23 มิ.ย.นี้! “กรมคุ้มครองสิทธิฯ ยธ.-ยธ.กรุงเก่า” จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ “มจร” เข้าร่วม

“มจร” เข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ “ยธ.พระนครศรีอยุธยา-กรมคุ้มครองสิทธิฯยธ.” จัด 23 มิ.ย.นี้ พร้อมร่วมมือ “กรมคุ้มครองสิทธิฯ ยธ.” เดินหน้าอบรมการไกล่เกลี่ยแก่พระสงฆ์ 4 ภาค พร้อมเปิดหลักสูตรระดับนานาชาติ

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ที่ห้องพุทธปัญญา ชั้น 2 วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการประชุมทบทวนกระบวนการทำงานด้านสันติภาพ ภายใต้ความร่วมมือ MOU ระหว่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กับ มจร โดยมี พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์, ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และประธานคณะทำงานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เป็นประธาน พร้อมกล่าวต้อนรับนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และคณะผู้บริหาร รวมถึงยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เข้าร่วมประชุม

พร้อมกันนี้พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ ได้กล่าวว่า การพัฒนาชุมชน และชาติบ้านเมืองนั้นประสบการณ์ที่ผ่านมาได้สั่งสอนตัวเองว่า หากทำงานคนเดียว ในที่สุดก็จะเป็นโรคภัยเจ็บคนเดียว และตายคนเดียว แต่ถ้าจับมือกับเครือข่ายกัลยาณมิตรด้วยการนำศักยภาพหรือจุดแข็งที่เครือข่ายมีมาช่วยกันเติมเต็มแล้ว การทำงานก็จะง่ายและตอบโจทย์ได้ดีกว่า ทั้งหมดคือตัวแปรที่ทำให้ต้องเริ่มต้นออกแบบรูปแบบการทำงานใหม่ ด้วยการเดินทางออกจากมหาจุฬาฯ ไปเรียนหลักสูตรต่างๆ ที่เป็นหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ทั้ง ปปร.15 นยปส.5 ยธส.12 และนมธ.19 เป็นต้น เพื่อจักได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานและนำเครือข่ายมาช่วยยกระดับ และพัฒนางาน โดยการเกื้อหนุนของผู้บริหารระดับสูง ทั้งในภาครัฐ และเอกชน รวมถึงข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง

“การทำงานด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนตาม พรบ.ไกล่เกลี่ย พ.ศ.2562 จึงต้องจับมือกับนายเรืองศักดิ์ พร้อมด้วยทีมงานอธิการบดี มจร เข้ามาช่วยเติมเต็ม และเสริมแรงพลังในการผลักดันประเด็นนี้ ในฐานะที่เป็นนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยฯ” พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ กล่าวและว่า

นอกจากนี้ การทบทวนการทำงานภายใต้ MOU ที่ทำขึ้นร่วมกัน 1 ปีกับ 8 เดือนที่ผ่านมานั้น ยังได้เพิ่มประเด็นการเปิดหลักสูตรไกล่เกลี่ยนานาชาติ การพัฒนา E-Mediation การสร้างตัวแบบการบริหารศูนย์ไกล่เกลี่ย การออกแบบการไกล่เกลี่ยที่มีสติเป็นฐาน แลกเปลี่ยนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรร่วมกัน รวมถึงการจัดรายวิชาสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมลงในวิชาบังคับของหลักสูตร เป็นต้น จะเห็นว่า การนำเอาเครือข่ายมาพัฒนางานนั้น เป็นไปตามกรอบ SDGs ข้อที่ 17 ที่ว่าด้วย Partnerships for the Goals ซึ่งเน้นการนำเอาศักยภาพ หรือความเก่งของคนอื่นมาช่วยเสริมสร้างคุณค่า และมูลค่าให้เกิดขึ้นแก่องค์กรหรือการทำงานของเราให้สามารถเข้าถึงเป้าหมาย อันจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมจนทำให้การพัฒนามีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ทางด้านพระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร กล่าวว่า ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ได้นำเสนอผลงานการดำเนินงานหลังจากมีการลงนามความร่วมมือ MOU ครบ 1 ปี 8 เดือน 21 วัน ซึ่ง มจร มีการขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนเชิงรุก และมีการพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ผ่านมา 7 รุ่น มีผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประมาณ 400 รูปคนทั่วประเทศ ซึ่งผ่านการพัฒนาจาก มจร ภายใต้หลักสูตรกำกับมาตรฐานของ กพยช. รับรอง ซึ่ง มจร เพิ่มเป็น 48 ชั่วโมง โดยบูรณาการรูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยพุทธสันติวิธีสร้างสติ ขันติ สันติให้เกิดขึ้นกับผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งสิ่งสำคัญมีการยกระดับด้วยการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนเพื่อป้องความรุนแรงและความขัดแย้งในสังคมไทย จากการประชุมทบทวนการทำงานด้านสันติภาพในครั้งมีประเด็นที่นำเสนอร่วมกัน ประกอบด้วย

