สังคมไทยในปัจจุบัน เริ่มเข้าสู่ยุคที่บูชาวัตถุกันมากขึ้น ผู้คนมองเห็น และให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจ วัตถุนิยมกับสังคมไทย จึงเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันได้ยาก โลกเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนผ่าน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คน วัตถุนิยม หรือแม้กระทั่งทุนนิยม จึงเป็นคำตอบของคนในยุคสมัย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่ออีกด้านหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ “พระสงฆ์” ในพระพุทธศาสนา ที่พยายามจะสอนให้มองเห็นถึงคุณค่าทางด้านจิตใจ ขณะเดียวกันก็ให้มองเห็นด้านมืด หรือสิ่งที่เป็นโทษของวัตถุนิยม การมองเหรียญคนละด้านปฏิบัติคนละอย่าง จึงก่อให้เกิดปัญหาของการไม่ลงตัวของทั้งสองสิ่งตามมา
เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งก็เริ่มมองภาพพระสงฆ์ในอีกบทบาทหนึ่ง หลายคน หรือบางกลุ่ม มองว่าพระสงฆ์ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรแก่สังคม บ้านเมือง ประเทศชาติ การดูหมิ่นดูแคลน การให้ร้ายป้ายสีการเยาะเย้ยถากถางพระสงฆ์ ก็มีให้เห็นมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร ที่เข้าถึงได้ง่ายรวดเร็ว แต่ไม่รับประกันความถูกต้องแม่นยำ ไม่ต้องถามความรับผิดชอบด้านจริยธรรม ศีลธรรมใดๆ
ดังนั้น เมื่อมีการนำเสนอข่าวสารในประเด็นใดที่อ่อนไหวเกี่ยวกับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จะพบว่า พระสงฆ์รูปนั้นๆ หรือแม้กระทั่งสังคมสงฆ์โดยรวม ย่อมตกเป็นจำเลยของสังคมโดยที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลของสิ่งนั้นๆ ให้ถูกต้อง และสมบูรณ์ วิธีการเช่นนี้จึงเปิดโอกาสให้บุคคลบางกลุ่ม บางพวก หรือบางคน ได้โดยสารเส้นทางสายนี้เข้ามาเป็นบ่อนทำลายความมั่นคง และลดความน่าเชื่อถือของพระพุทธศาสนาโดยรวม ทั้งจะโดยตั้งใจ หรือด้วยปรารถนาดีก็ตาม เพราะอาวุธแห่งเทคโนโลยีนี้ คือหนึ่งในยุทธวิธีที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
หากมองดูความเป็นจริงดังกล่าว โดยหลักสมมุติฐานแห่งเหตุ และปัจจัยแล้ว จะเห็นภาพของเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต สะท้อนออกมาเด่นชัดในมโนภาพในแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็น บางเรื่อง บางอย่าง กลายเป็นข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ ที่ไม่สามารถจะหยุดยั้ง และประเมินความเสียหายได้ จึงส่งผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่ จากประเด็นหนึ่งโยงใยไปสู่อีกประเด็นหนึ่งอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรค และภัยคุกคามที่สำคัญต่อพระสงฆ์ และพระพุทธศาสนาโดยภาพรวม
ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปกครองของคณะสงฆ์ หรือเจ้าคณะผู้ปกครอง กำลังจะกลายเป็นปัญหา หรืออุปสรรคของสังคมยุคใหม่หรือไม่ นี่คือคำถามที่สำคัญ โครงสร้างการปกครอง การสั่งการ ประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการแก้ปัญหา ศักยภาพในการทำงาน การรับรู้ และการสนองตอบต่อความรู้สึกของผู้คนในสังคม ทั้งหมดนี้ พระสงฆ์ และสังคมสงฆ์กำลังกลายเป็นสังคมล้าหลัง หรือตกยุคหรือไม่ อย่างไร
ในด้านปัจเจกนั้น พฤติกรรมหลายสิ่งหลายอย่างของพระสงฆ์ เรื่องราวความไม่เหมาะสมตั้งแต่เล็กน้อย โลกวัชชะที่เป็นอภิสมาจาร จนไปถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น เรื่องสังฆาทิเสส ปาราชิก ที่เป็นอาทิพรหมจาริยกาสิกขา หรือแม้กระทั่งความไม่เหมาะสมในสมณภาวะบนหนทางระหว่างพระสงฆ์กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ กำลังกลายเป็นเส้นขนานระหว่างวิถีชีวิตของพระสงฆ์รุ่นใหม่กับศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
ปัญหา และอุปสรรคสำคัญของพระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์ไทย ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา อาจจะมีประเด็นหลักๆ ในเชิงตั้งคำถาม หรือข้อสังเกตของผู้คนว่า พระสงฆ์ หรือคณะสงฆ์นั้น ไม่มีมิติใดๆ ในเชิงรุกต่อการขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นเลย การตั้งรับแบบไม่มียุทธศาสตร์เชิงรุก จึงไม่น่าจะใช่แนวทางแห่งการรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาบนพื้นแผ่นดินไทย
