วันที่ 4 เม.ย. 65 วานนี้ เวลา 14:30 น. ที่พื้นที่ประชุมอเนกประสงค์สวนปาล์ม แปลงต้นแบบ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นาโมเดล (CLM) พุทธอุทยานดอยอินทรีย์ บ้านดอยฮางใน หมู่ที่ 1 ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมตรวจราชการและติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมมอบนโยบายฯ และได้รับเมตตาจากพระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺมเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ และพระอธิการวีระยุทธ์ อภิวีโร ร่วมประชุมและกล่าวสัมโมทนียกถา โดยมี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกท่าน ที่ต่างมุ่งมั่นขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย เพื่อ Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้กับคนจังหวัดเชียงรายและประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกท่านได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานที่มีความสำคัญและเป็นการน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งมาดปรารถนาอยากให้คนในสังคมช่วยกันสร้างสิ่งที่ดีให้ส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทนผ่านกิจกรรมจิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจ และร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการหนุนเสริมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้วยการปลูกพืชสมุนไพร เนื่องในโอกาส 130 ปีกระทรวงมหาดไทย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่อว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนากระทรวงมหาดไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 ทำให้เกิดการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่เป็น “ผู้นำขับเคลื่อนกลไกการบริหารราชการของทุกกระทรวงในพื้นที่” เพื่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นกับพื้นที่จังหวัด และเกิดผู้นำในระดับอำเภอ คือ “นายอำเภอ” ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจังหวัดเชียงรายนับเป็นจังหวัดที่มีการบริหารราชการในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการบูรณาการความร่วมมือ 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่าย “ผู้นำศาสนา” ซึ่งมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืนระหว่างฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อันส่งผลทำให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และท่านนายอำเภอ สามารถขับเคลื่อนงานในการสาธารณสงเคราะห์หรือการดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมกับท่านเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสทุกวัด และพระทุกรูป นับเป็นภาคีเครือข่ายที่ใกล้ชิดและแนบแน่นในการช่วยเหลือคนที่อยู่ในตำบล/หมู่บ้าน
“ประชาชนและสังคมไทยเชื่อมั่นว่าตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นแม่ทัพใหญ่ เป็นเบอร์หนึ่งของจังหวัดและอำเภอ ที่มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับพร้อมจะร่วมมือให้การสนับสนุน โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องเป็นผู้นำทีมไปชักชวน วางแผน พูดคุย จัดทำ action plan สร้าง ครู ก เพื่อเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนงานสาธารณสงเคราะห์และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ด้วยการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ไปขยายผลแก้ไขทุกปัญหาในพื้นที่ ทั้งเรื่องความมั่นคง หมอกควัน ไฟป่า PM2.5 คนที่ทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน ซึ่งการขับเคลื่อนฯ ดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เน้นย้ำว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีของจังหวัด นายอำเภอเป็นนายกรัฐมนตรีของอำเภอ เป็นผู้นำทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่ ทำหน้าที่แบบ single command ผนึกกำลังความร่วมมือส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ที่เป็นเหมือนแขนงไม้ไผ่ที่มีสายใยแห่งความมุ่งมาดปรารถนา (Passion) บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน มัดรวมเอาแขนงไม้ไผ่ทุกแขนงเป็นก้อน เพื่อให้เกิดพลังแห่งการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ เรื่องใหญ่ที่สำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง คือ “การสื่อสารสังคม” ที่ทุกคนต้องเป็นสื่อมวลชน ทำหน้าที่นักสื่อสารกับสังคม เป็นผู้มีภาวะผู้นำในการผลักดันสร้างการรับรู้ให้ทุกองคาพยพเข้าใจตรงกันและลงมือช่วยกันปฏิบัติงานให้บังเกิดความสำเร็จ และต้องฝังชิพตอกย้ำตนเองเสมอว่า “ผู้นำต้องทำก่อน” เพื่อพี่น้องประชาชนได้เห็นและทำตาม
จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนการทำงานตามภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ 1) การส่งเสริมการใช้ผ้าไทย คือ ผ้าอัตลักษณ์ของทุกท้องถิ่น ที่เป็นลมหายใจ เป็นชีวิตของพี่น้องคนไทย ที่ได้ใช้ภูมิปัญญา ใช้ความสามารถในการทอผ้า ปักผ้า สร้างรายได้นำไปเลี้ยงดูครอบครัว และเป็นหลักประกันว่าคนไทยจะมีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสวมใส่ และต้องช่วยกันขยายผลสร้างเครือข่ายทอผ้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ ผ้าไทยยังมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน เพราะไม่ได้ใช้เครื่องจักรที่เป็นบ่อเกิดก๊าซเรือนกระจกปกคลุมโลก โดยต้องรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยในทุกวัน โดยเฉพาะในทุกวันจันทร์นอกจากจะสวมเครื่องแบบปฏิบัติราชการ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเตือนใจว่าเราคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นข้ารับใช้แผ่นดิน เพราะชุดสีกากี คือ สีของแผ่นดิน แล้ว ในช่วงเย็นหลังเวลาราชการให้แต่งผ้าไทย เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เห็นตัวอย่างที่ดี 2) การแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งมีนิยามว่า “ปัญหาความเดือดร้อนทุกประเภทที่พี่น้องประชาชนประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง” เช่น ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีเงินตัดแว่นตา ผู้ป่วยติดเตียง คนเฒ่าคนแก่ที่ไม่มีเงินซื้อวีลแชร์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกำชับนายอำเภอระดมสรรพกำลังภาคีเครือข่ายนำระบบ ThaiQM ไป Re-Xray ครัวเรือนที่ยังมีปัญหาความเดือดร้อนนอกเหนือจากปัญหา 5 มิติในระบบ TPMAP เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยให้ทีมตำบลช่วยกันวิเคราะห์ โดยสามารถปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มคนในทีมพี่เลี้ยงให้สอดคล้องกับภูมิสังคมได้ 3) เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา โดยขับเคลื่อน 2 กิจกรรมให้แล้วเสร็จภายใน 12 สิงหาคม 2565 คือ 1.ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนโดยเชิญชวนประชาชนอายุตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไป สมัครเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 เพื่อสามารถใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการขยะ 3Rs และจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อฝึกอบรมการทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และรณรงค์ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และ 2. น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขับเคลื่อนโครงการ “บ้านนี้ มีรัก ปลูกผักกิน” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประชาชน มีผักที่ดีมีคุณภาพรับประทานตลอดทั้งปี เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักมาบริโภค 3) กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ต้องติดป้ายและเบอร์ติดต่อที่บริเวณรั้ว หรือด้านหน้าที่ตั้งของที่ทำการให้ชัดเจน และดำเนินการสำรวจว่ามีจำนวนผู้เดือดร้อนเท่าใด รวมทั้งจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” 4) ส่งเสริมให้คนที่อาศัยในจังหวัดเชียงราย ทั้งคนไทยและคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้มากที่สุด เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในสังคม 5) ดำเนินการคัดเลือกถนน คู คลอง แม่น้ำ และบูรณะซ่อมแซมทำให้สวยงาม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 6) เผยแพร่ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยและสารคดีเฉลิมพระเกียรติ 10 รัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเกิดความภาคภูมิใจ และทำการค้นคว้าและรวบรวมจัดพิมพ์ภาพประวัติศาสตร์ของจังหวัด ให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในโรงเรียน โดยอาจใช้แนวทางลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ในเรื่องประวัติศาสตร์เพิ่มมากขึ้น 7) หมั่นติดตามการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษาของนักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. และติดตามการดำรงชีวิตของผู้ผ่านการอบรมโครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังอย่างสม่ำเสมอ และ 8) ต้องสื่อสารกับสังคมว่าทุกโครงการที่กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อน ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับภาระงานของส่วนราชการอื่น เพราะเป้าหมายและวัตถุประสงค์โครงการของกระทรวงมหาดไทย คือ “การพัฒนาคน”
“ประเทศชาติอยู่ในความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน ในเวลาที่จำกัด เพราะทุกคนมีหน้าที่ มีวาระในการดำรงตำแหน่ง ดังนั้น ในขณะที่เราอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ต้องทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ พร้อมทั้งสร้างคนรุ่นต่อไป สร้างคนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์เช่นเดียวกับพวกเรา เพื่อรับไม้ต่อในการ Change for Good ด้วยการลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing) คิด ริเริ่ม สร้างสรรค์งานเพื่อช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือหน่วยงาน ช่วยเหลือท้องถิ่น ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย ธำรงรักษาวัฒนธรรมในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ ข้าราชการและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกคนมีโอกาสดีของชีวิตที่จะได้ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นด้วยมือของท่าน เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของประเทศชาติในอนาคต ว่าประเทศชาติของเรายังจำเป็นต้องมีข้าราชการส่วนภูมิภาค องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือไม่ นั่นหมายความว่า “ต้องทำวันนี้ในฐานะที่เป็นผู้เล่นที่ดี” เพราะถ้าเลือกเป็นผู้ชมหรือผู้ดู อนาคตของหน่วยงานที่เราคิดว่ามีความสำคัญหรือความจำเป็นต่อความมั่นคงของประเทศ ต่อการพัฒนาของประเทศก็หมดความหมาย เพราะเราอาจเป็นคนที่ทำลายระบบ ทำลายอนาคตของประเทศชาติ อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
Leave a Reply