอิสลาม

ประเด็นยอดนิยมที่มุสลิมใช้กฎหมายชารีอะห์เพื่อตัดสินปัญหาหรือคดีความ ยังได้แก่เรื่องความขัดแย้งในครอบครัว การเงิน และธุรกิจ ซึ่งในแต่ละประเทศหรือชุมชนแต่ละแห่ง มีการตีความเพื่อบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์โดยมีความเข้มงวดมากน้อยแตกต่างกันไป

บทลงโทษโหดร้ายเกินไปหรือไม่

กฎหมายชารีอะห์แบ่งการลงโทษออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ฮุดูด (Hudud / Hadd) หรืออาชญากรรมที่มีโทษสถานหนัก ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษที่ตายตัวไว้อยู่แล้ว รวมทั้งอาชญากรรมแบบตาซีร์ (Tazir) ซึ่งบทลงโทษนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้พิพากษาเป็นหลัก

อาชญากรรมที่มีโทษสถานหนักยังรวมถึงการลักขโมย โดยโทษสูงสุดที่ผู้กระทำผิดอาจถูกผู้พิพากษาศาลชารีอะห์สั่งลงทัณฑ์ได้นั้นคือการตัดมือ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ศาลชารีอะห์พิจารณาลงโทษสถานหนักนั้น จะต้องผ่านการทบทวนหลายขั้นตอนเพื่อป้องกันความผิดพลาด และจะต้องมีพยานหลักฐานมายืนยันความผิดอย่างแน่นหนา

ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามหลายแห่ง มีการนำบทลงโทษสถานหนักตามกฎหมายชารีอะห์มาใช้ แต่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวมุสลิมทั่วไปพบว่า แต่ละคนมีทัศนคติและความรู้สึกต่อเรื่องนี้แตกต่างกันไปอย่างหลากหลาย โดยใช่ว่าจะเห็นด้วยกับการลงโทษแบบชารีอะห์อย่างเต็มที่ทุกคน

ศาลชารีอะห์ตัดสินคดีความอย่างไร

แม้จะเป็นศาลที่ใช้กฎหมายทางศาสนา แต่ศาลชารีอะห์ก็เหมือนกับศาลในระบบยุติธรรมทั่วไป ซึ่งการพิจารณาคดีต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้พิพากษาที่มีคุณภาพ

ผู้รู้ที่เชี่ยวชาญกฎหมายชารีอะห์ มีหน้าที่ให้คำวินิจฉัยเป็นแนวทางเพื่อไขปัญหาทางศาสนา หรือตัดสินพิพากษาคดีความต่าง ๆ โดยคำตัดสินที่เป็นทางการของผู้รู้เหล่านี้เรียกว่าฟัตวา

ปัจจุบันมีวิธีการตีความกฎหมายชารีอะห์อยู่ 5 แนวทางด้วยกัน โดยเป็นแนวทางในนิกายซุนนีหรือสุหนี่ถึง 4 แบบ ได้แก่ฮันบะลีย์, มาลิกี, ชาฟิอี, และฮะนะฟีย์ ส่วนแนวทางการตีความในแบบมุสลิมชีอะห์มีเพียงแบบเดียวคือ ชีอะห์จาฟารี

แนวทางการตีความทั้งห้านี้มีความแตกต่างกันในแง่ที่ว่า ผู้พิพากษาจะแปลความหมายของข้อความในคัมภีร์ ซึ่งเป็นต้นทางที่มาของกฎหมายชารีอะห์อย่างเคร่งครัดตรงตามตัวอักษรมากน้อยเพียงใดเท่านั้น

ภาพข้อมูล:https://www.bbc.com/thai/

Leave a Reply