เหตุที่กล่าวเช่นนี้ เนื่องจากว่าในอดีตนั้น พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนในสังคม พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้ร่วมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน ได้สร้างบ้าน สร้างเมือง มาจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง พระพุทธศาสนาคือความร่มเย็น คือสันติสุข และต้องไม่ลืมว่าความมั่นคงของพุทธศาสนา คือความมั่นคงของประเทศชาติ
ในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า หลายต่อหลายครั้งที่เกิดปัญหากับคณะสงฆ์ และพระสงฆ์ จะเห็นว่าบางเรื่อง บางอย่าง เกิดจากการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ที่มีส่วนรับผิดชอบ ทั้งยังขาดความรู้ความเข้าใจในหลักพระธรรมวินัย ในส่วนของการปกครองคณะสงฆ์นั้นเล่า กฎระเบียบใดๆ ในปัจจุบัน จึงเป็นเพียงข้อความบนแผ่นกระดาษ แต่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้ด้วยคณะสงฆ์เอง ต้องอาศัยกลไกทางบ้านเมือง สิทธิของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จึงก่อให้เกิดปัญหาในการตีความแห่งกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย (สีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา) เป็นช่องว่างระหว่างอาณาจักรกับพุทธจักรเรื่อยมา
การมีมาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิพระสงฆ์เถรวาทในประเทศไทย และกำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จึงเป็นแนวทางแห่งการสร้างความไม่ชอบธรรมให้เกิดขึ้นกับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เช่น ปัญหาการให้พระภิกษุสงฆ์สละสมณเพศ เมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้กำหนดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of innocence) มาตรา 29 วรรคสอง ว่าในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลย ไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด ที่แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
แต่ในความเป็นจริง ในทางปฏิบัติแล้ว พบว่า ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่ส่งผลต่อการดำเนินการให้พระภิกษุสละสมณเพศ โดยที่ภิกษุยังไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองก่อนนั้น ยังเป็นการขัดหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 31 ที่กำหนดให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติ หรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน
เฉพาะอย่างยิ่งแล้ว องค์กรฝ่ายบ้านเมืองที่ดูแลคณะสงฆ์ ก็ดูเหมือนว่านับวันจะเดินไปบนเส้นทางขนานกับคณะสงฆ์มากยิ่งขึ้นตามลำดับ ทำให้เกิดปัญหา และสร้างอุปสรรคในทางปฏิบัติงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเขตแดนสงฆ์ กับเขตแดนบ้านเมือง ยิ่งพอเกิดเรื่องอะไรกับพระสงฆ์แล้ว ก็จะมุ่งเข้ามาบังคับใช้กฎหมาย โดยไม่คำนึกถึงเพศภาวะของพระสงฆ์ ก็ยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีต่อสถาบันพระพุทธศาสนา เข้ามากล่าวอ้าง และบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากสนิมที่เกิดจากเนื้อใน คือ “องค์กรปกครองทางคณะสงฆ์” ที่ไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะปกป้องตัวเอง และสังฆะ เอาไว้ได้
ในส่วนขององค์กรปกครองทางคณะสงฆ์ นับวันจะอ่อนแรง เชื่องช้าตามไม่ทันเหตุการณ์บ้านเมือง ไม่ทันโลกที่แปรเปลี่ยน นอกจากนั้น ยังไม่มีพระสงฆ์ที่แกล้วกล้า อาจหาญ พูด และแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เพื่อปกป้องความถูกต้องในวงการสงฆ์ ในอดีต ใครรูปไหน แสดงออกเช่นนี้ นอกจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากเจ้าคณะผู้ปกครองด้วยแล้ว ยังถูกดำเนินคดีจากฝ่ายบ้านเมืองอีกด้วย คณะสงฆ์ในยุคปัจจุบัน จึงเข้าภาษิต “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” สังคมสงฆ์ไทยในปัจจุบัน จึงมีแต่พระภิกษุใบ้ เอาไว้สวด เอาไว้ฉัน ในขณะที่องค์กรปกครองคณะสงฆ์ ก็ไม่ได้แสดงบทบาทเพื่อการพิทักษ์ปกป้องคุ้มครองอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน
กรณีที่ยกตัวอย่างมาประกอบนี้ เพียงชี้ให้เห็นว่า ถ้าจะมองปัญหาภาพรวมของคณะสงฆ์ และพระสงฆ์ในปัจจุบัน จะได้เห็นภาพที่ชัดมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ควรคำนึง คือความเป็นเอกภาพในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง การศึกษา วิปัสสนาธุระ การเผยแผ่ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร องค์กรปกครองคณะสงฆ์ควรจะมีหน่วยงานที่สั่งการ หรือองค์กรที่ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาในทุกมิติ รวมถึง ระมัดระวังการบังคับใช้กฎหมายต่อพระสงฆ์ด้วย ประเด็นเหล่านี้ ควรถูกหยิบยกขึ้นมาสู่สังคมชาวพุทธ และขยายวงกว้างในการรับรู้ และมุ่งหาแนวทาง และมาตรการที่สอดรับกับสังคมยุคปัจจุบัน
แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง และเร่งด่วน ที่ควรเร่งดำเนินการ คือการปรับบทบาทของสถาบันทางพระพุทธศาสนา องค์กรปกครองทางคณะสงฆ์ หรือแม้กระทั่งการปรับรูปแบบการดำเนินกิจกรรม หรือพิธีกรรมที่จะสร้างศรัทธา ตลอดจนยึดโยงบทบาทของตนเองไว้กับสังคมใหม่ จากจุดเริ่มต้นที่เน้นการเผยแผ่ศาสนาด้วยหลักธรรมคำสอน มาสู่การสร้างองค์กรการทำงาน ที่สะท้อนความเข้าใจกับความทุกข์ร้อนของผู้คนจากปัญหาต่างๆ การปรับรูปแบบการทำงานให้ประยุกต์หลักคำสอน หรือหลักปฏิบัติของพุทธศาสนาที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต
ผู้คนในสังคม การวางแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคณะสงฆ์ การสร้างพระสงฆ์ให้มีองค์ความรู้ในด้านพระพุทธศาสนา การมีหน่วยงานฝึกอบรมและพัฒนาคณะสงฆ์ เจ้าคณะ พระสังฆาธิการ เป็นต้น และสิ่งที่ควรดำเนินการไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยนบทบาทของสถาบันทางพระพุทธศาสนา คือการสร้างองค์กร หรือหน่วยงานทางกฎหมายของคณะสงฆ์ ที่มีบทบาทหน้าที่ชัดเจนในการเป็นผู้แทนคณะสงฆ์ หรือพระสงฆ์ในการต่อสู้ทางกฎหมาย เป็นหน่วยงานอิสระที่ขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์ไทย หรือสังกัดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคณะสงฆ์โดยรวม
การแก้ไขปัญหา และปรับปรุงพระราชบัญญัติคณะสงฆฉบับปัจจุบันให้มีมาตรฐาน ที่จะนำไปสู่กลไกการทำงานเชิงรุกของพระสงฆ์ โดยเฉพาะงานการปกครอง งานการศึกษา วิปัสสนาธุระงานเผยแผ่ทั้งใน และต่างประเทศ ให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งประสิทธิผล รวมทั้ง อาจหมายรวมถึงเป็นเครื่องมือในการควบคุม การตรวจสอบ การใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายรัฐ ให้มีความถูกต้อง ชอบธรรม โดยยึดหลักพระธรรมวินัยเป็นบรรทัดฐาน ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแก้ไขใหม่นั้นด้วย
ตราบใดที่องค์กรการปกครองของสงฆ์ ยังเป็นอยู่เช่นนี้ ตราบใดก็ตามที่ภาครัฐยังคิด และปฏิบัติต่อคณะสงฆ์เช่นในปัจจุบัน ปัญหาต่างๆ ก็จะลุกลาม และพอกพูนมากยิ่งขึ้น การเบื่อหน่ายต่อระบบของพระหนุ่มเณรน้อยต่อศาสนจักร จะมีให้เห็นมากขึ้นตามลำดับ การปฏิเสธก็จะแสดงออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้ง คนที่เข้ามาบวช ศาสนทายาทนับวันจะลดน้อยถอยลงไป โบสถ์ วิหาร ลานเจดีย์ ที่ใหญ่โตในปัจจุบัน จะมีไว้เพื่ออะไร และถ้าจะตระหนักให้ดี ปัญหาเหล่านี้ก็คือบ่อนทำลายความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในภาพรวมนั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อนาคตของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย คงต้องนับเวลาถอยหลัง เจ้าคณะผู้ปกครองพระสงฆ์ในสังฆมณฑล จะคิดจะอ่านกันอย่างไร ถ้าเอาแต่เงียบ ซึ่งก็ตีความหมายได้ว่า เอาตัวรอด เราก็คงเห็นความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในสังคมไทยได้อีกไม่นาน
ที่มา.มติชนออนไลน์
Leave a Reply