1)กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มุ่งให้คนในสังคมรู้สิทธิตนเอง เคารพสิทธิผู้อื่น และไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ซึ่งมีความประสงค์ให้มีการบูรณาการเรื่องสิทธิมนุษยชนในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยหลักสูตรสันติศึกษา มจร ในระดับปริญญาโท มีการจัดการเรียนการสอน “วิชาสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรม” ซึ่งเป็นวิชาบังคับทั้งภาคภาษาไทยและภาคอินเตอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ในระดับปริญญาโท ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยกรมมุ่งให้ประชาสัมพันธ์การเรียนรู้ประเด็นสิทธิมนุษยชนผ่านออนไลน์

2)มีการนำงานวิจัยของหลักสูตรสันติศึกษา มจร ในการบริหารศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยพุทธสันติวิธีไปบูรณาการปรับใช้เพื่อพัฒนาศูนย์ไกล่เกลี่ยทั่วประเทศ โดยเตรียมยกระดับศูนย์ต่างๆ เป็นศูนย์ต้นแบบ ซึ่งจะมีการมอบรางวัลศูนย์ที่มีการขับเคลื่อนต้นแบบโดยแบ่งระดับ A B C มีการมอบรางวัลผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต้นแบบที่อุทิศตนในการทำงานอย่างทุ่มเท โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม รับไปพิจารณาเพื่อหาแนวทางร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติต่อไป

3)การขับเคลื่อนพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยและการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยความร่วมมือของหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในปี 2566 จะมีการพัฒนาพระสงฆ์ทั่วประเทศ 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา และนครศรีธรรมราช โดยใช้งบประมาณจำนวน 2 ล้านบาท และหลักสูตรสันติศึกษาภาคอินเตอร์ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร เตรียมเปิดหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ย พ.ศ.2562 รุ่นที่ 1 ซึ่งตอบโจทย์นิสิตระดับนานาชาติและผู้สนใจโดยใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารตลอดการฝึกอบรมโดยมีความเห็นชอบจาก กพยช.

4)การขับเคลื่อนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยให้ยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ประกอบด้วย สถานีตำรวจ โรงพยาบาล สถานศึกษา เป็นต้น เพื่อหารือร่วมกันในการขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ถือว่าเป็นแนวทางการป้องกันความขัดแย้งและป้องกันความรุนแรงในสังคม พร้อมให้ มจร เข้าร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อการเรียนรู้การไกล่เกลี่ยและส่งผู้ไกล่เกลี่ยจากศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ด้วยในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 พร้อมได้รับการสนับสนุนถ่ายทอดสดจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งอนาคตจะใช้พื้นที่ของ มจร ในการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ถือว่าเป็นการบริการประชาชนในเขตพื้นที่

5)มีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันในการพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ย ถือว่าเป็นการยกระดับสันติภายในของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยมุ่งพัฒนาสติสำหรับผู้ไกล่เกลี่ย โดยมุ่งพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน จำนวน 910 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งในอนาคตกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จะมีการยกระดับพัฒนาหลักสูตรโดยยกเป็นสถาบันพัฒนาสิทธิมนุษยชน โดยมีหลักสูตรระดับต้น กลาง สูง วิทยากร และระหว่างประเทศ ถือว่าเป็นการเตรียมการที่ดีในการขับเคลื่อน

6)หลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้สนับสนุนทุนการศึกษาภายใต้ความร่วมมือ MOU ให้กับบุคลากรของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยให้ทุนทุกปี ปีละ 2 ทุน สำหรับศึกษาระดับปริญญาโท 1 ทุน ศึกษาระดับปริญญาเอก 1 ทุน เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีการเรียนรู้ ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในการขับเคลื่อนงานด้านสันติภาพ

Leave a Reply